ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ชื่อ "กระทุ่มแบน" มาจากไหน

"บ้านน้องอยู่ที่ไหนนะ?"
"กระทุ่มแบนครับ"
"แล้ว กระทุ่มแบน เนี่ย ทำไมมันถึงชื่อนี้?"
"อืม..ไม่แน่ใจ...ไม่ทราบเลยครับ"

เชื่อได้ว่าคนกระทุ่มแบนหลายคนคงจะคุ้นเคยกับบทสนทนาประมาณข้างต้น ที่ตอบได้เพียงคำถามแรก แต่เมื่อถึงคำถามที่สอง เซลล์สมองอาจต้องวิ่งทำงานเหนื่อยกันเลยทีเดียว สุดท้ายบางคนตอบได้ บางคนเดาไป บางคนถามกลับว่า "อยากจะรู้ไปทำไม"

สำหรับผมแล้ว..."กระทุ่มแบน...ทำไมมันถึงชื่อนี้" มันเป็นคำถามที่ค้างคาใจมาหลายปี
จนกระทั่งวันที่พอจะมีกำลังและเวลา รวมถึงความพร้อมประกอบอื่นๆ ทำให้ได้ออกค้นหาคำตอบเสียที

ภาพแผนที่ตัดเฉพาะส่วนจากกรมแผนที่ทหารบกสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2456
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

① อยากรู้ไปทำไม?
----------------------------------------------------------------

เราเกิดที่กระทุ่มแบน โตที่กระทุ่มแบน วิ่งเล่นที่กระทุ่มแบน หากเราไม่รู้ที่มาที่ไปของชื่อบ้านเกิดเรา มันก็เหมือนกับเราเกิดมาในครอบครัวของเรา แต่ไม่รู้ประวัติปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่ของเราเลย  ส่วนจะรู้มากบ้างน้อยบ้างก็สุดแท้แต่ละบุคคลจะไขว่คว้า

เรื่องนี้อาจจะมีคำตอบที่มาที่ไปมาตั้งแต่อดีตแล้ว มีการบอกเล่าสืบกันมา แต่อาจไม่มีการจดบันทึก ด้วยอาจมองเป็นเรื่องใกล้ตัวว่า.. ฉันก็จำได้ เธอก็จำได้.. จนกระทั่งวันหนึ่งฉันและเธอในวันก่อนก็แก่ชรา และลาลับโลกใบนี้ไป คำตอบที่ว่านั้นก็ลาหายไปพร้อมกับความตาย ยิ่งผ่านพ้นวันนานเท่าไหร่ การสืบเสาะย้อนเวลากลับไปหาคำตอบก็ยากขึ้นทุกที ฉะนั้น เริ่มเสียตั้งแต่วันนี้ มารู้กันไว้หลายๆ คน แม้อาจจะเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน แต่ก็ยังพอเป็นแนวทางให้แก่ชนรุ่นหลังได้บ้าง

 ชื่อ "กระทุ่มแบน" มาจากไหน?
----------------------------------------------------------------
เนื่องจากคงยากที่จะฟันธงถึงที่มาที่ไปของ "กระทุ่มแบน" แต่ก็พอจะรววบรวมจากแหล่งต่างๆ จากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนสืบต่อกันมา ซึ่งพอจะรวบรวมได้ดังนี้

  • ในเว็บไซต์ประวัติร้านก๋วยเตี๋ยวรสเด็ด กระทุ่มแบน ได้มีการเล่าประวัติร้านก๋วยเตี๋ยวของตนที่มีจุดเริ่มต้นขายก๋วยเตี๋ยวที่ท่าเรือในชุมชนเล็กๆ  ริมคลองภาษีเจริญ มากว่า 40 ปี โดยมีส่วนที่เล่าถึงที่มา "กระทุ่มแบน" ไว้ว่า
"รสเด็ด ก๋วยเตี๋ยวกระทุ่มแบน สมัย 40 ปี ก่อนขายอยู่ใกล้กับท่าเรือในชุมชนเล็ก ๆ ของคลองภาษีเจริญ ซึ่งเป็นคลองขุดสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณริมคลองจะมีต้นกระทุ่มขึ้นเป็นพุ่มเล็กๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ในเวลาน้ำขึ้นจะขึ้นสูงจนท่วมต้นกระทุ่มเมื่อถึงเวลาน้ำลงจะพาต้นกระทุ่มให้แบนราบลู่ไปตามน้ำชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่ากระทุ่มแบนจึงกลายมาเป็นอำเภอกระทุ่มแบนในปัจจุบัน เมื่อเริ่มมีถนนเข้ามาในกระทุ่มแบน จึงได้นำเรือขึ้นมาขายบนบกจนชาวบ้านเรียกว่า ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือกระทุ่มแบน"
  • หนังสือ "ฝากไว้ในแผ่นดิน สมุทรสาคร" พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2555 ได้กล่าวถึงว่า
"พื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร แบ่งออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้ว โดยชื่อเรียกแต่ละอำเภอต่างก็มีที่มาที่น่าสนใจคือ ชื่ออำเภอกระทุ่มแบนนั้นมาจากเดิมมี "ต้นกระทุ่ม" ซึ่งเป็นพืชยืนต้นขนาดกลาง มีดอกทรงกลมสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม ขึ้นอยู่มากมายในลำคลอง เมื่อน้ำไหลหลากเซาะต้นกระทุ่มจนเอนราบ ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า "คลองกระทุ่มแบน" จนเป็นที่มาของชืออำเภอ อีกทั้งตราสัญลักษณ์ประจำเทศบาลเมืองกระทุ่มแบนก็เป็นรูปนางฟ้าโปรยดอกกระทุ่ม...."
  • หนังสือ "สาครบุรีจากวิถีชาวบ้าน การเปลี่ยนผ่านชีวิตท้องถิ่นในลุ่มน้ำท่าจีน" โดยคณะทำงานจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ลงพื้นที่สอบถามและสัมภาษณ์บุคคลในท้องที่ โดยนายนิวัฒน์ ขวัญบุญ นายกเทศมนตรีเมืองกระทุ่มแบน ได้เล่าให้ฟังว่า
"...ที่มาของชื่อ กระทุ่มแบน แต่เดิมในอดีตมีต้นกระทุ่มต้นหนึ่ง ริมคลองภาษีเจริญตรงปากคลองกระทุ่มแบน มีลักษณะแปลกจากปกติ เหมือนไม้พิการมีซีกเดียว ลักษณะพุ่มแผ่ขยายออกด้านข้าง ไม่เป็นทรงสูงแบบต้นกระทุ่มปกติ ปัจจุบันต้นกระทุ่มดังกล่าวไม่มีแล้ว ส่วนต้นกระทุ่มสำคัญของตำบลตลาดกระทุ่มแบน คือ ต้นกระทุ่มริมคลองภาษีเจริญ หน้าสำนักเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน..." (สัมภาษณ์วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559)
  • อีกหนึ่งเรื่องเล่าที่มาซึ่งผมเองได้คุยกับ พี่หนึ่ง ระนาดเสนาะ ผู้เป็นทายาทรุ่นเหลนของปู่ยา ระนาดเสนาะ อดีตนักดนตรีราชสำนัก และเป็นลูกของลุงมณฑล (เล็ก) อดีตหัวหน้าปี่พาทย์พุฒธยาที่มีชื่อเสียงวงหนึ่งในกระทุ่มแบน ผมได้คุยกันเมื่อราวปี พ.ศ. 2557 สรุปความประมาณว่า 
"สมัยก่อนมีต้นกระทุ่มต้นหนึ่งที่ลำต้นโอนเอียงในแนวเกือบราบแบนกับน้ำในคลอง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า กระทุ่มแบน"
ดอกกระทุ่ม
(ภาพจาก http://www.vichakaset.com)
ต้นกระทุ่มริมคลองภาษีเจริญ ด้านหน้าเทศบาลเดิม (หรือด้านหลังเทศบาลในปัจจุบัน)
ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2555



③ มีการเรียกชื่อ "กระทุ่มแบน" กันตั้งแต่เมื่อใด?
----------------------------------------------------------------

หาที่มาของการเรียกชื่อนั้นว่ายากแล้ว การหาช่วงการเริ่มเรียกชื่อนั้นยากกว่า แต่ด้วยความโชคดีที่เรื่องนี้มีหลักฐานที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรทำให้อย่างน้อยได้ทราบว่า การเรียกชื่อ "กระทุ่มแบน" ที่เก่าแก่สุดนั้น เริ่มเรียกมาตั้งแต่เมื่อใด

ในหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีการกล่าวถึง ในปี พ.ศ. 2319 มีการคุมไพร่พลมาทำนาที่ฝากตะวันออกของกรุงธนบุรีที่ กะทุ่มแบน หนองบัว แขวงเมืองนครชัยศรี นั่นหมายความว่าการเรียกชื่อ "กระทุ่มแบน" นั้น อย่างน้อยมีการเรียกมาตั้งแต่สมัยนั้น ซึ่งตรงกับช่วงปลายสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึง การตั้งทำนากะทุ่มแบน

จวบจนมีการจัดตั้งอำเภอกระทุ่มแบนขึ้นตาม พรบ. ลักษณะปกครองหัวเมือง ร.ศ.116 ตรงกับปี พ.ศ. 2440 

อีกเหตุผลที่สนับสนุนการเรียกชื่อ "กระทุ่มแบน" ก็ด้วยพื้นที่ตอนบนของสมุทรสาคร รวมไปถึงพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน เป็นเขตที่อยู่ห่างไกลจากน้ำทะเลหนุน และได้รับอิทธิพลน้ำจืดจากแม่น้ำท่าจีน จึงมีพืชยืนต้นที่เติบโตในบริเวณนิเวศน้ำจืดขึ้นอยู่มากมาย  และมีการนำชื่อพืชเหล่านั้นมาตั้งเป็นชื่อ เช่น กระทุ่ม มะเดื่อ ไทร ทองหลาง แค ซึ่งแม้ปัจจุบันต้นไม้เหล่านั้นจะไม่มีปรากฎด้วยสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้เป็นหลักฐานได้ว่า บริเวณดังกล่าวเคยอยู่ในบริเวณนิเวศน้ำจืด

นอกจากนี้ยังมีการใช้คำว่า "กระทุ่ม" ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีขึ้นอยู่ดาษดื่นในบริเวณนี้ มาเป็นชื่อเรียกต่างๆ เช่น อำเภอกระทุ่มแบน, ตำบลตลาดกระทุ่มแบน, บ้านคลองกระทุ่มแบน (ปัจจุบันเรียก ตำบลคลองมะเดื่อ), ตำบลปลายคลองกระทุ่มแบน (ปัจจุบันเรียก ตำบลแคราย) และ บ้านรางกระทุ่ม (หมู่บ้านหนึ่งในตำบลท่าเสา)

ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลที่ผมพยายามค้นหา รวบรวม คัดลอกมาเรียบเรียงไว้ให้ได้ศึกษากัน หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดผิดคลาดเคลื่อนไป รบกวนแจ้งกลับเพื่อจะนำมาปรับบทความให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นครับ

เรียบเรียงโดย
ชนินทร์ อินทร์พิทักษ์

---
เอกสารอ้างอิง



โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วัดนางสาวมีโบสถ์ มหาอุด หรือ มหาอุตม์ เขียนแบบไหน?

โบสถ์มหาอุด วัดนางสาว ถ่ายเมื่อ 1 ม.ค. 2562 คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อถ้าบอกว่าเป็นคนกระทุ่มแบนแต่ไม่รู้จักวัดนางสาว เพราะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในด้านการพัฒนา มีตำนานเรื่องเล่ามากมายหลากหลายเรื่อง รวมถึงโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์และพิเศษกว่าหลายๆ โบสถ์ของวัดในเมืองไทย ส่วนประวัติวัดนางสาว และเรื่องราวประกอบอื่นๆ ผมคงได้รวบรวมข้อมูล ประวัติต่างๆ เพื่อเขียนให้ได้อ่านกันในบทความถัดๆ ไป ในตอนนี้ขอกล่าวถึง โบสถ์หรืออุโบสถที่วัดนางสาว  อายุเก่าแก่กว่า 400 ปี ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีพาไลหรือพะไลยื่นออกมา 1 ห้อง (พาไลหรือพะไล แปลว่า เรือนหรือเพิงโถง ต่อจากเรือนเดิมหรืออยู่ในบริเวณของเรือนเดิม ใช้เป็นที่นั่งเล่นหรือประโยชน์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน)  มีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคาจำนวน 4 ต้น ช่อฟ้าใบระกาเป็นปูนปั้นประดับกระจก ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูเข้าออกด้านหน้าเพียงประตูเดียว ไม่มีหน้าต่าง ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมใหม่โดยปูหินอ่อนภายใน มีลายจิตรกรรมฝาผนัง ด้านผนังนอกมีการปรับเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาที่มี

เปิดตำนาน "ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่มแบน"

หากค้นรูปถ่ายติดบัตรขาวดำเก่าๆ ยุค 2500 ที่บ้านของคนกระทุ่มแบนขึ้นมาดู ผมเชื่อว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรูปถ่ายเหล่านั้น บนมุมซ้ายหรือขวาด้านล่างของรู ปจะต้องมีตราประทับแบบนูนของร้ านถ่ายรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านที่นิยมและได้รั บความไว้วางใจจากชาวกระทุ่ มแบนมาอย่างยาวนาน นั่นคือ "ห้องภาพชูศิลป์ : ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่ มแบน" หลังจากหาเวลานัดหมายกับห้องภาพชูศิลป์ ให้จังหวะลงตัวกับวันที่ ผมพอจะว่างจากทั้ งงานประจำและงานพิเศษในวันหยุ ดเสาร์-อาทิตย์เรียบร้อย ผมจึงได้มีโอกาสฟังเรื่องราวดีๆ จากทายาทผู้ก่อตั้ง "ห้องภาพชูศิลป์" ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2562 คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" ลูกสาวคนโตของเจ้าของห้องภาพชูศิลป์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2492 ได้บอกเล่าให้ผมได้ฟังด้วยรอยยิ้ มอารมณ์ดีถึงประวัติห้องภาพชูศิลป์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในรุ่นของคุ ณพ่อและคุณแม่  คุณพ่อมีลูก 5 คน คือ คุณป้าเป็นคนโต มีน้องชาย 3 คน และน้องสาวคนเล็กอีกคน   คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" จุดเริ่มต้นของอาชีพถ่ายภาพ คุณแม่ป้าเช็งชื่อ &quo