ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ผดุงราษฎร์วิทยา โรงเรียนในความทรงจำของเด็กกระทุ่มแบน


ป้ายโรงเรียนผดุงราษฎร์วิทยา หลังจากปิดโรงเรียน  (ถ่ายเมื่อ 13 ก.ค. 56)
เมื่อกลาง พ.ศ. 2561 ผู้เขียนกลับไปเดินสำรวจอีกครั้งไม่พบป้ายนี้แล้ว

หากนึกถึงโรงเรียนเก่าแก่ในย่านตลาดกระทุ่มแบน หลายคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไปคงจะต้องรู้จักโรงเรียน "ผดุงราษฎร์วิทยา" โรงเรียนที่ยังอยู่ในความทรงจำของเด็กตลาดกระทุ่มแบนหลายคน รวมถึงตัวผู้เขียนด้วย แม้ว่าโรงเรียนจะยุติการเรียนการสอนไปนานพอสมควรแล้ว

ผู้เขียนเคยสงสัยถึงประวัติความเป็นมาของโรงเรียนแห่งนี้ แต่ก็ยังไม่เคยอ่านพบจากหนังสือเล่มใดๆ ทราบเพียงข้อมูลพื้นฐานและจากการบอกเล่าปากต่อปาก รวมถึงภาพเก่าบางส่วนที่พอจะเรียบเรียงให้ได้รับทราบกันในบทความนี้

โรงเรียนผดุงราษฎร์ ตั้งอยู่เลขที่ 195 ซ.เจริญสวัสดิ์ ถ.เจริญสุข ต.ตลาดกระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร หรือจะกล่าวง่ายๆ ว่าจากฝั่งตลาดข้ามสะพานเทศบาล 2 ลงมา เข้าซอยแรกซ้ายมือ ติดกับร้านชัยวัฒน์ เข้าไปประมาณ 50-100 เมตร ก็จะพบกับทางเข้าโรงเรียน 


บริเวณประตูทางเข้าโรงเรียนผดุงราษฎร์วิทยา หลังจากปิดโรงเรียน  (ถ่ายเมื่อ 13 ก.ค. 56)


ล่าสุด (3 ก.ค. 64) ผู้เขียนได้พบภาพถ่ายที่ชี้ชัดได้ว่าทางเข้าโรงเรียนมีอีกหนึ่งทาง แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเปิดให้นักเรียนทั่วไปใช้งานหรือไม่ในยุคนั้นก่อน แต่สมัยผู้เขียนเรียนตอนเด็กจะเข้าด้านข้างโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ จำได้ว่าประตูนี้มีเข้าได้ในบางโอกาส โดยภาพที่พบครั้งนี้มีตราประทับระบุไว้ว่า 20 July 1952 หรือตรงกับ 20 ก.ค. 2495 เป็นภาพซุ้มประตูไม้ที่มีป้ายขึ้นแสดงสถานะของบ้าน/อาคารหรือหน่วยงานที่ใช้ทางเข้านี้ร่วมกัน 3 ส่วน คือ 

ป้ายบนสุด - โรงเรียนผดุงราฎร์วิทยา
ป้ายกลาง - สุคนธ สุคนธวิท ทนายความ ชั้น ๑ 
ป้ายล่าง - บ้านสว่างศุข

ภาพดังกล่าวตากล้องยืนถ่ายภาพที่บริเวณถนนเจริญสวัสดิ์ ริมคลองภาษีเจริญ หันหน้าเข้าซุ้มประตู

ประตูทางเข้าโรงเรียนดุงราษฎร์วิทยาฝั่งถนนเจริญสวัสดิ์
ประตูทางเข้าโรงเรียนผดุงราษฎร์วิทยาฝั่งถนนเจริญสวัสดิ์ ริมคลองภาษีเจริญ
ใช้ทางเข้าร่วมกับสำนักทนายความขุนสุคนธวิทศึกษากร และบ้านสว่างศุข
ถ่ายเมื่อ 20 ก.ค. 2495




จากการสอบถามแม่ของผู้เขียน (เกิด พ.ศ. 2497) ซึ่งเกิดที่กระทุ่มแบนตั้งแต่เด็ก ได้เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งโดยขุนสุคนธวิทศึกษากร (สำอางค์ สุคนธวิท) แต่ไม่ทราบปีแน่ชัด หลายท่านแจ้งข้อมูลว่าน่าจะก่อตั้งขึ้นในสมัยที่ขุนสุคนธวิทศึกษากร ดำรงตำแหน่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงธรรมการ ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพขุนสุคนธวิทศึกษากรแล้ว อาจมีความเป็นไปได้ 2 ช่วง คือ ช่วงพ.ศ. 2478 ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยราชการกระทรวงธรรมการ หรืออีกช่วงคือ ราว พ.ศ. 2480 เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ แต่ทั้งนี้ก็ต้องตามหาหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรมายืนยันกันอีกครั้ง

นอกจากนี้ ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพขุนสุคนธวิทยังเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผดุงราษฎร์ อ.กระทุ่มแบน อีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลที่ผู้เขียนได้พบหลักฐานภาพถ่ายปรากฏว่ายังมีการประชุมสมาคมผดุงราษฎร์จนถึงช่วงประมาณ พ.ศ. 2510 กว่าๆ ดังภาพด้านล่าง

คณะทำงานและสมาชิก สมาคมผดุงราษฎร์ เมื่อราว พ.ศ. 2510 กว่าๆ ซึ่งพอจะระบุรายชื่อได้บางท่านโดยอ้างอิงจากหลักฐานชื่อหน้าซองจดหมายที่ใส่รูปภาพนี้จำนวนหลายซอง ดังนี้
 ผู้หญิงท่านกลาง แถวนั่งล่างสุด คือ คุณลออ สุคนธวิท (ภรรยาขุนสุคนธวิทศึกษากร)
แถวยืนหลังสุด ท่านที่ 7 จากซ้ายมือ คือ คุณชลอ ศรีสุกใส ผู้ก่อตั้งโรงพิมพ์ศรีการช่าง
และที่ทราบเพียงรายชื่อแต่ไม่ทราบว่าเป็นท่านใดในรูปได้แก่ คุณทองม้วน มากรักษา, คุณวิเชียร จันทร์เกษม,
คุณประเทือง นิลดำ, คุณสนอง สกลเกียรติ, คุณสำรวย เพ็งหนู, คุณประเสริฐ เสริมสาธนสวัสดิ์
ขอบคุณภาพจาก โรงพิมพ์ศรีการช่าง


ผู้เขียนได้ตรวจสอบเพิ่มเติมจากระบบฐานข้อมูลสมาคมมูลนิธิ ได้ข้อมูลที่พอจะช่วยทราบช่วงเวลาการก่อตั้งโรงเรียนได้คร่าวๆ ทำให้ทราบว่า

สมาคมผดุงราษฎร์ ได้รับการอนุญาตจดทะเบียนเมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2486 โดยมีผู้เริ่มการสมาคมคือ ขุนสุคนธวิทศึกษากร ซึ่งในฐานข้อมูลใช้ชื่อว่า นายสุคนธ สุคนธวิท

นั่นหมายความว่า โรงเรียนน่าจะมีการก่อตั้งขึ้นมาก่อนปี พ.ศ. 2486 นั่นเองครับ


การแสดงของเด็กๆ ที่โรงเรียนผดุงราษฎร์ กระทุ่มแบน เมื่อราว 40 กว่าปีที่แล้ว (คาดว่าราว พ.ศ. 2510-2517)
ขอบคุณภาพจาก...คุณเสาวนีย์ วนสุนทรเมธี


ในความทรงจำจางๆ ของผู้เขียน สำหรับในวัยเด็กที่เคยได้มีโอกาสเรียน ณ ที่แห่งนี้เมื่อราวปี พ.ศ. 2529
ปากทางเข้าจะมีร้านข้าวคลุกกะปิของเฮียท่านหนึ่งที่ขึ้นชื่อ มีรสชาติอร่อย เป็นที่ถูกปากชาวกระทุ่มแบนหลายคน

ในโรงเรียนมีชิงช้าสีเขียวมีม้านั่ง 2 ฝั่ง แบบมีหลัง ตั้งอยู่ที่ด้านขวามือปากทางเข้าประตูโรงเรียน ด้านในมีอาคารเรียนไม้ แต่จำหน้าตาไม่ได้ มีพื้นที่ว่างเปล่า ด้านขวาของโรงเรียน มีต้นหญ้าขึ้นทั่วไป

ที่ลานว่างๆ นี้เองมีสภาพเหมือนเพิ่งรื้อสิ่งปลูกสร้างบางอย่างไปทำให้มีพื้นปูน มีช่องต่างๆ จนกลายเป็นสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กๆ ไปในตัว มีการนำฝักแก่ของต้นต้อยติ่ง หรือที่ผมและเพื่อนๆ เรียกกันเองตามเสียงระเบิดว่า "ต้นเปาะเปี๊ยะ" ซึ่งขึ้นอยู่ในบริเวณนั้นมาวางใส่ตามซอกหิน นำน้ำมาหยอดใส่ให้มันระเบิดเล่นเป็นที่สนุกสนานกันมากในช่วงเช้าและช่วงพัก

สมัยนั้นผู้เขียนเรียนหนังสือกับครูไรวรรณ?? ซึ่งน่าจะเป็นครูประจำชั้น
ชุดนักเรียนเป็นเสื้อสีขาว กางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน  ปักอักษรย่อฝั่งหน้าอกขวาว่า ผ.ว. ด้วยด้ายสีแดง ส่วนด้านซ้ายเหนือกระเป๋าเสื้อจะเป็นชื่อและนามสกุล
ส่วนชุดพละเป็นเสื้อยืดคอกลมมีทั้งสีฟ้า และสีชมพู ขลิบปกคอและแขนเสื้อด้วยสีน้ำเงิน

เครื่องแบบชุดนักเรียนชาย "ผดุงราษฎร์วิทยา" เมื่อ พ.ศ. 2529
ภาพหมู่นักเรียน ระดับชั้นอนุบาล โรงเรียนผดุงราษฎร์ ในเครื่องแบบชุดพละ (ถ่ายเมื่อ 19 พ.ย. พ.ศ. 2529)
ขอบคุณภาพจาก คุณก้อย กุลภัทร์แสงทอง (ลูกสาว ลุงกุ่ย)

ภาพหมู่นักเรียน ระดับชั้นอนุบาล โรงเรียนผดุงราษฎร์ ในเครื่องแบบชุดพละ เมื่อ พ.ศ. 2529


โรงเรียนผดุงราษฎร์แห่งนี้ ได้ปิดทำการเรียนการสอนไปตั้งแต่เมื่อใด ผู้เขียนยังไม่ทราบข้อมูลแน่ชัด แต่ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่โรงเรียนแห่งนี้ได้เปิดทำการสอน ก็ได้ช่วยให้เด็กๆ ในกระทุ่มแบนมีจุดเริ่มต้นทางการศึกษาที่ดีเรื่อยมาหลายๆ ต่อหลายรุ่น และเชื่อได้เลยว่าใครที่เป็นศิษย์เก่าที่นี่คงต้องหวนคิดถึงชีวิตในวัยเด็กอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชื่อ "กระทุ่มแบน" มาจากไหน

"บ้านน้องอยู่ที่ไหนนะ?" "กระทุ่มแบนครับ" "แล้ว กระทุ่มแบน เนี่ย ทำไมมันถึงชื่อนี้?" "อืม..ไม่แน่ใจ...ไม่ทราบเลยครับ" เชื่อได้ว่าคนกระทุ่มแบนหลายคนคงจะคุ้นเคยกับบทสนทนาประมาณข้างต้น ที่ตอบได้เพียงคำถามแรก แต่เมื่อถึงคำถามที่สอง เซลล์สมองอาจต้องวิ่งทำงานเหนื่อยกันเลยทีเดียว สุดท้ายบางคนตอบได้ บางคนเดาไป บางคนถามกลับว่า "อยากจะรู้ไปทำไม" สำหรับผมแล้ว... "กระทุ่มแบน...ทำไมมันถึงชื่อนี้" มันเป็นคำถามที่ค้างคาใจมาหลายปี จนกระทั่งวันที่พอจะมีกำลังและเวลา รวมถึงความพร้อมประกอบอื่นๆ ทำให้ได้ออกค้นหาคำตอบเสียที ภาพแผนที่ตัดเฉพาะส่วนจากกรมแผนที่ทหารบกสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2456 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

วัดนางสาวมีโบสถ์ มหาอุด หรือ มหาอุตม์ เขียนแบบไหน?

โบสถ์มหาอุด วัดนางสาว ถ่ายเมื่อ 1 ม.ค. 2562 คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อถ้าบอกว่าเป็นคนกระทุ่มแบนแต่ไม่รู้จักวัดนางสาว เพราะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในด้านการพัฒนา มีตำนานเรื่องเล่ามากมายหลากหลายเรื่อง รวมถึงโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์และพิเศษกว่าหลายๆ โบสถ์ของวัดในเมืองไทย ส่วนประวัติวัดนางสาว และเรื่องราวประกอบอื่นๆ ผมคงได้รวบรวมข้อมูล ประวัติต่างๆ เพื่อเขียนให้ได้อ่านกันในบทความถัดๆ ไป ในตอนนี้ขอกล่าวถึง โบสถ์หรืออุโบสถที่วัดนางสาว  อายุเก่าแก่กว่า 400 ปี ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีพาไลหรือพะไลยื่นออกมา 1 ห้อง (พาไลหรือพะไล แปลว่า เรือนหรือเพิงโถง ต่อจากเรือนเดิมหรืออยู่ในบริเวณของเรือนเดิม ใช้เป็นที่นั่งเล่นหรือประโยชน์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน)  มีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคาจำนวน 4 ต้น ช่อฟ้าใบระกาเป็นปูนปั้นประดับกระจก ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูเข้าออกด้านหน้าเพียงประตูเดียว ไม่มีหน้าต่าง ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมใหม่โดยปูหินอ่อนภายใน มีลายจิตรกรรมฝาผนัง ด้านผนังนอกมีการปรับเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาที่มี

เปิดตำนาน "ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่มแบน"

หากค้นรูปถ่ายติดบัตรขาวดำเก่าๆ ยุค 2500 ที่บ้านของคนกระทุ่มแบนขึ้นมาดู ผมเชื่อว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรูปถ่ายเหล่านั้น บนมุมซ้ายหรือขวาด้านล่างของรู ปจะต้องมีตราประทับแบบนูนของร้ านถ่ายรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านที่นิยมและได้รั บความไว้วางใจจากชาวกระทุ่ มแบนมาอย่างยาวนาน นั่นคือ "ห้องภาพชูศิลป์ : ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่ มแบน" หลังจากหาเวลานัดหมายกับห้องภาพชูศิลป์ ให้จังหวะลงตัวกับวันที่ ผมพอจะว่างจากทั้ งงานประจำและงานพิเศษในวันหยุ ดเสาร์-อาทิตย์เรียบร้อย ผมจึงได้มีโอกาสฟังเรื่องราวดีๆ จากทายาทผู้ก่อตั้ง "ห้องภาพชูศิลป์" ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2562 คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" ลูกสาวคนโตของเจ้าของห้องภาพชูศิลป์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2492 ได้บอกเล่าให้ผมได้ฟังด้วยรอยยิ้ มอารมณ์ดีถึงประวัติห้องภาพชูศิลป์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในรุ่นของคุ ณพ่อและคุณแม่  คุณพ่อมีลูก 5 คน คือ คุณป้าเป็นคนโต มีน้องชาย 3 คน และน้องสาวคนเล็กอีกคน   คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" จุดเริ่มต้นของอาชีพถ่ายภาพ คุณแม่ป้าเช็งชื่อ &quo