คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อถ้าบอกว่าเป็นคนกระทุ่มแบนแต่ไม่รู้จักวัดนางสาว เพราะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในด้านการพัฒนา มีตำนานเรื่องเล่ามากมายหลากหลายเรื่อง รวมถึงโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์และพิเศษกว่าหลายๆ โบสถ์ของวัดในเมืองไทย ส่วนประวัติวัดนางสาว และเรื่องราวประกอบอื่นๆ ผมคงได้รวบรวมข้อมูล ประวัติต่างๆ เพื่อเขียนให้ได้อ่านกันในบทความถัดๆ ไป
ในตอนนี้ขอกล่าวถึงโบสถ์หรืออุโบสถที่วัดนางสาว อายุเก่าแก่กว่า 400 ปี ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีพาไลหรือพะไลยื่นออกมา 1 ห้อง (พาไลหรือพะไล แปลว่า เรือนหรือเพิงโถง ต่อจากเรือนเดิมหรืออยู่ในบริเวณของเรือนเดิม ใช้เป็นที่นั่งเล่นหรือประโยชน์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน) มีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคาจำนวน 4 ต้น ช่อฟ้าใบระกาเป็นปูนปั้นประดับกระจก ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูเข้าออกด้านหน้าเพียงประตูเดียว ไม่มีหน้าต่าง ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมใหม่โดยปูหินอ่อนภายใน มีลายจิตรกรรมฝาผนัง ด้านผนังนอกมีการปรับเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาที่มีภาพเล่าเรื่องพระมหาชนก
โบสถ์ลักษณะที่กล่าวข้างต้น นิยมเรียกว่า "โบสถ์มหาอุด" ซึ่งหลงเหลือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย
"โบสถ์มหาอุด" สะกดด้วย ด ตรงตัว ไม่ใช่ "มหาอุตม์" อย่างที่หลายท่านเข้าใจกันอยู่ เดิมทีผู้เขียนก็เข้าใจว่าสะกดด้วย ตม์ แต่เมื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ และทราบแบบที่ถูกแล้ว จึงคิดว่าควรเขียนให้ถูกต้องและนำมาเผยแพร่ให้ได้ทราบกัน
ทั้งนี้มีการอธิบายไว้ในรายการวิทยุ ชื่อรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. โดยมีการเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ดังนี้
อุด-มหาอุด
คำว่า อุด หมายถึง จุกช่อง หรือ ปิดให้แน่น. คำนี้อาจประกอบกับคำว่า มหา ซึ่งหมายถึง ใหญ่ ยิ่งใหญ่. ได้คำว่า มหาอุด แปลว่า อุดอย่างยิ่งใหญ่
มหาอุด มี หลายความหมาย ความหมายหนึ่ง คือลักษณะเฉพาะของโบสถ์หรือวิหารขนาดย่อมที่ก่อเป็นผนังทึบ ไม่มีหน้าต่าง และเจาะช่องประตูด้านหน้าเป็นทางเข้าออกเพียงด้านเดียว นิยมสร้างในสมัยอยุธยา เพื่อประสงค์ให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรมอย่างมีสมาธิ หรือให้เกิดความขลังในการประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะพิธีปลุกเสกพระเครื่องหรือวัตถุมงคล เช่น อุโบสถวัดตึก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. อีกความหมายหนึ่ง คือ พระเครื่องที่ทำเป็นพระปิดตาหรือปิดทวารอื่น ๆ เรียกว่า พระมหาอุด เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ทางทางป้องกันอาวุธและทางเมตตามหานิยม. นอกจากนี้ มหาอุด ยังหมายถึง เครื่องรางของขลังหรือคาถาที่บริกรรมปลุกเสก เชื่อว่าช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน.
นอกจากนี้ พจนานุกรมแบบออนไลน์ แปลไทย-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
มหาอุด หมายถึง น. เครื่องรางของขลังที่ช่วยให้ผู้เป็นเจ้าของอยู่ยงคงกระพัน
โบสถ์หรือวิหารที่มีผนังทึบตันรอบด้านมีช่องทางเข้าออกเฉพาะประตูด้านหน้าแห่งเดียวเพื่อประโยชน์ในการทำพิธีที่เชื่อว่าจะทำให้ขลังยิ่งขึ้น.
โบสถ์มหาอุด วัดนางสาว เมื่อปี พ.ศ. 2537 ภาพจากหนังสือพิมพ์สื่อมวลชนท่องเที่ยว ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2537 |
โบสถ์มหาอุด วัดนางสาว กระทุ่มแบน ถ่ายเมื่อ 24 พ.ค. 2551 ปัจจุบันผนังโบสถ์ด้านนอกได้ปรับเปลี่ยนเป็นกระเบื้องเผานูนสูงเรื่องพระมหาชนก |
ส่วนในทางไสยศาสตร์แล้ว มีการกล่าวถึงเรื่อง มหาอุด และ มหาอุตม์ ไว้ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก (ต้นทางไม่ได้ระบุฉบับและวันที่) ซึ่งขอคัดลอกมาบางส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
"...วิชามหาอุตม์ เป็นศาสตร์วิชาที่ให้คุณวิเศษทางความอุดมสมบูรณ์ ทำมาหากินคล่อง มีกินไม่มีหมดผู้ใช้ต้องหมั่นสวดภาวนา วิชามหาอุตม์เป็นอักขระพระคาถามหายันต์ที่นำไปลงวัตถุมงคลต่างๆหรือปลุกเสกสิ่งของนำมาบูชา จนกระทั่งนำอักขระมหายันต์มาสักยันต์ลงบนร่างกาย แต่ถ้าจะให้เกิดคุณโดยเร็ว ต้องหมั่นภาวนาพระคาถากำกับไว้ ถือว่าเป็นมนต์มหาเสน่ห์ มหานิยมเมตตาเป็นเลิศ เช่นนกถึดทือ เจ้ามือวิ่งหนี หรือ นกถึดทือ กระพือเรียกลาภ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขาม
....ศาสตร์วิชามหาอุตม์นี้ หลายท่านคิดว่าเป็นมหาอุด ที่หมายถึง อุดลูกปืน อุดสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าตัวอะไรประมาณนี้ซึ่งความจริงแล้ว วิชาที่อุดลูกปืนหรือป้องกันสิ่งชั่วร้ายนั้น อยู่ในหมวดวิชาอยู่ยงคงกระพัน วิชานี้ป้องกันอาวุธต่างๆ ได้ ป้องกันสิ่งเลวร้ายได้ อย่างเช่น ผู้ที่มีวิชาอยู่ยงคงกระพันถูกยิงด้วยปืน ถึงแม้ลูกปืนจะยิงออกและถูกเข้าตามร่างกาย แต่ก็ไม่สามารถทะลุผ่านผิวหนังเข้าไปได้ อย่างนี้เป็นต้น..."
สรุปได้ง่ายๆ ว่า เราต้องเขียนอย่างถูกต้องโดยยึดตามราชบัณฑิตยสภาว่า "วัดนางสาวมีโบสถ์มหาอุด" ไม่ใช่ "วัดนางสาวมีโบสถ์มหาอุตม์"
------------
เอกสารและแหล่งอ้างอิง
- คณะกรรมการดำเนินโครงการจัดทำหนังสือ จ.สมุทรสาคร. (2541). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร. หน้า 111
- บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. สืบค้นจาก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา http://www.royin.go.th/?knowledges=อุด-มหาอุด-๘-พฤษภาคม-๒๕๕๑ [1 เม.ย. 2562]
- พจนานุกรมแบบออนไลน์ แปลไทย-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน สืบค้นจากจาก https://dictionary.sanook.com/search/dict-th-th-royal-institute/มหาอุด [1 เม.ย. 2562]
- ไสยศาสตร์...เคล็ดวิชามหาอุตม์อยู่ยงคงกระพัน. หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก (ไม่ทราบฉบับและวันที่) สืบค้นจาก http://www.arjanram.com/relic_detail.php?g=4&id=82 [1 เม.ย. 2562]