ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

"กระทุ่มแบน" จากเกร็ดประวัติศาสตร์ใน "จดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น"



ภาพจาก เพจกระทุ่มแบนในอดีต
ถ่ายภาพโดย คุณคุณมงคล ตั้งธนัง


เมื่อช่วงเริ่มต้นการตามหาภาพเก่าและข้อมูลเกี่ยวกับกระทุ่มแบนนั้น ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือจดหมายเหตุประพาสต้น (ร.ศ. ๑๒๓) พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปบางส่วนเพื่อค้นเรื่องราวว่ามีการบันทึกบางช่วงบางตอนเกี่ยวกับ "กระทุ่มแบน" ไว้บ้างหรือไม่

นายทรงอานุภาพ หรือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

อ่านไปเพียงฉบับที่ ๒ ก็ได้พบช่วงที่ทรงพระนิพนธ์ไว้เมื่อ ๑๖ เดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ ขณะประทับแรมอยู่ที่วัดโชติการาม คลองดำเนินสะดวก
โดยมีส่วนที่เกี่ยวกับ "กระทุ่มแบน" ดังนี้

"วันที่ ๑๕ เวลาเช้า ออกกระบวนล่องลงมาเข้าคลองบางกอกใหญ่และคลองภาษีเจริญ ฉันมากระบวนหน้าตามเคย ประจวบเวลาหัวน้ำลง เมื่อพ้นหนองแขมเจอเรือไฟที่ไปก่อนติดขวางคลองอยู่ลำหนึ่ง ฉันจึงปล่อยเรือไฟที่จูงเรือให้คอยตามเรือไฟลำหน้า ส่วนตัวฉันเองให้คนแจวเรือล่องเลยไปจอดคอยเรือไฟที่น้ำลึกบ้านกระทุ่มแบน รอๆอยู่เท่าใดๆ ก็ไม่เห็นเรือไฟตามออกมา น้ำก็แห้งงวดลงไปทุกที พอแน่ใจว่าเรือไฟคงติดเสียกลางทางแล้ว ก็พอนึกขึ้นได้ว่าครัวมอเสบียงอาหารอยู่ในเรือไฟหมดทั้งนั้น และดูนายอัษฎาวุธท่าจะออกหิว จึงชวนกันขึ้นบกเดินไปเที่ยวซื้อข้าวแกงกินที่ตลาดบ้านกระทุ่มแบน ไปเจอคนผัดหมี่ดี คุยว่ารู้จักคุ้นเคยกับเจ้าคุณเทศผ่านมาเป็นต้องแวะกินหมี่เสมอ ซื้อเสบียงอาหารได้พอกันแล้ว ได้ยินเสียงโรงละครที่โรงบ่อน นายอัษฎาวุธเกิดอยากดูละคร พากันไปดู ไปเจอเจ้าของละครเจ้ากรรมรู้จักว่าฉันเป็นหุ้มแพรมหาดเล็ก ต้องรีบหนีพากันมาลงเรือ แต่กระนั้นก็ไม่พ้น พอประเดี๋ยวเจ้าหมี่เจ้าหม่าพากันมารุมมาตุ้มพิธีแตก เพราะนายอัษฎาวุธทีเดียว ถ้านายอัษฎาวุธไม่พาไปดูละครก็คงได้นั่งกินข้างแกงกันในตลาดให้สนุก นี่กลับต้องกินสำรับคับค้อนแล้วตอบแทนเขาแทบไม่ไหว 
จอดรอกระบวนเสด็จอยู่จนค่ำ กลางคืนน้ำขึ้น เรือไฟพ่วงล่วงหน้าหลุดออกมาทีละลำสองลำ ถามดูก็ไม่ได้ความว่ากระบวนเสด็จอยู่ที่ไหน จนยามกว่าจึงได้ความจากเรือลำหนึ่งว่า ประทับแรมอยู่ที่หน้าวัดหนองแขม ฉันก็เลยจอดนอนคอยเสด็จอยู่ที่กระทุ่มแบนนั่นเอง 
ครั้นรุ่งเช้า วันที่ ๑๖ ออกเรือล่วงหน้ามาคอยเสด็จอยู่ที่ปากคลองดำเนินสะดวก พอประมาณ ๔ โมงเช้ากระบวนเสด็จมาถึง เลยเข้าคลองต่อมา น้ำกำลังท่วมทุ่งท่วมค้นคลองเจิ่งทั้งสองข้าง เรือแล่นได้สะดวก พอสักบ่าย ๒ โมงก็มาถึงหลักหก หยุดกระบวนประทับแรมที่วัดโชติทายการาม เวลาบ่ายทรงเรือเล็กพายไปประพาสทุ่ง คือไร่ที่น้ำท่วม เจ้าของไร่กำลังเก็บเอาหอมกระเทียมขึ้นผึ่งตามนอกชานบ้านเรือนตลอดจนบนหลังคา เพราะไม่มีที่ดิน น้ำท่วมเป็นทะเลหมด..."


หลังผมจากอ่านจบก็มีคำถามเกิดขึ้นในใจบางส่วน และปล่อยผ่านเลยไปเสียหลายปี จวบจนช่วงสายๆ วันนี้ (๒๓ มิ.ย. ๖๒) ได้หนังสือเก่า "จดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น" ฉบับพิมพ์เนื่องในคล้ายวันประสูติของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๓๖ มาอ่านรื้อฟื้นความจำอีกครั้ง ทำให้เกิดคำถามใหม่ รวมกับคำถามเดิมในฐานะที่ผมเป็นคนกระทุ่มแบน และขอสันนิษฐาน ชวนให้ช่วยกันคิด ซึ่งความคิดผมอาจไม่ถูกต้องก็ได้ หากท่านใดมีข้อมูลสันนิษฐานอื่นๆ ก็ช่วยกันค้นคว้าหาต่อกันด้วยเถิด เพราะคนกระทุ่มแบนน้อยคน ที่ตั้งคำถามและออกตามหาคำตอบ

แผนที่แสดงตำแหน่งจุดที่ ร.๕ ประทับแรมบริเวณหน้าวัดหนองแขมและบริเวณบ้านกระทุ่มแบน

๑. จุดที่นายทรงอานุภาพ (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ให้คนแจวเรือไปจอดคอยคือบริเวณใดที่บ้านกระทุ่มแบน?
• ชวนให้ช่วยกันคิด
  • จุดนั้นต้องเป็นจุดที่คลองมีระดับน้ำลึก ท่านจึงใช้คำว่า "น้ำลึกบ้านกระทุ่มแบน"
  • อาจจะเป็นบริเวณสี่แยกกระทุ่มแบนในรัศมีไม่ไกลมากนัก  แต่อาจไม่ใช่ตรงสี่แยกตลาดพอดี เพราะยามเช้ามืดจะมีพ่อค้าแม่ค้าพายเรือมาขายของมีจำนวนมาก ตลาดจะคึกคัก ไม่น่าจะเหมาะแก่การจอดนอน แต่อาจจะเป็นทางฝั่งแป๊ะกง เพราะมีเพิงจอดเรือของพ่อค้าแม่ค้าที่มาพักอยู่
  • จุดนั้นต้องสงบประมาณหนึ่ง และไม่ไกลจากศูนย์กลางตลาดบ้านกระทุ่มแบน  เพราะท่านใช้คำว่า "...ชวนกันขึ้นบกเดินไปเที่ยว..." แสดงว่าต้องมีการเดินการระยะหนึ่ง
  • จุดนั้นไม่น่าจะใช่บริเวณประตูน้ำกระทุ่มแบน เพราะห่างไกลจากตลาดบ้านกระทุ่มแบน มากเกินไป และหากเป็นจุดนั้น ท่านน่าจะมีพระนิพนธ์จุดจอดเรือเป็นประตูน้ำกระทุ่มแบน
  • ผมมีความเห็นว่าจุดนั้นมีความเป็นไปได้ คือ
    ๑. ริมคลองภาษีเจริญบริเวณที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบนปัจจุบัน เพราะจุดนั้นไม่น่าจะพลุกพล่านมากนัก

    ๒. ที่ว่าการอำเภอในสมัยนั้น (พ.ศ. ๒๔๗๗) ซึ่งอยู่บริเวณใกล้ตลาด ดังข้อมูลในหนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอาคารที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบน พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้มีการระบุข้อมูลว่า

    ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) สมัยขุนไกรกำแหง (สอน รตานนท์) ดำรงตำแหน่งนายอำเภอแทนขุนเทพบุรี (นุ่ม)ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่โรงบ่อนบ้านขุนไกรกำแหง ตรงสี่แยกกระทุ่มแบน

    ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) สมัยหลวงนารถประชารักษ์ (สุดใจ) ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ได้ก่อสร้างที่ว่าการอำเภอขึ้นใหม่เป็นเอกเทศ โดยตั้งอยู่ ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวทรงเตี้ย หลังคามุงจาก

    ทั้งข้อ ๑ และ ๒ ไม่แน่ใจว่าเป็นที่ว่าการหลังเดิมหรือหลังปัจจุบัน เพราะเป็นปีเดียวกันกับที่เสด็จประพาส อาจเป็นช่วงรอยต่อในการก่อสร้างหรือย้ายสถานที่

    หรือ

    ๓. บริเวณริมคลองภาษีเจริญจุดที่เลยจุดตัดคลองภาษีเจริญกับคลองกระทุ่มแบนไประยะหนึ่ง เช่น บริเวณเลยตรอกโรงยาไปเล็กน้อยซึ่งอาจเป็นที่เดียวกันกับข้อ ๒. ซึ่งใกล้กับบริเวณที่ว่าการอำเภอ บ้านขุนไกรกำแหง หรือบริเวณย่านสะพานตรงศาลหลวงตาทองในปัจจุบัน

สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
ภาพจาก https://th.wikipedia.org

๒. นายอัษฎาวุธ (สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา) และ นายทรงอานุภาพ เดินไปเที่ยวซื้อข้าวแกงน่าจะเป็นบริเวณใดของตลาดกระทุ่มแบน ?
• ชวนให้ช่วยกันคิด
  • จุดนั้นน่าจะไม่ห่างจากจุดจอดเรือมากนัก
  • จุดนั้นน่าจะเป็นตลาดบ้านกระทุ่มแบนที่ไม่ได้ห่างจากริมคลองมากนัก
  • จุดนั้นน่าจะอยู่บริเวณสี่แยกตลาดกระทุ่มแบนที่เป็นศูนย์กลางการค้าในยุคก่อนๆ
  • ผมมีความเห็นว่าจุดนั้นมีความเป็นไปได้ คือ   บริเวณตลาดสี่แยกกระทุ่มแบนในส่วนที่เป็นบก ไม่เป็นไปตามแนวคลองภาษีเจริญ ก็น่าจะเป็นร้านตามแนวคลองกระทุ่มแบน ซึ่งทั้ง 2 ตลองตัดผ่านกันอยู่


๓. คนผัดหมี่ที่ทั้ง ๒ ท่านเดินไปพบ และคุยว่าคุ้นเคยกับเจ้าคุณเทศ นั้นคือใคร?
• ชวนให้ช่วยกันคิด
  • เจ้าคุณเทศ น่าจะหมายถึง เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นพระเพ็ชรพิไสยศรีสวัสดิ์ปลัดเมืองเพชรบุรี ในรัชกาลที่ ๕ ได้เลื่อนเป็นพระยาสุรินทรลือไชย ผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี ซึ่งท่านน่าจะต้องใช้เส้นทางนี้ในการเดินทางไปเมืองเพชรบุรี) ผ่านมาเป็นต้องแวะกินหมี่เสมอ
  • ร้านผัดหมี่นี้น่าจะเป็นที่ขึ้นชื่อพอสมควร ถึงขนาดท่านเจ้าคุณเทศ แวะมารับประทานบ่อยจนรู้จักมักคุ้นกัน
  • ผมมีความเห็นว่าจุดนั้นมีความเป็นไปได้ ไม่น่าต่างจากข้อ ๒.


๔. โรงละครในโรงบ่อน ที่ทั้ง ๒ ท่านไปดูคือที่ใด?
• ชวนให้ช่วยกันคิด
  • โรงละครในโรงบ่อนนี้ ต้องอยู่ระหว่างทางไปจุดจอดเรือ หรือ  ไม่ไกลจากจุดซื้อเสบียง
  • โรงบ่อนในย่านนั้น เท่าที่ผมเคยได้ยินมาน่าจะเคยมีอยู่บริเวณตรอกโรงยาในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นโรงบ่อนเดียวกับที่ระบุในในหนังสือข้างต้นว่า "สมัยขุนไกรกำแหง (สอน รตานนท์) ดำรงตำแหน่งนายอำเภอแทนขุนเทพบุรี (นุ่ม)ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่โรงบ่อนบ้านขุนไกรกำแหง ตรงสี่แยกกระทุ่มแบน" ดังนั้น อาจจะเป็นบ่อนของขุนไกรกำแหง ก็มีความเป็นไปได้ แต่ต้องรอตรวจสอบข้อมูลและสอบถามคนเก่าแก่ในย่านนั้นอีกครั้ง
  • หากเป็นระหว่างทางจากตลาด มาเส้นทางฝั่งที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบน ผมยังไม่มีข้อมูลว่ามีโรงบ่อน แถวไหนบ้างหรือไม่
  • ผมมีความเห็นว่าจุดนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นบริเวณตรอกโรงยาในปัจจุบันหรือโรงบ่อนขุนไกรกำแหง  (สอน รตานนท์)  เพราะไม่ไกลจากสี่แยกกระทุ่มแบนมากนัก


๕. เจ้าของโรงละครที่รู้จักกับนายทรงอานุภาพนั้น คือใคร?
• ชวนให้ช่วยกันคิด
  • เจ้าของละคร น่าจะเป็นคหบดีที่มีชื่อเสียง
  • เจ้าของละครอาจจะเป็นหรือเคยรับราชการ??
  • มีความเป็นไปได้ที่เจ้าของละครอาจเป็นนายอำเภอในสมัยนั้น นั่นคือ  ขุนไกรกำแหง  (สอน รตานนท์) 
แผนที่แสดงบริเวณตลาดกระทุ่มแบนซึ่งเป็นบริเวณที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีพระนิพนธ์ถึงไว้
จากข้อมูลที่ผมไ้ดเขียนเล่าและสันนิษฐานไว้นั้น อาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมด แต่ถ้าไม่มีการกระตุ้น สันนิษฐานสิ่งเหล่านี้ไว้ ก็จะหาคนมาต่อยอดได้ลำบาก ดังนั้น หากท่านใดมีข้อมูล เป็นลูกหลานบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ หรือเคยได้ยินเรื่องเล่าจากรุ่นบรรพบุรุษมา ก็รบกวนช่วยแจ้งข้อมูล หรือช่วยบอกเล่าได้เลยนะครับ หวังใจว่าสักวันหนึ่งคงจะเจอข้อมูลที่มีหลักฐานยืนยันได้ชัดเจนขึ้น


๒๕ มิ.ย. ๖๒
แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ ๒๖ มิ.ย. ๖๒
แอดมินกระทุ่มแบนโฟโต้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชื่อ "กระทุ่มแบน" มาจากไหน

"บ้านน้องอยู่ที่ไหนนะ?" "กระทุ่มแบนครับ" "แล้ว กระทุ่มแบน เนี่ย ทำไมมันถึงชื่อนี้?" "อืม..ไม่แน่ใจ...ไม่ทราบเลยครับ" เชื่อได้ว่าคนกระทุ่มแบนหลายคนคงจะคุ้นเคยกับบทสนทนาประมาณข้างต้น ที่ตอบได้เพียงคำถามแรก แต่เมื่อถึงคำถามที่สอง เซลล์สมองอาจต้องวิ่งทำงานเหนื่อยกันเลยทีเดียว สุดท้ายบางคนตอบได้ บางคนเดาไป บางคนถามกลับว่า "อยากจะรู้ไปทำไม" สำหรับผมแล้ว... "กระทุ่มแบน...ทำไมมันถึงชื่อนี้" มันเป็นคำถามที่ค้างคาใจมาหลายปี จนกระทั่งวันที่พอจะมีกำลังและเวลา รวมถึงความพร้อมประกอบอื่นๆ ทำให้ได้ออกค้นหาคำตอบเสียที ภาพแผนที่ตัดเฉพาะส่วนจากกรมแผนที่ทหารบกสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2456 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เปิดตำนาน "ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่มแบน"

หากค้นรูปถ่ายติดบัตรขาวดำเก่าๆ ยุค 2500 ที่บ้านของคนกระทุ่มแบนขึ้นมาดู ผมเชื่อว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรูปถ่ายเหล่านั้น บนมุมซ้ายหรือขวาด้านล่างของรู ปจะต้องมีตราประทับแบบนูนของร้ านถ่ายรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านที่นิยมและได้รั บความไว้วางใจจากชาวกระทุ่ มแบนมาอย่างยาวนาน นั่นคือ "ห้องภาพชูศิลป์ : ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่ มแบน" หลังจากหาเวลานัดหมายกับห้องภาพชูศิลป์ ให้จังหวะลงตัวกับวันที่ ผมพอจะว่างจากทั้ งงานประจำและงานพิเศษในวันหยุ ดเสาร์-อาทิตย์เรียบร้อย ผมจึงได้มีโอกาสฟังเรื่องราวดีๆ จากทายาทผู้ก่อตั้ง "ห้องภาพชูศิลป์" ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2562 คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" ลูกสาวคนโตของเจ้าของห้องภาพชูศิลป์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2492 ได้บอกเล่าให้ผมได้ฟังด้วยรอยยิ้ มอารมณ์ดีถึงประวัติห้องภาพชูศิลป์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในรุ่นของคุ ณพ่อและคุณแม่  คุณพ่อมีลูก 5 คน คือ คุณป้าเป็นคนโต มีน้องชาย 3 คน และน้องสาวคนเล็กอีกคน   คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" จุดเริ่มต้นของอาชีพถ่ายภาพ คุณแม่ป้าเช็งชื่อ ...

กว่า ๙๐ ปี "ร้านกิมกี่" และเรื่องเล่าจากเจ้าของร้าน

ตลาดกระทุ่มแบนเป็นอีกหนึ่งชุมชนอันเป็นศูนย์กลางด้านการค้าที่สำคัญมาหลายร้อยปีในอำเภอกระทุ่มแบน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ตามแนวคลองภาษีเจริญในบริเวณตลาด ใกล้กับจุดที่คลองกระทุ่มแบนตัดผ่านกับคลองภาษีเจริญ หรือคนเก่าๆ ในพื้นที่เรียกกันว่า “ตลาดสี่แยก” หรือ “ตลาดสี่กั๊ก” อันเป็นตลาดน้ำที่คนรุ่นเกิดก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้บอกเล่ากันเป็นเสียงเดียวว่ามีความคึกคัก มีเรือแน่นเป็นร้อยลำทั้งเรือพ่อค้าแม่ค้า และเรือชาวบ้านที่มาจับจ่ายซื้อของในยามเช้า เรือนไม้ริมคลองบริเวณถนนเจริญสวัสดิ์นับตั้งแต่สามแยกโรงพิมพ์วิไลพาณิชย์ยาวเรื่อยไปจนถึงศาลหลวงตาทองก็จะเป็นห้องแถวไม้เก่าที่เป็นแถวแนวยาว บางส่วนมีการก่อสร้างขึ้นในยุค ๒๔๙๐ แต่บางส่วนก็มีการก่อสร้างมาก่อนหน้านั้น มีห้องแถวอยู่ช่วงหนึ่งฝั่งตลาดบริเวณเชิงสะพานแป๊ะกง หรือที่หลายคนเรียกกันอีกชื่อว่า “ตลาดบุญมี” ที่ยังคงสภาพความเป็นเรือนไม้เก่าที่ขนาบข้างด้วยอาคารคอนกรีตที่ปลุกขึ้นมาทดแทน ทำให้ผมได้มีโอกาสได้พอเห็นสภาพเดิมของห้องแถวรุ่นแรกๆ ของตลาดกระทุ่มแบนอยู่บ้าง แต่จะมีอยู่ร้านหนึ่งที่มีป้ายระบุอายุร้านชั...