ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

จาก "วัดกุฏิเดียว" สู่ "ศาลหลวงตาทอง" ในปัจจุบัน





ย่านศาลหลวงตาทองเป็นอีกหนึ่งบริเวณที่เด็กซนอย่างผมเมื่อครั้งวัยเยาว์ต้องปั่นจักรยานไปเที่ยวเล่นวนไปมาผ่านศาลหลวงตาทอง วิ่งเล่นอยู่บริเวณพื้นที่ศาลอยู่ประจำ เมื่อถึงงานประจำปีแม่และพ่อก็จะพาซ้อนท้ายจักรยานบ้าง มอเตอร์ไซค์บ้างเพื่อมาชมงิ้ว ดูหนังในงานประจำปีศาล 

ผมเองยังชอบยืนดูการแสดงงิ้วบนเวที ทั้งเครื่องแต่งกายต่างๆ เสียงร้องสูงที่ไม่เหมือนการแสดงของคนไทยทั่วไป บางครั้งก็ปั่นจักรยานไปคนเดียว ไปดูเขาแต่งหน้าทาแป้งด้วยสีสันสดใส เขียนคิ้ว ทาปากใต้เวที แต่กระนั้นก็มิได้สนใจในประวัติความเป็นมาของศาลหลวงตาทองเท่าใดนัก จวบจนเมื่อโตขึ้นรู้ความมากขึ้นจึงพอได้ฟังเรื่องราวที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังสั้นๆ



หากจะกล่าวถึงประวัติหลวงตาทอง ผมก็นึกถึงหนังสือที่ระลึกงานฉลองศาลหลวงตาทอง เมื่อ ๒๕-๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ขึ้นมาทันที หนังสือเล่มนี้ผมเคยเห็นเมื่อสมัยผมเด็กๆ ครั้ง หนึ่ง แต่ก็ไม่มีเก็บและหาไม่เจออีกเลย จนกระทั่งช่วงออกค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับกระทุ่มแบน ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณตาศิริ เติมประยูร มอบให้จำนวน ๑ เล่ม

ภายในหนังสือเล่มนี้คุณตาศิริ เติมประยูร ยังได้ทำหน้าที่รวบรวม และเรียบเรียงประวัติหลวงตาทองขึ้นมาได้อย่างละเอียดครบถ้วน โดยได้มีการสอบถามข้อมูลจากพระครูสุตาธิการี (หลวงพ่อทองอยู่) แห่งวัดใหม่หนองพะอง ซึ่งในอดีตเคยมีโอกาสได้ปรนนิบัติรับใช้ใกล้ชิด  เรียกได้ว่าเป็น "ศิษย์ก้นกุฏิ" หลวงตาทองเลยทีเดียว รวมถึงได้ข้อมูลจากท่านผู้เฒ่าในบริเวณตลาดกระทุ่มแบนและใกล้เคียงที่มีโอกาสได้ทราบถึงเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการเขียนข้อมูลด้วย  ดังนั้น ผมจึงขอนำบทความที่คุณตาศิริ เติมประยูร ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าว มาพิมพ์เผยแพร่เป็นความรู้กับชาวกระทุ่มแบนและผู้สนใจต่อไปครับ โดยจะแทรกรูปที่เกี่ยวข้องจากหนังสือ และที่ผมเองรวบรวมไว้ในบางช่วงตอน

ประวัติหลวงตาทอง

รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายศิริ เติมประยูร

นายศิริ เติมประยูร - ผู้ริเริ่มก่อตั้งศาลหลวงตาทอง / ผู้รวบรวมข้อมูลเรียบเรียงเขียนประวัติหลวงตาทอง
ภาพจากหนังสือที่ระลึกงานฉลองศาลหลวงตาทอง วันที่ ๒๕-๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๕



หลวงตาทอง เดิมจะอุปสมบท ณ วัดใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด ทราบเพียงว่า ท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดใหม่หนองพะอง ตำบลสวนหลวง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ต่อมาจึงย้ายมาที่วัดนางสาว ตำบลท่าไม้ ในท้องที่อำเภอเดียวกัน  ครั้นเมื่ออายุได้ประมาณ ๕๐ ปีเศษ ท่านได้มายังบริเวณสี่แยกกระทุ่มแบน (บริเวณที่ตั้งศาลปัจจุบัน) และพิจารณาเห็นว่าสถานที่นี้เหมาะสมแก่การตั้งกุฏิสำหรับนั่งวิปัสสนา เพราะในสมัยนั้นเป็นที่ที่สงบเงียบ ปราศจากบ้านเรือนและผู้คน เป็นปารกชัฏมีสิงสาราสัตว์อาศัยอยู่ อีกทั้งยังมีหลุมฝังศพอยู่ทั่วไปในบริเวณนั้น จึงตกลงใจสร้างกุฏิขึ้นหนึ่งหลังซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้น เรียกว่า "วัดกุฏิเดียว" แต่มักจะไม่มีผู้ใดกล้าเดินผ่านมาทางนี้เพราะเป็นที่เปลี่ยวบรรยากาศวิเวกวังเวงไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ซึ่งต่อมาหลวงตาทองก็ได้อยู่จำพรรษาในกุฏิหลังนี้จนสิ้นอายุของท่าน

จากคำบอกเล่าของท่านผู้รู้ทำให้ได้ทราบว่าในสมัยนั้น หลวงตาทองเป็นสมณะที่เคร่งครัดในทางธรรม มีความเซี่ยวชาญในทางเวทย์มนต์คาถาไม่ว่าจะเป็นด้านการอยู่ยงคงกระพัน และเมตตามหานิยม จนเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วบริเวณนั้น นอกจากนี้ท่านยังสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้กับบรรดาชาวบ้าน ดังนั้น เมื่อชาวบ้านคนใดหรือลูกหลานใครเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาก็ได้อาศัยหลวงตาทอง ช่วยรักษาให้ทุเลาเบาบางหรือหายขาดไปได้ทุกคราวไป ซึ่งท่านก็ได้ให้ความอนุเคราะห์เมตตาแก่ทุกคนด้วยดีตลอดมา

ความสามารถที่น่าอัศจรรย์ใจของท่านอีกประการหนึ่งก็คือ สามารถสวดพระปาติโมกข์ได้อย่างถูกต้องไม่มีผิดเพี้ยนแม้ว่าจักษุทั้งสองจะมองไม่เห็น ทั้งยังเดินไปไหนมาไหนด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีคนจูงอีกด้วย เล่ากันว่าเวลาที่ท่านไม่อยู่ในกุฏินั้นหากมีผู้ใดแอบขึ้นไปเที่ยวเล่นก็จะรู้สึกเหมือนกับว่ามีมือของผู้ใดไม่ทราบมาเขกศีรษะจนต้องรีบเผ่นหนีลงมาแทบไม่ทันทุกทีไป จึงไม่มีผู้ใดกล้าขึ้นไปทำยุ่มย่ามเช่นนั้น ในขณะที่ทนไม่อยู่อีกเลย

หลวงตาทองได้จำพรรษาอยู่ ณ ที่แห่งนี้จนอายุได้ประมาณ ๗๐ ปีเศษ ก็ถึงแก่มรณภาพ หลังจากที่ท่านได้มรณภาพไปแล้วชาวบ้านต่างก็ยังพากันกราบไหว้บูชาระลึกถึงท่านอยู่เสมอมา

ต่อมา ในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นชาวตลาดกระทุ่มแบน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งศาลปัจจุบัน ต่างพากันสร้างศาลเล็กศาลน้อยไว้หลายหลัง สอบถามดูก็ได้ความว่าตั้งไว้เพื่อบูชาหลวงตาทองกันทั้งนั้น

ส่วนตัวของข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ทำการค้าอยู่ในบริเวณนี้ดัวย ก็ได้รับการแนะนำจากบิดาคือ นายชัย เติมประยูร ให้ตั้งของไหว้พร้อมทั้งจุดรูปเทียนบูชาสอนให้ข้าพเจ้าเรียกว่า "หลวงพ่อทอง" แล้วขอความคุ้มครองจากท่านให้อยู่เย็นเป็นสุขและประกอบการค้าเจริญรุ่งเรือง ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ถือปฏิบัติเช่นนั้นเป็นประจำตลอดมา เพราะถือว่าท่านเป็นเหมือนเจ้าที่เจ้าทาง ทั้งยังเคยมีพระคุณอย่างล้นเหลือต่อบรรพบุรุษ จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่าน่าที่จะสร้างศาลหลวงตาทองขึ้นมาสักหลังหนึ่งเพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในแถบนี้

ศาลหลวงตาทองหลังแรก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙
ภาพจากหนังสือที่ระลึกงานฉลองศาลหลวงตาทอง วันที่ ๒๕-๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๕


เมื่อนำความไปปรึกษากับบรรดาพ่อค้าและประชาชน ก็ได้รับความเห็นชอบด้วยเป็นอย่างดี  ทุกคนจึงร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างศาลหลวงตาทองหลังแรกขึ้น ตัวศาลทำด้วยไม้ มีขนาดกว้าง ๒ เมตร ยาว ๑.๕๐ เมตร หลังคามุงด้วยสังกะสี ภายในมีรูปสมมุติของหลวงตาทองตั้งอยู่ ๑ องค์ (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ภายในตู้ที่เก็บเครื่องใช้ของหลวงตาทอง) เมื่อก่อสร้างเสร็จก็ได้จัดให้มีงานฉลอง โดยมีพิธีทางศาสนาในตอนเช้า นิมนต์พระสงฆ์ ๙ รูปเจริญพระพุทธมนต์ ถวายภัตตาหารเช้า จากนั้นจึงอัญเชิญรูปสมมุติหลวงตาทองแห่รอบบริเวณตลาดกระทุ่มแบน ตกกลางคืนจัดให้มีมหรสพสมโภชรวม ๔ คืน มีทั้ง
การแสดงลิเก และงิ้ว เนื่องจากว่าประชาชนที่เคารพนับถือในหลวงตาทองนั้นมีมากมายทั้งชาวไทยและชาวจีน สำหรับงิ้วนั้นจัดให้แสดงประชันกันถึง ๒ คืน แต่ในคืนประชันนั้นปรากฏมีฝนตกลงมาอย่าง
หนักทำให้ทั้งคนดูและคนแสดงต่างเปียกปอนไปตามๆ กัน และจากนั้นมาเมื่อมีศาลหลวงตาทองตั้งไว้เป็นหลักแหล่งถาวรแล้วประชาชนทั่วไปต่างก็พากันมากราบไหวับูชาเป็นประจำมิได้ขาด ถึงวันเทศกาล
สำคัญไม่ว่าจะเป็นตรุษจีน สารทจีนก็จะนำเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ มาถวายท่านกันอย่างเนืองแน่นในทุกๆ ปี ศาลเล็กศาลน้อยที่เคยตั้งไว้ก็ค่อยๆ ยุบไปจนหมด

ครั้งหนึ่งรูปสมมุติหลวงตาทองที่ตั้งไว้ภายในศาลนั้นเกิดหายไปโดยไม่มีร่องรอย ซึ่งก่อนหน้านั้นก็เคยปรากฏว่ารูปเจ้าแม่กวนอิมทำด้วยหยกจากประเทศจีน ซึ่งเป็นของเก่าแก่ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษที่ข้าพเจ้านำมาถวายไว้ได้หายไปเช่นกัน ครั้งนี้ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าจะทนนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้เสียแล้ว จึงออกติดตามสืบเสาะอยู่เป็นเวลาหลายวัน จนได้ทราบข่าวว่าขณะนี้มีผู้พบเห็นรูปสมมติองค์นี้อยู่ที่บริเวณตำบลท่าเสา แต่ไม่ทราบเป็นที่แน่นอนว่าตกอยู่กับผู้ใด ข้าพเจ้าจึงเริ่มลัดเลาะสอบถามไปเรื่อยๆ จนถึงบริเวณคลองท่าเสา ได้พบกับท่านผู้เฒ่าท่านหนึ่ง จึงเข้าไปกราบแจ้งความประสงค์และสอบถามท่านโดยหวังว่าบางทีท่านอาจจะทราบว่ารูปสมมุติที่หายไปนั้น ขณะนี้อยู่ที่ใด เมื่อท่านผู้นั้นได้ฟังก็หัวเราะแล้วชี้มือไปทางหนึ่งพร้อมกับพูดว่า "โน่น" อยู่บนหัวนอน ฉันเก็บได้ที่วัดเลยนำมาบูชาไว้ที่นี้เพราะเคยได้ยินกิตติศัพท์ของท่านมาแล้ว ข้าพเจ้าดีใจมาก จึงขอคืนจากท่านเพื่อให้เป็นที่สักการบูชาแก่ผู้ที่เคารพศรัทธาต่อไป ท่านผู้เฒ่าก็ยอมคืนให้แต่โดยดีและไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น รูปสมมุติองค์นั้นจึงได้กลับคืนมาเป็นที่สักการบูชาของชาวกระทุ่มแบนอีกครั้ง คราวนี้เป็นรูปหล่อปูนป้องกันไว้แข็งแรงแน่นหนา จึงไม่มีการสูญหายไปไหนอีก

สำหรับความเป็นมาของรูปสมมุติหลวงตาทององค์นี้ คือเดิมทีนั้นเมื่อก่อสร้างศาลเสร็จ ข้าพเจ้าและคณะกรรมการต่างมีความเห็นว่า ควรจะมีรูปสมมุติตั้งไว้สักองค์หนึ่งเพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชาและระลึกถึงหลวงตาทอง เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยข้าพเจ้าจึงตั้งจิตอธิษฐานขึ้นว่าหากมีรูปสมมุติองค์ใดที่มีลักษณะเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงโดยจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล และความเจริญรุ่งเรืองแก่ชาวกระทุ่มแบนแล้ว ขอบารมีแห่งหลวงตาทองโปรดจงมาดลจิตดลใจช่วยชี้นำให้ข้าพเจ้าได้พบรูปสมมุติองค์นั้นด้วย

จากนั้นจึงเดินทางเข้ากรุงเทพมาถึงบริเวณหัวเม็ด สะพานหัน สายตาเหลือบไปเห็นร้านค้า ซึ่งภายในร้านตั้งพระบูชาไว้องค์หนึ่งหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เป็นรูปพระสงฆ์ในท่านั่งสมาธิมีลักษณะงดงามมากจนทำให้ข้าพเจ้าต้องเข้าไปพิจารณาดูใกล้ๆ ก็ยิ่งพอใจและปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาตั้งไว้ในศาลหลวงตาทองจึงเจรจาขอเช่าจากเจ้าของพระซึ่งก็ยินดีที่จะให้เช่าโดยคิดราคา ๑๐๐ บาท แต่เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญก้าวหน้าต่อไป ข้าพเจ้าขอต่อรองลงมาเป็น ๙๙ บาท จึงได้นำกลับมาตั้งไว้กราบไหว้บูชาสมดังความปรารถนา โดยมาทราบในภายหลังว่าพระบูชาองค์นั้นเป็นรูปจำลองขององค์สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี หรือที่เราท่านนับถือท่านในนาม "สมเด็จโต วัดระฆัง" นั่นเอง


ศาลหลวงตาทองหลังที่ ๒ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔
ภาพจากหนังสือที่ระลึกงานฉลองศาลหลวงตาทอง วันที่ ๒๕-๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๕


 
 
พิธีเปิดศาลหลวงตาทองหลังหลังที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔
ภาพจากหนังสือที่ระลึกงานฉลองศาลหลวงตาทอง วันที่ ๒๕-๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๕






ยิ่งนานวันจำนวนผู้คนที่พากันมากราบไหว้หลวงตาทอง ก็เพิ่มมากขึ้นทั้งชาวไทยและชาวจีน ศาลหลวงตาทองจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอกระทุ่มแบน แต่เมื่อมีผู้คนมาสักการะกันมากๆ ตัวศาลก็ดูเหมือนจะเล็กและคับแคบเกินไป ดังนี้ในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๔ พ่อค้าประชาชนชาวตลาดกระทุ่มแบนก็ได้พร้อมใจกันสร้างศาลใหม่ขึ้นอีกหนึ่งหลังให้ใหญ่โตกว้างขวางกว่าเดิมเพราะมีขนาดกว้างถึง ๓ เมตร ยาว ๕ เมตร ผนังคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้อง ได้มีการทำพิธีเปิดศาลเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๐๔ โดยท่านนายอำเภอกระทุ่มแบน (แอดมินกระทุ่มแบนโฟโต้เพิ่มเติม : นายอำเภอสมัยนั้นคือ นายรัตน์ นราภิรักษ์) เป็นประธานในพิธีเปิด

นอกจากนี้ ยังได้นำรูปจำลองขนาดเท่าองค์จริงของหลวงตาทองซึ่งร่วมกันออกแบบโดย มหาเงิน แช่มสาคร กับข้าพเจ้า แล้วว่าจ้างให้ช่างผู้ชำนาญจากกรุงเทพฯ เป็นผู้หล่อแล้วนำมาประดิษฐานไว้ภายในศาลโดยมีการกระทำพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อเป็นการอัญเชิญดวงวิญญาณของหลวงตาทองมาสิงสถิตซึ่งทางคณะกรรมการได้นิมนต์พระญวนจากวัดหลวงพ่อบ๋าวเอิงสะพานขาวมาร่วมพิธีด้วย ซึ่งได้มีปรากฏ
การณ์ปาฏิหาริย์หลายอย่าง ปรากฏแก่สายตาของผู้ที่มาร่วมพิธีในวันนั้นโดยทั่วหน้ากันและในปีต่อๆ มาก็ได้ถือเอาเดือนมีนาคมนี้เป็นเวลาที่จัดให้มีงานสมโภช มีมหรสพต่างๆ ให้ชมฟรีในทุกๆ ปี บางปีเคยมีงิ้วประชันระหว่างงิ้วแต้จิ๋วกับงิ้วไหหลำ ก็ปรากฏว่ามีผู้คนให้ความสนใจมาร่วมงานกันมากมายอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว


พลเรือตรีชัชวาลย์ ศรีสุวรรณ รน. ผู้บริจาคที่ดินสร้างศาลหลวงตาทองหลังปัจจุบัน
ภาพจากหนังสือที่ระลึกงานฉลองศาลหลวงตาทอง วันที่ ๒๕-๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๕



สำหรับการสร้างศาลหลังที่สองนี้ก็เช่นเดียวกับหลังแรก คือได้รับความร่วมมือร่วมใจจากชาวอำเภอกระทุ่มแบนเป็นอย่างดี เริ่มต้นจากท่านเจ้าของที่ดินคือ พลเรือตรีชัชวาลย์ ศรีสุวรรณ รน. ซึ่งได้สละที่ดินให้ทำการขยายเนื้อที่บริเวณตัวศาลได้ตามสะดวกอย่างไม่จำกัดจำนวน อีกทั้งยังกรุณาช่วยออกแบบตัวศาล ช่วยกำหนดสีพร้อมกับรับเป็นประธานจัดงานประจำปีมาทุกๆ ปีจนถึงปัจจุบันนับเป็นบุญบารมีของหลวงตาทองและเป็นความโชคดีของพวกเราชาวกระทุ่มแบนเป็นอย่างยิ่งที่ท่านผู้นี้ได้อุทิศที่ดินให้สร้างศาลและร่วมงานด้วยดี ทั้งแรงกายและใจเสมอมาทุกๆ ปี หาไม่แล้วศาลหลวงตาทองอันสง่างามเป็นสะพานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งทางใจของพวกเราจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ ข้าพเจ้าผู้เขียนขอขอบคุณท่านพลเรือตรีชัชวาลย์ ศรีสุวรรณ แทนชาวกระทุ่มแบนไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งด้วยความจริงใจ

ความภาคภูมิใจของชาวกระทุ่มแบนเกี่ยวกับตาลหลวงตาทองนี้อย่างหนึ่งคือ เมื่อครั้งที่จอมพลประภาส จารุเสถียร ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น ได้มาตรวจราชการที่อำเภอกระทุ่มแบน จอมพลประภาสฯ พร้อมคณะผู้ติดตามราว ๓๐ คน ยังได้แวะกราบนมัสการปิดทองหลวงตาทอง เนื่องจากได้ทราบถึงกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติแก่อำเภอกระทุ่มแบนเป็นอย่างยิ่ง

---

และทั้งหมดข้างต้นก็คือประวัติทั้งหมดที่ผมคัดลอกมาให้ได้อ่านกันครับ ส่วนเรื่องของปาฎิหาริย์และเรื่องเล่าอื่นๆ ของหลวงตาทองที่อยู่ในหนังสือเล่มเดียวที่คัดลอกมานี้ จะทยอยนำเสนอในโอกาสถัดไปครับ หวังว่าทุกท่านที่เข้ามาอ่านจะได้รับความรู้ และถ่ายทอดบอกเล่ารุ่นลูก รุ่นหลานและคนในพื้นที่ เพื่อเป็นประโยขน์สืบไปครับ ที่สำคัญผมเองในฐานะคนรุ่นหลังต้องขอบคุณคุณตาศิริ เติมประยูร ที่ช่วยบันทึกเรียบเรียงข้อมูลเหล่านี้ไว้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนรุ่นหลังมากๆ ครับ ปัจจุบันถ้าผมจำไม่ผิดคุณตาน่าจะอายุเกือบ ๑๐๐ ปีแล้วครับ ผมขอบุญกุศลในความดีที่คุณตาศิริได้มีส่วนร่วม ส่วนทำทั้งหมด และบารมีหลวงตาทอง ได้โปรดคุ้มครอง อำนวยอวยพรให้ท่านมีอายุยืนนานเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่ครอบครัวท่าน และคนกระทุ่มแบนสืบไปครับ



บริเวณย่านศาลหลวงตาทอง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓
เจ้าของภาพ Facebook : Maysa Meesiri ครับ

บริเวณย่านศาลหลวงตาทอง น่าจะถ่ายหลังช่วง พ.ศ. ๒๕๑๓
เจ้าของภาพ Facebook คุณโชค สนามหลวง เมทัลไทย

บริเวณหน้าศาลหลวงตาทอง ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๖
เจ้าของภาพ คุณคณนภัส อินทร์พิทักษ์

รูปหล่อองค์หลวงตาทอง ภายในศาลหลวงตาทอง ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕
เจ้าของภาพ โรงพิมพ์ศรีการช่าง



รูปหล่อองค์หลวงตาทอง ภายในศาลหลวงตาทอง ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕
จากฐานองค์หลวงตาทองสลักชื่อว่า "นางกิมเก้ก เรียบร้อยเจริญ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔"
เจ้าของภาพ โรงพิมพ์ศรีการช่าง





โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชื่อ "กระทุ่มแบน" มาจากไหน

"บ้านน้องอยู่ที่ไหนนะ?" "กระทุ่มแบนครับ" "แล้ว กระทุ่มแบน เนี่ย ทำไมมันถึงชื่อนี้?" "อืม..ไม่แน่ใจ...ไม่ทราบเลยครับ" เชื่อได้ว่าคนกระทุ่มแบนหลายคนคงจะคุ้นเคยกับบทสนทนาประมาณข้างต้น ที่ตอบได้เพียงคำถามแรก แต่เมื่อถึงคำถามที่สอง เซลล์สมองอาจต้องวิ่งทำงานเหนื่อยกันเลยทีเดียว สุดท้ายบางคนตอบได้ บางคนเดาไป บางคนถามกลับว่า "อยากจะรู้ไปทำไม" สำหรับผมแล้ว... "กระทุ่มแบน...ทำไมมันถึงชื่อนี้" มันเป็นคำถามที่ค้างคาใจมาหลายปี จนกระทั่งวันที่พอจะมีกำลังและเวลา รวมถึงความพร้อมประกอบอื่นๆ ทำให้ได้ออกค้นหาคำตอบเสียที ภาพแผนที่ตัดเฉพาะส่วนจากกรมแผนที่ทหารบกสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2456 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

วัดนางสาวมีโบสถ์ มหาอุด หรือ มหาอุตม์ เขียนแบบไหน?

โบสถ์มหาอุด วัดนางสาว ถ่ายเมื่อ 1 ม.ค. 2562 คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อถ้าบอกว่าเป็นคนกระทุ่มแบนแต่ไม่รู้จักวัดนางสาว เพราะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในด้านการพัฒนา มีตำนานเรื่องเล่ามากมายหลากหลายเรื่อง รวมถึงโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์และพิเศษกว่าหลายๆ โบสถ์ของวัดในเมืองไทย ส่วนประวัติวัดนางสาว และเรื่องราวประกอบอื่นๆ ผมคงได้รวบรวมข้อมูล ประวัติต่างๆ เพื่อเขียนให้ได้อ่านกันในบทความถัดๆ ไป ในตอนนี้ขอกล่าวถึง โบสถ์หรืออุโบสถที่วัดนางสาว  อายุเก่าแก่กว่า 400 ปี ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีพาไลหรือพะไลยื่นออกมา 1 ห้อง (พาไลหรือพะไล แปลว่า เรือนหรือเพิงโถง ต่อจากเรือนเดิมหรืออยู่ในบริเวณของเรือนเดิม ใช้เป็นที่นั่งเล่นหรือประโยชน์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน)  มีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคาจำนวน 4 ต้น ช่อฟ้าใบระกาเป็นปูนปั้นประดับกระจก ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูเข้าออกด้านหน้าเพียงประตูเดียว ไม่มีหน้าต่าง ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมใหม่โดยปูหินอ่อนภายใน มีลายจิตรกรรมฝาผนัง ด้านผนังนอกมีการปรับเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาที่มี

เปิดตำนาน "ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่มแบน"

หากค้นรูปถ่ายติดบัตรขาวดำเก่าๆ ยุค 2500 ที่บ้านของคนกระทุ่มแบนขึ้นมาดู ผมเชื่อว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรูปถ่ายเหล่านั้น บนมุมซ้ายหรือขวาด้านล่างของรู ปจะต้องมีตราประทับแบบนูนของร้ านถ่ายรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านที่นิยมและได้รั บความไว้วางใจจากชาวกระทุ่ มแบนมาอย่างยาวนาน นั่นคือ "ห้องภาพชูศิลป์ : ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่ มแบน" หลังจากหาเวลานัดหมายกับห้องภาพชูศิลป์ ให้จังหวะลงตัวกับวันที่ ผมพอจะว่างจากทั้ งงานประจำและงานพิเศษในวันหยุ ดเสาร์-อาทิตย์เรียบร้อย ผมจึงได้มีโอกาสฟังเรื่องราวดีๆ จากทายาทผู้ก่อตั้ง "ห้องภาพชูศิลป์" ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2562 คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" ลูกสาวคนโตของเจ้าของห้องภาพชูศิลป์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2492 ได้บอกเล่าให้ผมได้ฟังด้วยรอยยิ้ มอารมณ์ดีถึงประวัติห้องภาพชูศิลป์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในรุ่นของคุ ณพ่อและคุณแม่  คุณพ่อมีลูก 5 คน คือ คุณป้าเป็นคนโต มีน้องชาย 3 คน และน้องสาวคนเล็กอีกคน   คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" จุดเริ่มต้นของอาชีพถ่ายภาพ คุณแม่ป้าเช็งชื่อ &quo