ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เปิดตำนาน "ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่มแบน"


หากค้นรูปถ่ายติดบัตรขาวดำเก่าๆ ยุค 2500 ที่บ้านของคนกระทุ่มแบนขึ้นมาดู ผมเชื่อว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรูปถ่ายเหล่านั้น บนมุมซ้ายหรือขวาด้านล่างของรูปจะต้องมีตราประทับแบบนูนของร้านถ่ายรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านที่นิยมและได้รับความไว้วางใจจากชาวกระทุ่มแบนมาอย่างยาวนาน นั่นคือ "ห้องภาพชูศิลป์ : ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่มแบน"



หลังจากหาเวลานัดหมายกับห้องภาพชูศิลป์ ให้จังหวะลงตัวกับวันที่ผมพอจะว่างจากทั้งงานประจำและงานพิเศษในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เรียบร้อย ผมจึงได้มีโอกาสฟังเรื่องราวดีๆ จากทายาทผู้ก่อตั้ง "ห้องภาพชูศิลป์" ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2562

คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" ลูกสาวคนโตของเจ้าของห้องภาพชูศิลป์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2492 ได้บอกเล่าให้ผมได้ฟังด้วยรอยยิ้มอารมณ์ดีถึงประวัติห้องภาพชูศิลป์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในรุ่นของคุณพ่อและคุณแม่  คุณพ่อมีลูก 5 คน คือ คุณป้าเป็นคนโต มีน้องชาย 3 คน และน้องสาวคนเล็กอีกคน  

คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง"

จุดเริ่มต้นของอาชีพถ่ายภาพ

คุณแม่ป้าเช็งชื่อ "นางมุกดา วิทยาคม" พอแต่งงานก็เปลี่ยนมาใช้ นามสกุล "แซ่ปึง" ของคุณพ่อ
อาปาหรือคุณพ่อชื่อ "นายเตี๋ยงเพ้ง  แซ่ปึง" หรือ "เตี๋ยง" (เตี๋ยง แปลว่า แสงสว่าง) เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว เกิดเมื่อ พ.ศ. 2465

นายเตี๋ยงเพ้ง (คนขวาสุด) ถ่ายร่วมกับพ่อ (อากง) และพี่น้อง ที่ห้องภาพวิจิตรศิลป์ ตลาดพลู

"นายเตี๋ยงเพ้ง แซ่ปึง" หรือ "เตี๋ยง" ช่วงวัยรุ่น
"นายเตี๋ยงเพ้ง แซ่ปึง" หรือ "เตี๋ยง" 
"นางมุกดา แซ่ปึง (นามสกุลเดิม) วิทยาคม"

อาม้า (แม่ของคุณพ่อ) มาจากเมืองจีน อพยพมากับก๋ง มาตั้งรกรากเมืองไทย และให้กำเนิดพ่อที่เมืองไทย พ่ออาศัยอยู่ตลาดพลู ย่านหลังสถานีรถไฟ ได้มีโอกาสเรียนหนังสือแค่ชั้นประถม แล้วก็ต้องออกมาทำมาหากินช่วยอาม้า สมัยพ่อเด็กๆ ย่านตลาดพลูยังมีสวนพลู พ่อจะเก็บพลูขาย พายเรือเก็บ-ส่งอ้อย ตัดอ้อย

หลังจากนั้นพ่อไปเป็นลูกจ้างร้านถ่ายรูป "วิจิตรศิลป์" ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของตลาดพลู โดยได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพจากที่นี่  เมื่อเป็นลูกจ้างได้สักระยะหนึ่ง ราว พ.ศ. 2484 ก็หนีสงครามโกลครั้งที่ 2 เนื่องจากที่ตลาดพลูอยู่ใกล้สถานีรถไฟซึ่งเป็นจุดที่มีการทิ้งระเบิด มาอยู่ที่กระทุ่มแบน แถบริมแม่น้ำในสวน มารับจ้างตัดอ้อย แต่พ่อไม่ได้บอกว่าบริเวณไหน และขยับมาเรื่อยเข้ามาแถบตลาดสี่แยก (สี่กั๊ก) ประมาณ พ.ศ. 2485 จึงย้ายมาอยู่ย่านตลาดกระทุ่มแบนช่วงก่อนแต่งงาน
หลังจากนั้นก็มีคนชักนำให้มาแต่งงานกับแม่ แล้วก็ได้ตั้งร้านถ่ายรูปขึ้น 

กำเนิด "ห้องภาพชูศิลป์"

คุณพ่อเริ่มตั้งร้านถ่ายรูปตั้งครั้งแรกวันที่เท่าไหร่ไม่ทราบเพราะป้ายังไม่เกิด แต่น่าจะประมาณ พ.ศ. 2488-2490 โดยไปเช่าที่ดินของโรงสีแห่งหนึ่งซึ่งคุณป้าจำชื่อโรงสีไม่ได้ แต่เรียกกันติดปากว่า "หลงจื๊อ" เป็นโรงสีแห่งแรกของตลาดกระทุ่มแบนที่มีมานานแล้ว (หลังจากนั้นก็มีโรงสีอื่นๆ ในตลาด รวม 3 แห่ง นั่นคือ โรงสีคลองโต้เฮง โรงสีตลาดป้าหมุยแช)


ตำแหน่งที่ตั้งห้องภาพชูศิลป์แห่งแรก
ภาพจาก Google Map

ร้านแห่งแรกนี้ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 71 (ปัจจุบันเป็นห้องแถวไม้ที่ผุๆ ใกล้จะพังแล้ว บ้านของคุณจ้ก ติดกับร้านขายพวงมาลัย ร้านหมอประเสริฐ ถัดจากร้านปัจุบันนี้ไปประมาณ 8 ห้อง ก่อนถึงร้านข้าวมันไก่) เดิมเลยเป็นห้องชั้นเดียว แล้วมาต่อเติมทีหลังเป็น 2 ชั้น  หน้าร้านครึ่งหนึ่งขายกาแฟ ส่วนหลังบ้านก็ถ่ายรูป  โดยกาแฟหน้าร้านนั้น ขายไม่ค่อยดีจนแม่ของคุณป้าชอบเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟังอยู่บ่อยว่า  

"อาปาขายกาแฟน่ะ แกรู้ไหม แมวเข้าไปนอนในเตาทุกวันเลย" ป้าเลยถามว่า "แมวมันไม่ร้อนเหรอ" แม่คุณป้าบอกว่า "แมวมันจะร้อนได้ไง ไม่ได้ติดเตา เพราะไม่ได้ขายเลย"  คุณป้าเล่าจบตามเสียงหัวเราะ

ดังนั้นเมื่อกาแฟหน้าร้านขายไม่ดี ประกอบกับกิจการถ่ายรูปดีขึ้น จึงเลิกขายกาแฟไปในที่สุด เหลือเพียงกิจการถ่ายรูปเพียงอย่างเดียว

ช่วงแรกที่เปิดร้านถ่ายรูป คนกระทุ่มแบนสมัยนั้นเริ่มรู้จักการถ่ายภาพแล้ว บางคนก็มาถ่ายในร้านเพื่อไปแจกกันสมัยก่อนชอบแจกรูป มีท่าถ่ายต่างๆ บางคนก็ไปท่องเที่ยวมาก็จะเอามาให้พ่อล้าง แล้วก็อัดเป็นรูปเล็กๆ 3 นิ้ว เท่าที่คุณป้าจำความได้ ค่าถ่ายรูปติดบัตรโหลละ 3-4 บาท ส่วนรูปที่อัดในร้านจำไม่ได้วว่าเท่าไหร่ แต่ไม่แพงมาก

อุปกรณ์ในการถ่ายภาพ คุณพ่อเริ่มจากการสะสมเงิน ค่อยๆ ซื้อทีละชิ้น จนมีครบหมดทุกอย่าง เวลาไม่มีสตางค์ก็จะยืมญาติพี่น้องที่อยู่กรุงเทพฯ หรือเจ๊กหวัง ที่ขายปลาเค็มซึ่งนับว่าเป็นญาติเหมือนกัน

ป้าเช็ง กำลังเตรียมถ่ายรูปติดบัตรให้ลูกค้า
โดยยังมีโคมไฟ และเก้าอี้ไม้สัก ที่ใช้งานมาแต่เริ่มแรกของห้องภาพชูศิลป์


กล้องตัวแรกของร้านเลย น่าจะเป็นกล้องตัวเล็ก ขนาดประมาณ 40-50 เซ็นติเมตรแบบที่เปิดแล้วยืดได้ พกติดตัวสะพายไปถ่ายที่ไหนๆ เวลายืดจะมีแขนออกมารับ ถ้าไปถ่ายนอกสถานที่ต้องเอาขาตั้งกล้องไปด้วยได้ แล้วเอากล้องไปตั้ง มีผ้าปิด กระโปรงกล้องเป็นกระดาษ ต้องสั่งซื้อนำเข้าจากเมืองนอก จำยี่ห้อไม่ได้ ปัจจุบันกล้องนี้ก็ยังอยู่ แต่ช่วงน้ำท่วมขนย้ายไปรวมๆ กันแล้วเลยไม่ได้ค้นต่อว่าอยู่ตรงไหน

หลังจากนั้นพ่อก็ค่อยๆ ซื้อเพิ่มเรื่อยๆ อย่างไฟที่ถ่ายหน้าร้าน ก็ซื้อในรุ่นของพ่อ เก้าอี้ก็เช่นกัน เป็นเก้าอี้ไม้สักแบบหมุนได้ น่าจะซื้อมาจากประเทศเช็คโกสโลวาเกีย

ซองกระดาษใส่รูปของห้องภาพชูศิลป์แบบต่างๆ ในช่วงปีใช้งานที่ต่างกัน
คุณสมปอง หัตถวงษ์ บริจาคให้ เพจกระทุ่มแบนโฟโต้


เครื่องปั๊มตราห้องภาพชูศิลป์แบบดุนนูนเครื่องดั้งเดิม สำหรับปั๊มตราลงบนรูปถ่ายแสดงเป็นตรากำกับผลงานของห้องภาพ

สมัยตั้งร้านช่วงแรก พ.ศ. 2488-2489 ต้องใช้แสงแดดในการถ่ายภาพ ระยะหลังมีไฟฟ้าให้ใช้เปิดปิดตามช่วงเวลา สมัยนั้นมีโรงไฟฟ้าใช้เครื่องปั่น อยู่แถวโรงรับจำนำปัจจุบัน ส่วนไฟแฟลช ลักษณะเป็นหลอดไยๆ จะใช้ในการถ่ายนอกสถานที่ ใช้แล้วหลอดทิ้งเลยเพราะหลอดจะไหม้ ส่วนถ่ายในบ้านจะใช้เครื่องปั่นไฟสำหรับใช้สปอตไลท์ถ่ายรูป  

ยุคแรกนั้นเริ่มถ่ายด้วยฟิล์มกระจกเนกาทิฟ ขนาดประมาณ 5 นิ้ว ถ่ายเสร็จแล้วต้องนัดลูกค้านานมากกว่าจะให้มารับรูป เพราะถ่ายเสร็จ ต้องนำฟิล์มไปล้าง ล้างเสร็จมาใส่ขาตั้งให้แห้ง แล้วแต่งรูปให้สวย เขียนคิ้วเขียนตาเขียนปาก เมื่อเรียบร้อยแล้วจะนำกระจกไปอัด โดยจะมีเครื่องอัดเป็นตู้ไฟไม้สัก ข้างบนเป็นไฟ แล้วจะมีเฟรมวาง มีกระดาษอัดรูป ภาพจะสะท้อนลงไปบนกระดาษ โดยจะมีวิธีการนับเวลาสำหรับฟิล์มบาง ฟิล์มหนาจะนับเท่าไหร่ คุณป้าเคยเข้าไปดูพ่อทำ เช่น ถ้าฟิล์มนี้หนาจะนับนานหน่อย นับ 1-10 ถ้าบางนับ 8 นับในใจจากประสบการณ์ แล้วก็ปิดไฟ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ใช้นาฬิกาจับเวลา หลังจากนั้นก็นำกระดาษไปล้างในน้ำยา พอขึ้นเป็นรูปได้ที่แล้วก็จะยกจากน้ำยานี้ ไปแช่น้ำยาอีกตัวหนึ่งเพื่อให้รูปคงทน โดยจะทำได้ครั้งละภาพ ไล่ไปในถาด โดยมีคุณแม่เป็นคนช่วย ขั้นตอนเหล่านี้ทำในห้องมืด มีไฟสีแดงดวงเล็กๆ ดวงเดียว มองไม่ค่อยเห็นชัด การหยิบจับต้องอาศัยความชำนาญคุ้นเคย  คุณป้าไม่ค่อยได้เข้าไปช่วยในห้องมืดบ่อยเพราะพ่อบอกว่าเกะกะ ห้องแคบ พอเข้าไป 2-3 คนก็จะชนกันแล้ว แต่เขาจะเรียกเข้าไปดูว่าทำอย่างไรบ้าง อยากรู้เลยเข้าไปช่วย น้องทุกคนเรียนรู้หมด 

คุณพ่อเปิดร้านแห่งแรกสักระยะหนึ่ง ทางโรงสีก็บอกขายบ้าน เนื่องจากกิจการโรงสีเริ่มไม่ดี โดยทางเขาจะขาย 7,000 บาทเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว พ่อก็เริ่มเก็บเงินเพื่อจะซื้อ พ่อกับแม่ช่วยกันเก็บสตางค์ ทองมีเท่าไหร่ขายหมด จนเก็บได้ครบ แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง ทางโรงสีไม่ได้ขายให้แล้ว  ประมาณ พ.ศ. 2496-2498 จึงย้ายไปเช่าอีกห้องหนึ่งของป้าบังอร เปี่ยมพูนสุข ตรงร้านดาราทองในปัจจุบัน คือบ้านเลขที่ 95 เป็นห้องแถวบ้านไม้ 2 ชั้น ลึกประมาณ 8 เมตร แต่ต้องต่อเติมเพิ่มเองอีกเพื่อให้ได้ระยะในการถ่ายภาพ ถ้าภาพหมู่ต้องถอยไกลหน่อย ถ้าภาพบุคคลก็ใกล้เข้าไปอีกหน่อย เพราะกล้องสมัยนั้นขนาดใหญ่แบบคลุมโปงต้องใช้ระยะในการถ่ายภาพไกล แต่บ้านเช่าระยะพื้นที่สั้น ครั้งนี้แม่กับคุณพ่อลงทุนไปเยอะ  ตอนนี้กล้องรุ่นเดียวกันกับที่เคยใช้เป็นรุ่นเดียวกับที่จัดแสดงในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 จ.กาญจนบุรี ซึ่งได้ไปเห็นขณะที่ไปเที่ยวกับคุณพ่อ ยังคุยกันว่ากล้องของเขาเข้าพิพิธภัณฑ์แล้ว แต่ของเรายังใช้ได้อยู่

กล้องรุ่นเดียวกันกับที่ห้องภาพชูศิลป์เคยใช้ตัวแรก
จัดแสดงในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 จ.กาญจนบุรี
ภาพจาก www.thongteaw.com

เมื่ออยู่ไปได้สักพัก โรงสีถูกธนาคารยึด ถูกขายทอดตลาด หลังจากนั้นมีป้าหงส์กับป้าเอ็ง ไปซื้อทอดตลาดจากธนาคารแหลมทองมา แล้วมาแบ่งขายเป็นหลังๆ แม่บอกว่าจะต้องเก็บเงินซื้อให้ได้ตรงนี้ จึงเก็บเงินเพื่อซื้อให้ได้ และซื้อได้ที่เปล่าๆ เมื่อราว พ.ศ. 2516  ในบริเวณใกล้เคียงกับตำแหน่งแรกที่ตั้งร้าน จนกระทั่ง พ.ศ. 2518 ก็เริ่มอยากปลูกบ้านบนที่ดินผืนนี้แล้ว เจ้าของที่ดินในย่านแถวนั้นก็หาผู้รับเหมามาปลูก ซึ่งเราก็ต้องปลูกตามเพื่อนบ้าน เริ่มปลูก พ.ศ. 2518 เสร็จปี พ.ศ. 2519 แต่ก็ยังไม่เรียบร้อยดี โดยค่อยๆ ตกแต่งให้เรียบร้อย และทยอยย้ายของมาที่หลังปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้นครึ่ง บ้านเลขที่ 67/1

ห้องภาพชูศิลป์ เลขที่ 67/1 หลังปัจจุบัน ราวยุค 2520

ราว พ.ศ. 2510 เริ่มใช้ฟิล์มเนกาทิฟขาวดำแพร่หลาย คนกระทุ่มแบนถ่ายรูปกันเยอะมาก พ่อทำไม่ทันเลย กลางคืนแทบไม่ได้นอนเลย เพราะต้องล้างฟิล์มด้วย ถ่ายนอกสถานที่ด้วย ถ่ายในร้านด้วย อัดรูปนักเรียน รูปคนสมัครงาน ทุกที่ทุกคนใกล้ๆ บริเวณนี้ มาจากดำเนินสะดวกก็มี แคราย คลองตัน มหาชัยก็มี มาที่นี่หมดเลย

ยุคนั้นร้านถ่ายภาพยังไม่เยอะ กระทุ่มแบนมีร้านเดียว มหาชัยน่าจะมีร้านหนึ่งแต่ไม่แน่ใจชื่ออะไร จนคนเขาร่ำรือกันว่าห้องภาพชูศิลป์นี้ถ่ายรูปสวย ก็มากันที่ร้านนี้ นั่งเรือกันมาจอดที่ศาลาท่าน้ำหน้าบ้าน แล้วก็ถือโอกาสมาตลาดสี่แยกซื้อของกันด้วย เรียกว่าเป็นร้านที่ขึ้นชื่อสมัยนั้นเลย ถ้าพูดถึงห้องภาพชูศิลป์ คนรู้จักกันหมด วันหนึ่งมีคนมาล้างอัดฟิล์มเยอะมากจนทำไม่ทัน บางทีนัดแล้วมารับไม่ได้ก็บ่นกัน ที่ร้านจะมี 3 บริการ คือ ถ่ายนอกสถานที่  ถ่ายรูปติดบัตร และล้างฟิล์มชาวบ้านทั่วไป

รูปที่ไปถ่ายนอกสถานที่ มาล้าง มาอัดโดยใช้กระดาษ  ถ้าใช้กระดาษมัน เมื่อล้างเสร็จปุ๊บมันจะไม่มันเองโดยอัตโนมัติ ต้องมาเคลือบด้วยผงอะไรสักอย่าง เหมือนผงลิ้นทะเล ต้องมาขัดให้มันเงาแว้บเลย ลื่นๆ พอรูปล้างขึ้นมาแล้วก็มาแปะใส่กระจกตอนเปียกๆ เป็นแถวเลย ไปตั้งในคอกให้มันแห้ง พอเช้ามามันแห้งก็จะร่วงลงมา มันก็จะเป็นกระดาษมันเงาๆ เหมือนกระจก ถ้าไม่ทำแบบนี้กระดาษจะไม่มัน จะแค่ด้านๆ เงาแต่ไม่มัน ส่วนกระดาษด้านมันจะเป็นเนื้อคล้ายๆ แบบผ้า

คุณป้าได้เรียนรู้วิธีล้างภาพในห้องมืดมาบ้าง โดยจำสูตรน้ำยาได้แค่ช่วงนั้น ไม่ได้จดจนลืมไป จำไม่ได้แล้ว พ่อก็จะเล่าให้ฟัง น้ำยาจะมี 4 ชนิด โบรไมต์ อะไรต่ออะไร ไอ้นี่ 2 ช้อน ไอ้นั่นช้อนนึง พ่อไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษ แต่เรียกใช้จนชำนาญ จำได้ ไม่ได้บอกลูกว่าใช้กี่ช้อน กี่กรัม ตวงยังไง โดยจะมีตัวหนึ่งแพงมาก ซึ่งตัวนี้ต้องใช้ตราชั่ง น้ำยาเหล่านี้ต้องสั่งจากกรุงเทพฯ มา จากบริษัท โกดักส์ โดยเราต้องไปรับเองแถวเจริญกรุง แถวแคปปิตอล โดยแม่จะเป็นคนไปเอา พ่อจะอยู่บ้าน

ถ้าเป็นยุคแรกๆ แม่ต้องนั่งเรือแท็กซี่ไปขึ้นที่วัดปากน้ำ ปากคลองภาษีเจริญ นั่งไปเป็นวันเลย แล้วไปต่อเรือไปที่ตลาดพลู นั่งรถไฟบ้างอะไรบ้าง แม่เขาเก่ง ตอนหลังมีรถเมล์ส้มสาย 85 ก็นั่งรถไป  แม่เก่งมาก ต้องไปซื้อไม้ที่กรุงเทพฯ มาทำกรอบรูป ไม้ยาวประมาณ 2 เมตรครึ่ง ต้องเอาขึ้นรถเมล์มาโดยมีกระเป๋ารถเมล์ช่วยยก

ภาพแรกที่ถ่ายของร้านคือรูปไหน
ไม่ทราบเลย พ่อเขาถ่ายเยอะมาก พ่อไม่ได้เล่าว่ารูปแรกที่ถ่ายคือใคร แต่คิดว่าน่าจะเป็นคนในครอบครัว อาจเป็นอากง อาม้า อย่างรูปที่แขวน คือรูปคุณพ่อกับแม่  ตอนนั้นแต่งงานมาสักระยะ ก็จะถ่ายรูปตัวเอง รูปในครอบครัว ถ่ายรูปตัวเอง ก็จะเป็นรูปน้องในร้านถ่าย โดยจะเซ็ทเองหมด แล้วไปนั่ง และให้ลูกน้องในร้านกดชัตเตอร์

รูปคู่คุณแม่มุกดา และคุณพ่อเตี๋ยงเพ้ง ถ่ายหลังจากแต่งงานกันมาได้สักระยะ
โดยคุณพ่อเป็นคนจัดแสงและตั้งค่ากล้องต่างๆแล้วลูกน้องในร้านเป็นคนกดถ่ายให้
ภาพภรรยาและลูกๆ ของคุณพ่อเตี๋ยงเพ้งในกรอบรูปไม้ที่ตั้งอยู่บนตู้ภายในร้าน

ภาพหลวงปู่รุ่งหน้ากุฏิ ผลงานการถ่ายของคุณพ่อ
หลวงพ่อรุ่งให้เรือหางยาว 2 ตอน หรือเรียกว่า "เรือท้องเป๊บ" วิ่งมาถึงหน้าบ้านมาเรียก เถ้าแก่ๆ หลวงพ่อให้มารับไปหาหลวงพ่อหน่อย พ่อจะถามมารับแล้วไปถ่ายรูปรึเปล่า เขาบอกเอาไปเลยให้เตรียมอุปกรณ์ไปด้วย พ่อก็จะเตรียมอุปกรณ์ถ่ายรูปไปหมด หลวงพ่อจะเรียกไปถ่ายรูป ไปคุย พ่อจะสนิทกับหลวงพ่อรุ่งจะถ่ายหลายยุค ตั้งแต่ยุคที่ท่านนั่งหน้ากุฏิเก่าๆ ยังไม่ได้เลื่อนยศ อีกยุคจนได้เครื่องยศแล้ว นั่งหน้ากุฏิ รูปปัจจุบันที่บูชากันอยู่ ที่บ้านพ่อเป็นคนถ่ายเป็นฟิล์มกระจกใหญ่เท่ากระดาษประมาณ เอสี่ เลย แล้วมีฟิล์มเนกาทิฟด้วย ยุคนั้นจะเริ่มมีฟิล์มสองแบบแล้ว โดยอุปกรณ์การถ่ายภาพจะยกไปพร้อมกับลูกน้อง แล้วก็คนเรือ พ่อจะมีลูกน้อง มีเด็กมาฝึกที่ร้าน 2-3 คน คนหนึ่งที่สนิทก็คือ เฮียตี๋เล็ก เฮียกำธร เมื่อก่อนซ่อมนาฬิกา ที่หลายคนเรียกว่า "เฮียเหล่" พ่อจะรักเหมือนลูก เวลาไปไหนพ่อก็จะพาไปด้วย เพราะเด็กคนนี้ไม่ชอบเรียนหนังสือ จึงให้มาฝึกถ่ายรูปด้วย

หลวงปู่รุ่งหน้ากุฏิ ผลงานการถ่ายของคุณพ่อ ผลงานการถ่ายภาพของคุณพ่อเตี๋ยงเพ้ง

พ่อเล่าว่าหลวงพ่อรุ่งใจดี หลวงพ่อให้พระทุกครั้งที่ไป อย่างเช่น เหรียญรุ่นแรก 2484 หลวงพ่อถามมีลูกกี่คน พ่อตอบมี 5 คน หลวงพ่อว่าเอาไปๆ 5 เหรียญ พ่อได้มาประจำ ได้มาเรื่อย ได้ทุกครั้ง จนพ่อว่าเยอะแล้วหลวงพ่อ ไม่เอาแล้ว หลวงพ่อบอกให้เหรียญแล้วไม่เอาเหรอ พ่อตอบว่าเยอะแล้ว พ่อได้ครบลูกได้ครบ แม่ได้ครบแล้ว เอาไว้แจกคนอื่นบ้าง 

ตอนหลังๆ พ่อก็จะเอาลูกๆ ไปที่วัดด้วย พอกราบหลวงพ่อเสร็จ เด็กๆ ก็จะไปวิ่งเล่นหน้าวัด สมัยก่อนแถวนั้นยังเป็นทุ่งนาอยู่ ฝั่งท่าเรือเก่าๆ ริมแม่น้ำ ไปไหว้รูปปั้นหลวงพ่อรุ่งริมแม่น้ำ องค์ไม่ใหญ่ นั่งขัดสมาธิ ขนาดประมาณ 1-2 ฟุต ใกล้ๆ ศาลาท่าน้ำ แถวนั้นมีป้ายปักริมแม่น้ำว่า "วัดท่ากระบือ หลวงพ่อรุ่ง" รูปปั้นท่านจะอยู่แถวๆ ทางขึ้น ปัจจุบันรูปปั้นนี้ไปไหนไม่แน่ใจ

ป้ายังเล่าถึงเรื่องการเก็บฟิล์มว่า
ฟิล์มกระจก พอนานๆ เข้าน้ำยาเสื่อม ขอบมันจะค่อยๆ ละลาย ตัวฟิล์มเองแร่เงินเริ่มเสื่อมมันจะสะท้อนแสงแว้บๆ แต่ถ้าเรามีเครื่องอัด ก็ยังสามารถอัดได้อยู่ ฟิล์มกระจกสมัยนั้นชัดเจนมาก ขนาด 12 นิ้ว จะมีกล่องกระดาษใส่มาให้ด้วย พอมาเป็นฟิล์มเนกาทิฟ ก็เล็กลงมาราวๆ ครึ่งหนึ่ง

เรื่องเครื่องขยายภาพ ตัวเครื่องขยายเป็นไม้สัก จะขยายได้ใหญ่ประมาณหนึ่งเท่านั้น เพราะพอยืดสุดจะติดเพดาน เวลาใช้งานจะเอาฟิล์มจริงใส่เครื่องขยายไว้ด้านบน เอาไฟส่อง จะให้ใหญ่แค่ไหนก็ยืดเครื่องขยายขึ้นไป พอยอดเครื่องขยายติดเพดานก็สุดแล้ว เพราะห้องมืดจะเตี้ย บ้านสูงประมาณ 4 เมตร

ในวันที่ร้านถ่ายรูปในกระทุ่มแบนมีมากขึ้น

ลูกค้าน้อยลงเพราะมีร้านเพิ่มขึ้น คนที่อยากมีอาชีพร้านถ่ายรูปก็เริ่มเข้ามาในตลาด เริ่มจากลูกศิษย์ของพ่อก่อน ก็มีเปิดร้านคู่ใกล้ๆ กันชื่อ ร้านแสงศิลป์ ตอนนี้เลิกไปแล้ว เป็นพ่อของครูพอทิพย์ เจ๊ท้าว (ร้านอยู่แถวๆ ร้านหยงกัง ติดกับทองแม่ปากหวาน ร้านแสงศิลป์นี้จะถ่ายรูปด้วย ทำฟันด้วย ปัจจุบันเลิกกิจการแล้ว)

แล้วก็มีร้านอาเจ้กอัว เปิดร้านอยู่สักระยะหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดชื่อร้านสาครศิลป์ ตอนหลังก็เลิกไป
และก็ร้านสุริยา แถวท่ากลาง มาเปิดร้านแลบสี ซึ่งถ้าลำดับร้านถ่ายรูปที่เปิดในตลาดกระทุ่มแบนแล้วก็จะมี. ห้องภาพชูศิลป์ ร้านแสงศิลป์ ร้านสาครศิลป์ ร้านสุริยาโฟโต้ และมีอีกร้านหนึ่งแต่ไม่ค่อยคุ้นเคย เป็นคนประตูน้ำอ่างทองเปิดร้านอยู่ใกล้ๆ ธนาคารออมสิน แต่จำชื่อไม่ได้ เปิดสักระยะแล้วก็เลิกไปช่วง พ.ศ. 2500 ต้นๆ

ส่วนใหญ่ร้านที่เปิดก็เป็นลูกศิษย์พ่อ แต่พ่อบอกว่าไม่ว่ากัน เพราะทุกคนต้องมีอาชีพ แต่ส่วนใหญ่คนก็จะยังนิยมร้านดั้งเดิมต้นฉบับคือชูศิลป์ สมัยนั้นคนจะถ่ายรูปก็บอกไปร้านเจ๊กเตี๋ยง

สมัยก่อนคนกระทุ่มแบนจะรู้จักกันเกือบหมด ชื่อเจ๊กเตี๋ยงคนรู้จักกัน ดังมาก เวลาไปซื้อของบอกลูกเจ๊กเตี๋ยงเขาให้มาเลย ไม่ต้องกลัวโกง เวลาเขาเห็นหน้าว่าคุ้นๆ หน้าก็มักถามว่าอยู่ที่ไหน ก็ตอบไปว่าอยู่ร้านชูศิลป์ เขาก็อ๋อ.. ลูกเจ๊กเตี๋ยง เถ้าแก่ร้านชูศิลป์

นอกจากนี้พ่อก็เคยได้ไปถ่ายรูปหลวงปู่แขก  วัดบางปลา, หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา นครชัยศรีและอีกเยอะเหมือนกันแต่จำไม่ได้ มีรูปหลวงปู่แขก วัดบางปลาอยู่รูปหนึ่งขนาดประมาณ 5 นิ้ว พ่อถ่ายเสร็จก็ไปถวายท่าน ท่านก็จารหลังรูปให้กับมือพ่อกลับมาด้วย ตอนหลังก็นำมาใส่กรอบบูชาไว้ เคยมีเซียนพระมาขอบูชาราคาครึ่งหมื่น แต่เรามีรูปเดียว มีคุณค่าทางจิตใจ มีคุณค่าต่อครอบครัว หลวงปู่ท่านให้พ่อกับมือเลยต้องเก็บรักษาไว้

ภาพถ่ายหลวงปู่แขก วัดบางปลา  ผลงานคุณพ่อเตี๋ยงเพ้ง ห้องภาพชูศิลป์
ภาพถ่ายหลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา นครชัยศรี อีกหนึ่งผลงานคุณพ่อเตี๋ยงเพ้ง ห้องภาพชูศิลป์


ถ่ายรูปคนดัง และคนสวยของกระทุ่มแบน
ถ้าเป็นข้าราชการก็จะมีนายอำเภอ ซึ่งถือว่าใหญ่มากในสมัยนั้น กับพวกสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจ ผู้กอง ก็มาถ่ายเพราะอยู่ใกล้แล้วมีร้านเดียวด้วย ถ้าเขามาจากกรุงเทพฯ หรือที่อื่น ส่วนใหญ่ก็จะไปถ่ายที่ร้านจิตรกร กรุงเทพฯ เฉลิมกรุง ซึ่งอายุร้านพอๆ กับร้านเราเลย  
ส่วนดาราคุณป้าไม่ค่อยได้สนใจ เลยไม่คุ้น ไม่รู้ว่ามีมาไหม แต่รู้ว่าสมัยก่อนคนสวยกระทุ่มแบนมีเยอะนะ ก็มักจะเป็นคนที่ประกวดนางงามปีใหม่ขันน้ำพานรอง หน้าอำเภอกระทุ่มแบน ประกวดที่สมุทรสาคร ธิดาสงกรานต์ ป้าบังอร เปี่ยมเพิ่มพูน, น้าเทียบ วิยาภรณ์, น้าเพ็ญศรี น้องของทนายหมวดประเทศ สวยมาก, ครูวิไลวรรณ ผ่องนพคุณ ก็ได้รับขันน้ำพานรองปีใหม่ที่หน้าอำเภอเหมือนกัน

สมัยนั้นก่อนนั้นมีงานปีใหม่ที่หน้าอำเภอ ซึ่งเป็นงานที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของชาวกระทุ่มแบนมาก บรรยากาศจะคึกคัก คนก็จะตื่นเต้นกัน มีการไปตักบาตรที่หน้าอำเภอเต็มเลยเป็นวงกลม  ในงานก็จะมีสาวๆ ที่แต่งตัวสวยไปตักบาตรหน้าอำเภอ บางคนก็แต่งตัวสวยเพียงเพื่อโอกาสพิเศษในวันขึ้นปีใหม่ บางคนก็ตั้งใจใส่ไปเพื่อให้เข้าตาแมวมอง   แมวมองที่มากวาดสายตามอง เช่น นายอำเภอ คุณนาย หรือข้าราชการ ก็จะเดินดูว่ามีใครสวยๆ มาบ้าง พอหมายตาได้ ก็ขอจดชื่อไว้ แล้วก็จะเชิญขึ้นเวที มาประกวดกัน และไม่ต้องสมัครประกวดกัน โดยมีข้าราชการ คุณนายต่างๆ  ในเป็นงานกรรมการตัดสิน ใครชนะการประกวดก็จะได้รับแจกเป็นขันน้ำ แล้วมีพานรองให้  ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นถ้วย 

เวลาประกวดเสร็จก็จะมาถ่ายรูปที่ร้าน พ่อก็จะขออนุญาตนำรูปมาโชว์หน้าร้าน แล้วก็จะมีคนทั่วไปไม่ได้ประกวดแต่หน้าตาสวยๆ เวลามาถ่ายรูปที่ร้านเสร็จพ่อก็จะขออนญาตนำรูปมาโชว์หน้าร้านเช่นกัน ทุกวันนี้ยังมีคนมีญาติเขามาถามอยู่เลยว่ารูปที่โชว์ยังอยู่ไหม ป้าบอกว่าถ้าหาเจอจะให้ ก็ให้ไปหลายคนแล้ว คนสวยกระทุ่มแบนมีเยอะ  มีคนหนึ่งสวยออกหน้าแขกๆ ไปเป็นกำนัน ช่วงหลังผ่านมายังถามหาอยู่เลยว่าเถ้าแก่อยู่ไหม ป้าก็ตอบว่าเถ้าแก่ไม่อยู่แล้ว เขาชอบเถ้าแก่มากเลย แม่บอกว่ามีผู้หญิงมาจีบเรื่อยเลย แต่แม่ไม่หวงนะ ให้เขาจีบไปเถอะแล้วเอาตังค์ค่าจ้างมาให้เราใช้ คุณป้าเล่าแบบขำๆ เพราะว่าช่างภาพสมัยนั้น คงจะมีเสน่ห์ ต้องพูดหวานๆ กับลูกค้า แต่พ่อไม่ชอบพออะไรหรอก

คุณบังอร และคุณประเทือง คนงามกระทุ่มแบนในเวทีสงกรานต์สมุทรสาคร เมื่อ พ.ศ. 2500
ถ่ายภาพโดย นาวาอากาศเอกพอพันธุ์ มณีรัตน์
เอื้อเฟื้อภาพโดย พันเอก วีระสิทธิ์ มีอําพล


บรรยากาศหลังการตักบาตรเสร็จแล้ว ริมคลองภาษีเจริญก็จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งเต็นท์ขายของ ตั้งแต่หน้าอำเภอยาวไปจนถึงตลาดเลย คนกระทุ่มแบนและย่านใกล้เคียงก็จะมาจับจ่ายใช้สอยซื้อของไปใช้หนึ่งปีหนึ่งครั้ง มีทุกอย่างมาขาย ถ้วย ชาม หม้อ กระทะ เสื้อผ้า อะไรที่ใช้ในชีวิตประขำวันมีขายหมด ของเยอะมาก โรงงานละแวกนี้ก็มีการนำของมาลดราคาขาย ทางร้านชูศิลป์เองก็จะมีคนมาถ่ายรูปเก็บไว้ดูกันเยอะ เพราะไหนๆ เขาก็แต่งตัวสวยกันมาแล้ว ถ่ายเสร็จก็รอรับรูปประมาณหนึ่งสัปดาห์  สมัยแรกๆ ไม่ทันจริงๆ รอ 10 วันก็มี บางคนบอกตั้ง 10 วันเหรอ รีบใช้ได้ไหม ถ้าใครด่วนเราก็ช่วงเร่งให้ เพราะต้องไปใช้ติดบัตร โดยไวสุดก็ 5 วัน เพราะต้องมานั่งแต่งฟิล์มทีละคน ถ้าใครรีบก็แต่งน้อยหน่อย ซึ่งก็จะไม่สวยมาก

คุณพ่อเตี๋ยงเพ้ง ขณะกำลังนั่งแต่งรูปเมื่อครั้งอยู่ห้องเช่าของคุณป้าบังอร (ตำแหน่งร้านที่ 2 )

การแต่งฟิล์ม 
สมัยแรกเป็นฟิล์มกระจกก็แต่งบนฟิล์มกระจก ภายหลังเป็นฟิล์มเนกาทิฟ ก็นำใส่เฟรม ส่องตู้ไฟด้านหน้า คลุมโปงแล้วก็แต่งที่ฟิล์ม โดยน้ำยาที่แต่งฟิล์มกระจกและเนกาทิฟไม่เหมือนกัน ถ้าใช้ผิดจะแต่งไม่ติด ขั้นตอนการแต่งจะใช้พู่กันมาวาดแต่ง เป็นหมึกสีดำ และจะมีปากกาคล้ายมีดเล็กๆ มาขูดๆ สำหรับลบหมึกจุดที่แต่งเกินไปออก ซึ่งแต่งยาก ป้ายังแต่งไม่เป็นเลย พอแต่งฟิล์มเสร็จ อัดเป็นกระดาษออกใสแฃ้วถ้ามีบางจุดไม่สวยก็ต้องมาแต่งที่รูปอีก เนื้อที่แต่งจะใกล้เคียงกัน แต่ถ้าอันไหนแต่งมากเนื้อมันก็จะสะท้อนมาอีก หลักๆ ที่ได้รูปช้าก็คือช่วงของการแต่งฟิล์มนั่นเอง และพอนานๆ แร่เงินของน้ำยามันจะขึ้นมาเงาๆ


เหตุที่ต้องแต่งฟิล์มเพราะว่า ถ้าไม่แต่งรูปคนที่ถ่ายออกมาจะเห็นสิว ไฝ หน้าหยาบไม่สวย คิ้วไม่มี เป็นแผลเป็น ผิวเป็นหลุม รอยย่น หรือจุดที่เขาไม่อยากได้พ่อต้องแต่งออก เปรียบกับปัจจุบันก็เหมือนกับการรีทัชในโปรแกรมโฟโต้ช็อป แต่สมัยนั้นเป็นการรีทัชแมนนวลด้วยฝีมือ แต่ละฟิล์มต้องใช้เวลาแต่งพอสมควร เฉลี่ยหน้าคนๆ หนึ่ง ใช้เวลาแต่ไม่ต่ำกว่า 10 สิบนาทีถ้าชำนาญแล้ว แต่ถ้าคนเพิ่งหัดแต่งใช้เวลาเป็นชั่วโมงอาจยังไม่เสร็จเลย เมื่อก่อนถ่ายรูปวันหนึ่งเกือบเป็นร้อยคน ถ้าแต่งไม่ทัน อัดให้เขาไม่ทัน เขาก็บ่น ป้ายกตัวอย่างรูปหลวงปู่ทิ้ง (พระวัดดอนไก่ดี ปัจจุบัน พ.ศ. 2562 ท่านอายุ 100 กว่าปีแล้ว) ว่ารูปนี้ฟิล์มแต่งมาแล้วแต่รูปยังไม่ได้แต่ง หน้าหลวงปู่ท่านจะเป็นหยาบๆ ที่หยาบเพราะว่าการขยายจากฟิล์มออกมาจากเนื้อกระจก มันเหมือนเนื้อผ้าที่ขยายออกมาจะเห็นรอยยิ่งชัดขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุที่ต้องแต่งฟิล์ม ไม่แต่งไม่ได้ ถ้ารูปเล็กๆ ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้ารูปใหญ่นี่จะลายมาก


รูปหลวงปู่ทิ้ง วัดดอนไก่ดี ราว 2500-2520 ที่อัดขยายโดยไม่ได้แต่งฟิล์ม เนื้อผิวจะดูไม่เนียนเรียบ

ภาพคร้อปส่วนจากรูปหลวงปู่ทิ้ง แสดงให้เห็นว่า
หากไม่มีการแต่งฟิล์มก่อนอัดขยายภาพ จะทำให้เห็นรอยผิวที่ไม่เรียบหรือแตก
คุณแม่มุกดา แซ่ปึง ภรรยาของนายเตี๋ยงเพ้ง
กำลังถือพู่กัน พร้อมจานสี เพื่อลงสีภาพถ่ายขาวดำ


รูปติดบัตรสมัยก่อน ใช้ติดบัตร ติดใบสุทธิ จะมีประทับตรา ห้องภาพชูศิลป์ดุนนูน ขอบล่างเว้นขาวไว้ของรูป คือเป็นสไตล์ของรูปสมัยนั้น บางยุคเหลือขอบขาวเท่ากันหมด ปัจจุบันตัดด้วนหมด
ส่วนเรื่องการจัดไฟคุณพ่อจะมีไฟดวงสูงไว้ฉายผมให้มีเฉดที่ริมผม แล้วไฟอีกดวงฉายที่หน้าให้มีแสงข้างหนึ่ง อีกข้างไม่มี เป็นสไตล์โบราณ จะขาวข้างดำข้าง ให้มีมิติ จะเป็นแบบนี้ทุกรูป 

รูปข้าราชการตำรวจในกระทุ่มแบนท่านหนึ่งไม่ทราบชื่อ
แสดงให้เห็นตัวอย่างการถ่ายภาพโดยจัดแสงตามที่ห้องภาพชูศิลป์
ถ่ายให้ลูกค้าโดยครึ่งหน้าฝั่งหนึ่งจะสว่างกว่าอีกฝั่งหนึ่ง และมีแสงเป็นเฉดเงาที่ริมขอบผม


การทำกรอบรูปสมัยก่อน
เริ่มจากคุณแม่ไปซื้อไม้มาจากกรุงเทพฯ นำไม้มาวางบนราง เวลาจะตัดกรอบ ก็นำไม้บรรทัดมาวัด เอาดินสอแต้มไว้  แล้วก็นำใส่รางซึ่งมีร่องเป็นฉากอยู่แล้ว  ให้เข้าฉาก 45 องศา และก็มาเลื่อยเป็นชิ้นๆ กว้างยาวตามต้องการ มาประกอบติดกันด้วยตะปู เสร็จแล้วเอากระจกมาตัด เอารูปใส่ ตอกตะปูหน้าหลัง ถ้าคนเอากระจกหน้าเดียว ก็จะเอากระจกมาคาดเพื่อให้มันแน่น เอากระดาษกาวปิดกันมด กันตัวสามง่ามเข้าไปกัดรูป แต่กันน้ำไม่ได้ กรอบไม้ก็จะเป็นลายเรียบ มีสีฟ้า ชมพู เหลือง น้ำตาล มีประมาณ 4 สี ในช่วง ปี 2500 ต้นๆ ถ้ายุคก่อนหน้านั้นก็จะเป็นไม้ดิบๆ เลย  อีกยุคหนึ่งก็จะเป็นกรอบเงิน กรอบโลหะ แล้วก็จะมียุคหนึ่งเป็นกรอบวิทยาศาสตร์ แต่ป้าจะไม่แนะนำ เพราะว่าถ้าเก็บไม่ดี รูปจะเสียกรอบร่อนมาเป็นชิ้นๆ เลย

คุณแม่มุกดา ขณะกำลังทำกรอบรูป


ช่างภาพที่มีชื่อเสียงของกระทุ่มแบนสมัยก่อน 
ยกตัวอย่างเช่น คุณวินิจ บุญวิวัฒน์ (อดีต ผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.) เคยมาปรึกษาที่นี่บ่อย เพราะคุณพ่อคุณวินิจเป็นเพื่อนกับคุณพ่อ ตอนนั้นคุณวินิจเข้าไปเป็นช่างภาพให้ช่อง 9 ก็เข้ามาปรึกษาเรื่องถ่ายรูปนอกสถานที่ต้องใช้แสงอะไรยังไง  ในกระทุ่มแบนช่วง 2500 ต้นๆ คนกระทุ่มแบนถ่ายรูปเก่งเยอะ บางคนก็มานั่งคุยปรึกษากัน ต้องใช้แสงเท่าไหร่ เปิดชัตเตอร์ยังไง ช่วงนั้นเป็นกล้องพวก Rolleiflex, Nikon, Lieca, Yashica

คุณวินิจ บุญวิวัฒน์ ช่างภาพชาวกระทุ่มแบน
ภายหลังได้เข้าทำงานเป็นช่างภาพที่ช่อง 9
และได้เป็นผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.
ภาพจาก หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ (29 เมษายน 2545)


ตอนเด็กๆ คุณป้าเคยคิดว่าโตมาอยากเป็นช่างภาพไหม
ไม่คิดเลย ไม่คิดจะเป็นช่างภาพเลย ลูกๆ 5 คนไม่มีใครคิดเป็นช่างภาพเลย ไปเรียนหนังสือสายอื่นๆ กันหมด แล้วไปฝึกเอาลูกคนอื่น คือลูกน้องในร้านมาเป็นช่างภาพ 3-4 คน ไปถ่ายนอกสถานที่ แล้วเขาก็มีอาชีพของเขา แต่ทุกวันนี้ที่ถ่ายได้เพราะมันอยู่ในสายเลือด เราเห็นแต่เด็ก เห็นมาทุกขั้นตอน เราเลยทำได้ ตั้งแต่เด็กจนโต คุณป้าต้องช่วยงานคุณพ่อมาโดยตลอดทั้งก่อนและหลังจากกลับจากโรงเรียน พอวัยทำงาน เคยทำงานธนาคาร วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ก็ต้องมาช่วย พอคุณพ่ออายุเยอะ ก็เลย  early retired ออกมาช่วยงานเต็มตัว 

งานในกระทุ่มแบนส่วนใหญ่เกือบทุกวัด พ่อจะไปถ่ายเอง ทั้งงานบวชคนเก่าๆ ในกระทุ่มแบนก็ตามพ่อไปถ่าย จนหลังๆ ไม่รับเอง ต้องให้ลูกน้องไปถ่ายเพราะไม่ไหวแล้วอายุเยอะ ถ้าไปถ่ายนอกสถานที่งานในร้านก็ไม่เดิน ส่วนคุณแม่ถ่ายในร้านได้ เป็นหมดเลย แต่งฟิล์มไม่ได้ ฝึกหลายครั้งแต่พ่อบอกใช้ไม่ได้ ส่วนล้างรูปได้ แต่งรูปที่อัดมาได้   

คุณพ่อถ่ายรูปมาเรื่อยจนกระทั่งเริ่มหายใจไม่ค่อยออก เพราะปอดไม่ดี เนื่องจากสูบบุหรี่มาตั้งแต่หนุ่ม เวลาทำงานดึกๆ ต้องสูบ ไม่งั้นพ่อจะง่วง แล้วก็เป็นถุงลม  ในช่วงวัยราวๆ 70 กว่า แต่ก็ยังมีแอบลงมาถ่ายเองบ้าง

คุณพ่อรักในอาชีพช่างภาพมาก ไม่คิดจะทำอาชีพอื่นๆ เลย เพราะเขาถือว่าเขาเป็นอันดับต้นๆ ในกระทุ่มแบน แต่พ่อไม่เคยบังคับให้ลูกๆ เป็นช่างภาพเลย  เป็นเรียนสายอื่นๆ หมดเลย พ่อบอกอย่ามาทำเลย นอนดึกๆ ทรมาน อย่าทำเลย แม้ว่าร้านปิดแล้วก็ยังต้องทำอยู่ กว่าจะได้นอนก็ตีสอง ต้องเร่งทำงานให้ทันนัดลูกค้า จนคุณพ่อเสียไปตอนอายุราว 90 กว่าปี

นายเตี๋ยงเพ้ง และนางมุกดา ถ่ายภาพร่วมกัน เมื่อช่วงอายุราว 50-60 ปี

บรรยากาศร้านในวันนี้ต่างจากวันวาน
ต่างมากมาย วันๆ หนึ่งในปัจจุบันถ้าไม่จำเป็นจะไม่มาถ่ายรูปกันเลย เพราะเขาจะถ่ายเล่นกันมากกว่า ใช้มือถือถ่ายเล่น  ส่วนใหญ่จะมาถ่ายรูปติดบัตร เพราะปริ้นท์จากมือถือครูไม่เอา แล้วก็มีถ่ายรูปคนต่างด้าว แต่ช่วงหลังก็น้อยลง ป้าก็ทำไปเรื่อยๆ แก้เหงา ดีกว่าอยู่เฉยๆ เด็กสมัยนี้ถ่ายแล้วก็เก็บไว้ในคอม เป็นไฟล์ แต่วันหนึ่งก็หายไป เปิดดูลำบาก

เสน่ห์ของรูปภาพขาวดำกับไฟล์ภาพในปัจจุบัน ต่างกันไหมครับ
รูปถ่ายสมัยก่อนดูสวยกว่าเยอะ ดูแล้วมีมิติ ความคมชัด ความสวย มีคุณค่ามากกว่าไฟล์ปัจจุบัน กว่ารูปสี  แล้วมันก็ทนด้วย ดูแล้วไม่เบื่อย ถ้ารูปสีมันไม่คงทนแบบขาวดำหรอก สีก็ซีดจางไป เด็กๆ รุ่นใหม่ บางคนก็หันมาเล่นกล้องฟิล์มกันเยอะ บางคนยังมาถามหาซื้อฟิล์มในร้านกันอยู่ก็มี ที่เห็ฯตั้งโชว์ในร้านนี่เป็นกล่องเปล่าตั้งโชว์ไว้ กล่องฟิล์มสมัยก่อนเป็นกล่องอลูมิเนียมอย่างดี ช่วงหลังก็เปลี่ยนมาเป็นพลาสติก
สมัยก่อนถ่ายแล้วกล่องฟิล์มสังกะสีก็ทิ้งหมด ทิ้งทีเป็นเข่งๆ

ในฐานะที่เติบโตมากับร้านถ่ายภาพ คุณป้าประทับใจ ชอบอะไรในร้านเรา
เราก็ยังยึดติดกับการถ่ายรูปแบบเก่า มีไฟ มีสปอตไลท์ส่อง เราดีใจเวลาถ่ายรูปแล้วเขามาชมว่าสวย ถ่ายรูปร้านป้าแล้วสมัครงานได้ทุกทีเลย ไปสอบก็ติด ร้านอื่นเดี๋ยวนี้ใช้กล้องดิจิทัล บางร้านไม่ใช้ไฟเลย แต่ความคลาสิคมันไม่เหมือนกัน อย่างเด็กเล็กๆ เด็กนักเรียน ไปถ่ายบางร้านเขาดุ จนร้องไห้เลย แต่มาถ่ายกับป้า ถ่ายไปเรื่อยๆ เป็นสิบครั้ง จนกว่าจะได้ เพราะป้าชอบเด็ก พอเราเห็นผลงานเราออกมาดี ได้ฟังลูกค้ามาเล่าให้ฟัง เราก็ภูมิใจ

คุณป้าตอบด้วยเสียงสั่นเครือ เหมือนกับกลั้นน้ำตาไว้ว่า "เราภูมิใจในอาชีพของพ่อ ที่เรามีทุกวันนี้ก็เพราะอาชีพของพ่อ ทำให้ลูกได้เรียนหนังสือ ได้จุนเจือครอบครัว"

"เราภูมิใจในอาชีพของพ่อ ที่เรามีทุกวันนี้ก็เพราะอาชีพของพ่อทำให้ลูกได้เรียนหนังสือ ได้จุนเจือครอบครัว"

คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" ลูกสาวคนโตของเจ้าของห้องภาพชูศิลป์


ป้าเช็งในวัยเด็กถ่ายภาพร่วมกับของที่ระลึกจากกระดาษอัดภาพยี่ห้ออิลฟอร์ด
ถ่ายภาพโดยคุณพ่อเตี๋ยงเพ้ง ราว พ.ศ. 2493

มองกิจการ ห้องภาพชูศิลป์ ต่อไปอย่างไร
เราอายุเยอะแล้ว ก็ทำไปเรื่อยๆ ส่วนหลานเราถ้าเขาทำงานแล้วเขาเบื่อ อยากจะมารับช่วงดูแล แล้วปรับปรุงต่อยังไงให้เขามา ถ้าจะรับไม่รับอย่างไรก็ตามใจเขา

ปัจจุบัน ห้องภาพชูศิลป์ก็ยังรับถ่ายรูปด่วนติดบัตรแบบดิจิทัล แล้วก็ปริ้นท์เลย ส่วนรูปจากไฟล์ก็รับตกแต่งจากรูปเก่า เช่น รูปขาด หน้าขาด ไม่มีหน้าชัดๆ ก็จะแต่งขึ้นมาแล้วให้เจ้าของดูว่าตรงกับความจริงไหม โดยการแต่งรูปจะมีน้องสาวคุณป้าเป็นคนทำ บางครั้งหลานชายอีกคนก็จะช่วย แต่ตอนนี้ไปทำงานที่กรุงเทพฯ แล้ว นอกจากนี้ก็มีรับใส่กรอบรูป เป็นกรอบรูปสำเร็จแล้ว ถ่ายเอกสาร เคลือบบัตร ส่วนปริ้นท์รูปดิจิทัล ที่ไปเที่ยวมาทั่วๆ ไป ไม่ได้รับปริ้นท์ เพราะมีร้านทั่วๆ ไปทำแล้ว มีเครื่องปริ้นท์ใหญ่ๆ ได้ราคาถูก ร้านชูศิลป์เราไม่หวงลูกค้า ถ้าอันไหนเราทำไม่ได้ หรือเครื่องเสีย เราก็แนะนำร้านอื่นๆ   

ทิ้งท้ายการสัมภาษณ์กันด้วยเรื่องราวกระทุ่มแบน ในฐานะที่คุณป้าเติบโตและอาศัยอยู่ในกระทุ่มแบนมาตั้งแต่เด็กจนโตครับ

บรรยากาศกระทุ่มแบนมีอะไรเปลี่ยนไปเยอะไหมครับ
เปลี่ยนไปเยอะ เอาเรื่องน้ำคลองก่อนเลย สมัยก่อนน้ำคลองภาษีเจริญเราลงเล่นได้ ใสแจ๋ว มีเรือโยง มีเรือผ่านทุกวัน น้ำก็ไม่เน่า ทุกคนใช้น้ำในคลองหมด ต้องตักน้ำไปใช้ในบ้านใส่ตุ่ม แกว่งสารส้มใช้ ซักล้าง ซักผ้า ถูบ้าน อาบ ล้าง ส่วนน้ำกิน และน้ำที่ใช้ผสมน้ำยา จะรองน้ำฝนเอา พอมาถึงยุคนี้ น้ำเน่าหมดแล้ว ขยะก็เยอะ สมัยก่อนขยะไม่เยอะ พลาสติกไม่มี มีแต่ใบตอง สภาพชีวิตสมัยก่อนคนก็ไม่ได้แก่งแย่งชิงดีกัน อยู่กันแบบในหลวง ร.9 ท่านตรัสไว้ คือพอเพียง  ซื้อกินเท่าที่กินได้วันหนึ่ง ขายของก็เอามาขายเองจากสวน ทำเองกำไรนิดๆ หน่อยๆ แบ่งกันกิน พายเรือมาขายกันตรงตลาดสี่แยก ชีวิตน่าอยู่กว่าสมัยนี้ ถ้าไม่มีคลองนี้ให้ว่ายน้ำก็ว่ายน้ำไม่เป็น เด็กรุ่นหลังบางคนว่ายไม่เป็นเพราะน้ำเน่าแล้ว ป้าซน ไปคอยเกาะเรือโยงกับเพื่อนผู้หญิง ผู้ชายลงคลองเล่นกัน เขาบอกเดี๋ยวเรือทรายจะมา เราก็ไปดักกันริมคลอง นั่งขอบเรือทราย คนเรือก็จะไล่ เดี๋ยวเรือดูดๆ เข้าไปใต้เรือ พอดีพวกเราว่ายน้ำกันเก่ง เกาะกันแถวตลาดไปถึงหน้าอำเภอก็ปล่อย ขึ้นหน้าโรงเรียนศรีฯ พอกลับมาถึงบ้านก็โดนแม่ตี เคยมีเด็กโดนดูดเข้าไปใต้เรือด้วย แต่ไม่เป็นไร เพราะคนเรือเขาช่วย เขาให้หยุดเรือนำ แล้วเด็กก็หลุดออกมา แม่เลยไม่ให้อยากเล่นเพราะกลัวโดนเรือดูด คนเรือก็จะไล่ แต่เราก็เล่นเพราะสนุก  ตอนนั้นเด็กๆ ไม่ค่อยมีอะไรเล่น ถ้าไม่เล่นตาเขย่งหน้าบ้าน (สมัยนี้เขาเรียกเหย่งๆ โป๊ะบ้าง ตั้งเตบ้าง) ก็จะเกาะเรือโยง 

นอกจากนี้ยังใช้เป็นเส้นทางสัญจร นั่งเรือไปเรียนหนองแขม เรือเสียงดังแต๊กๆๆ ยังนึกถึงว่าสมัยก่อนนั่งเรือสนุกเนอะ การบ้านทำไม่ทันก็ไปทำในเรือ เพราะมีเวลาในเรือประมาณชั่วโมงหนึ่ง สมัยก่อนโรงเรียนวัดหนองแขมมีชื่อมาก ถ้าบ้านเราก็มีโรงเรียนกระทุ่มแบนวิเศษสมุทคุณ แต่คนนิยมไปเรียนที่วัดหนองแขมมากกว่า เราเลยผูกพัน นั่งไปเรียนหนังสือ นั่งเรือต่อเข้ากรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

บรรยากาศตลาดสี่แยกสมัยก่อนเป็นอย่างไรบ้าง
เมื่อก่อนตลาดสี่แยกช่วงปี 2500 จะมีเรือแม่ค้าจากหลายที่ จากแม่น้ำ มาชุมนุมขายของกัน ใครอยากได้อะไรก็ไปซื้อตรงสี่แยก แล้วพอสายหน่อยแม่ค้าก็จะพายเรือมาแถวหน้าบ้าน มีขนม มะม่วง มัน เผือก เรือก๋วยเตี๋ยว เรือกาแฟ มีทุกอย่าง เขาก็จะเรียกกัน จะผ่านทุกวัน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนตลาด ถ้าคนไม่ได้ไปตลาดสี่กั๊กตอนเช้า ก็จะรอเรือผ่านหน้าบ้าน  เรือที่พายไกลๆ จะเป็นเรือขายกาแฟ เป็ดพะโล้ พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่เป็นคนกระทุ่มแบน พายมาจากคลองแป๊ะกง ทางเทศบาล วัดดอน หลักห้า ถ้าเป็นคนดำเนินเขามาขายแล้วก็จะกลับไป ที่ตลาดสี่แยกในเรือส่วนใหญ่จะขายผัก ผลไม้ พวกหมูไก้ กุ้ง ปลา อยู่บนบกริมคลอง เช่น ป้าเนื่อง เบี้ยวบังเกิด ก็ขายปลาสมัยก่อน พวกของแห้งมาทางเรือ เช่น หอม กระเทียม มาจากที่อื่น ถ่านหุงข้าว เกลือ น้ำปลามาเป็นตุ่มๆ ไหๆ ตามบ้านก็ต้องเอาขวดไปให้เขากรอก บางบ้านเอาเยอะก็เอามาทั้งไห

ในคลองสมัยก่อนกุ้ง ปลาตะเพียนเยอะมาก โดยเฉพาะโรงสีที่เช่าอยู่ ครึ่งหนึ่งเป็นคลองเล็กๆ มีเรือส่งข้าวเข้าโรงสี มีปลาตะเพียนเยอะ ที่โรงสีนี้รับสีข้าว คลองนี้ขุดเพื่ออำนวยความสะดวกให้เรือมาขายข้าวลำเล็กๆ เข้าสะดวก ถ้าลำใหญ่ก็จอดริมคลอง มีไม้พาดเรือแล้วกุลีก็แบกขึ้นมายังโรงสี สีเสร็จเขาก็มารับไป เด็กๆ ก็จะมาวิ่งดู สีข้าวฝุ่นฟุ้งหมดเลย

มีเดินไปเล่นแถวฝั่งแป๊ะกง ไปเล่นน้ำตกแป๊ะกง ตอนเขาระบายน้ำเราก็จะไปกัน ระบายน้ำจากแม่น้ำเข้าคลอง แม่น้ำที่ระดับน้ำสูงกว่าก็จะไหลเข้ามาในคลอง ก็จะลักษณะเหมือนน้ำตก นอกจากนี้ยังมีหลายท่านเรียกคู่กับเขาวงวัดหงอนไก่ด้วย เป็น "น้ำตกแป๊ะกง เขาวงวัดหงอนไก่"

แถบวัดดอนไก่ดี ถ้าไปเที่ยวต้องเดินไปเลียบริมคลองไปเป็นทางเท้าเล็กๆ มีแผ่นหินปู บางบ้านไม่มีก็เป็นพื้นดินลื่นๆ จักรยานยังเข้าไม่ค่อยได้ เดินไปจนถึงสะพานไม้วัดดอน คนที่เรียนหนังสือที่นี่ก็ต้องเดินทางนี้ แต่ป้าเรียนโรงเรียนศรีบุณญาฯ ถ้าไปวัดดอนเพราะไปทำบุญ ถ้ามีเรือพายก็นั่งไป ถ้าไม่มีก็เดินหิ้วปิ่นโตไป และยังมีไปดูหนังกลางแปลงที่งานวัดดอน ไปเป็นกลุ่มๆ 10 คน ออกตอนเย็นๆ ถือไฟฉายกันไป ส่วนจักรยานก็พอมีแต่ไม่ครบทุกคน เลยใช้เดินสนุกกว่า เดินไปเล่นกันไป แหย่กันไป หลอกผีกันไปช่วงขากลับตอนเดินกลับ 2-3 ทุ่ม เพราะบรรยากาศเงียบ ช่วงบ้านแถบๆ เทศบาลเจ้าของบ้านเป็นพยาบาลแล้วเปิดเป็นคลินิก จะเป็นต้นไผ่ครึ้มริมคลองหมดเลย หรือมีต้นไม้ใหญ่ก็ทำให้ดูน่ากลัว

ที่เที่ยวสมัยนั้นอีกที่คือวัดนางสาว ไปดูปลาหน้าวัด ไปดูแม่น้ำ คนหลอกว่ามีจระเข้ใต้โบสถ์ หนุนโบสถ์อยู่ ก็ไปนั่งรอดูว่าจริงไหม แต่ก็ไม่เคยเจอ แต่วัดหงอนไก่ไม่ค่อยได้ไปเพราะรถเยอะ นอกจากนี้ก็ยังมีงานประจำปีอื่นๆ อีกเช่น งานประจำปีวัดต่างๆ งานหลวงตาทอง ในงานวัดหลวงตาทอง มีงิ้ว มีลิเก  ลิเกที่ดังๆ คือ ศรีทองเจือ จะเล่นที่โรงหนังเก่าโบราณแถบท่ากลาง วงนี้เป็นคนกระทุ่มแบน บ้านสิขัณฑกสมิต ต้นตระกูลเดิมอยู่ย่านซอยมงคล เดี๋ยวนี้เป็นละครรำ โดยคำว่าทองเจือ คือนางเอกลิเกของคณะ เป็นแม่ของตระกูลสิขัณฑกสมิต (ป้ากิ่งแก้ว อสม. เป็นลูกสะใภ้)

โรงหนังเก่าตรงตลาดท่ากลางที่เป็นตลาดตอนนี้ เป็นปูนครึ่งตึกครึ่งไม้ หลังคาสังกะสี ช่วงแรกเป็นพื้นดินอัดแน่นๆ ตอนหลังเทเป็นปูน นิยมเรียกกันว่า "วิก" แถวนั้นยังเป็นท่ารถเมล์ไปกรุงเทพฯ มีร้านศรีงามใหญ่ที่สุดอยู่แถวนั้น สมัยนั้นเป็นห้องแถวไม้ 2 ห้อง ปัจจุบันคือแถวร้านกวง เบเกอร์รี่ มีร้านตัดผม ร้านตัดกางเกง ร้านทำผม มีร้านลุงหยีขายหนังสือ ร้านก๋วยเตี๋ยวน้ำใสๆ จืดๆ ชื่อเจ๊กขาว มีชือเสียง ตรงเชิงสะพานข้ามไปผดุงราษฎร์ ปัจจุบันคือร้านผัดไทยเจ๊จิตร และมีร้านเจ๊กบักกุ่ยเจ้ก ตอนนี้ลูกสาวขายอยู่ในตลาดสองคนพี่น้อง เดิมทีเตี่ยเขาขายก๋วยเตี๋ยวในคลอง พายเรือขาย มาจอดขายแถวร้าน ป.พาณิชย์ใกล้สะพานข้ามไปแป๊ะกงเป็นประจำ ป้าจะหิ้วหม้อไปซื้อ หม้อเคลือบบ้าง ปิ่นโตบ้าง เพราะไม่มีถุงพลาสติก 

สมัยนั้นไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมาเยอะมาก เพราะบ้านเราเป็นเมืองปิด มาแล้วไม่รู้จะไปไหน ถ้าจะไปต่อก็ต้องนั่งเรือไปบ้านแพ้ว ดำเนิน  แต่ถ้าไปสมุทรสาครยังทะลุไปแม่กลองได้ สมัยก่อนถนนสุคนธวิทยังเป็นถนนดินแดง รถวิ่งฝุ่นตลบ สองข้างทางเป็นต้นจามจุรีที่เทศบาลปลูก มีต้นจามจุรีสองข้างทางมาตั้งแต่อ้อมน้อย ตอนหลังทำถนนลาดยาง ขยายถนน ต้นใหญ่ๆ ก็ถูกตัดทิ้งหมด

ทางฝั่งแป๊ะกง บรรยากาศจะเป็นบ้านไม้ หลังคาจาก บ้านเป็นหลังๆ หลังใครหลังเขา ปลูกกันเองชั้นเดียว สองชั้น ไม่เป็นห้องแถวแบบนี้ หน้าบ้านเป็นดิน มีศาลาท่าน้ำ บ้านใครบ้านมันผ่านกันไม่ได้ ห้องแถวของตาบุญมี กรรณสูต มาปลูกตอนหลังในที่เขาหมดเลย ให้คนเช่า ตอนหลังเขาขาย ทุกคนก็ซื้อ ส่วนฝั่งบ้านนี้ก็เป็นถนน (เจริญสวัสดิ์)  ถนนหน้าบ้านซึ่งจะเล็กกว่านี้ครึ่งหนึ่ง ตอนนี้ขยายเลยไปในคลอง ซึ่งป้าไม่ทราบเช่นกันว่าทำไมชื่อถนนเจริญสวัสดิ์ ฝั่งหลวงตาทองชื่อถนนเจริญบุญ ก็ไม่ทราบที่มาเหมือนกัน เพราะสมัยป้าเด็กๆ ถนนไม่มีชื่อ เรียกกันว่า "ถนนเลียบคลอง" ซึ่งชื่อใหม่นี้ทางการน่าจะตั้งในภายหลัง ส่วนถนนสุคนธวิท ตั้งตามชื่อ ขุนสุคนธวิท ที่เป็ฯผู้ดำเนินการเรื่องการของบประมาณมาสร้าง ส่วนถนนที่มาจากจังหวัดวิ่งมาชนคลองนี้เป็นถนนเศรษฐกิจ แต่ปากทางที่มาทะลุริมคลองเป็นที่เอกชนของร้านลุงอาทร ปั๊มตราดาวเก่า

ตอนก่อนท่าเรือมีที่หน้าโรงพิมพ์วิไล แล้วก็ท่าเรือหน้าร้านหมอประเสริฐทำคลอด พรรณีผดุงครรภ์ ที่เดี๋ยวนี้เป็นบ้านของคุณสงวน นิลดำ แต่ตรงนี้คนไม่ค่อยไปขึ้นลงเรือ เพราะแถวนั้นร้านพรเจริญเดิมมีใช้พื้นที่แถวท่าน้ำบางส่วนช่วงเย็นขายขนม จะมีนักเรียนลงเรือช่วงเช้า ร้านพรเจริญตรงนั้นจะติดกับร้านอุไรวรรณ ร้านลักษณา ตอนหลังก็ย้ายไปแถวโรงพิมพ์วิไล ที่ท่าโรงพิมพ์วิไล เป็นท่าลงเรือคนทั่วไป มีเรือหางยาวมาจอดคอย สมัยนั้นไม่มีศาลาเป็นแค่สะพานทอดลงไป

คลองภาษีเจริญบางช่วงเวลาเคยน้ำแห้งจนเดินข้ามเกือบได้ถึงอีกฝั่ง เด็กซนๆ ก็จะลงไปเขี่ยดินในคลองหาเศษเรียญสตางค์ ที่น้ำแห้งเพราะที่ประตูน้ำวัดปากน้ำภาษีเจริญปิด แล้วระบายน้ำออกประตูน้ำอ่างทอง ท่าจีน แล้วพอได้ระดับแล้ว เขาก็จะเปิดรับน้ำจากเจ้าพระยาปล่อยมาอีกครั้ง แต่ที่เปิดปิดปล่อยจนแห้งก็ไม่ทราบเพราะอะไร แต่ก็ปล่อยแห้งบ่อย

ในฐานะเป็นคนกระทุ่มแบน เกิดที่นี่ โตที่นี่ คิดว่าบ้านเรากับที่อื่นต่างกันไหม
ต่างกันในการพัฒนาท้องถิ่น ที่อื่นดูเขาพัฒนาได้เร็วกว่าเรา เช่น เชียงคาน บ้านเขาไม่มีขยะ ไม้ลูกชิ้นสักไม้ยังไม่มี เพราะทุกคนร่วมมือกันไม่ทิ้งขยะบนถนน ไม่มีถังขยะหน้าบ้าน พอถึงเวลาเอาขยะมาตั้ง รถขยะก็มาเก็บ เขาจะบอกนักท่องเที่ยวเลยว่าห้ามทิ้งขยะ คุณกินอะไรต้องถือกลับไปทิ้งที่ที่พักอาศัย เพราะไม่มีถังขยะให้ เขาทำได้ เพราะคนในท้องถิ่นให้ความร่วมมือ อย่างบางเราเองคนที่ร่วมมือก็เยอะ ไม่ร่วมมือก็เยอะซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นประชากรแฝงจากที่อื่นๆ เยอะ แต่ถ้าช่วยกัน สักวันก็คงดี

คลองภาษีเจริญ เน่ามาก็หลายสิบปีแล้ว เพราะโรงงานเกิดเยอะ สมัยก่อนไม่มีโรงงานเลย มีแค่ที่จังหวัดอย่างเดียว พอมีการตั้งโรงงานที่อ้อมน้อย สวนหลวง วัดใหม่ จนถึงแถบคลองมะเดื่อ ตั้งแต่นั้นมาน้ำก็เริ่มเสีย เพราะบางที่ปล่อยน้ำเสีย จากการฟอกย้อมบ้าง จากการผลิตอะลูมิเนียมเหล็กบ้าง สภาองค์กรชุมชนเคยร่วมกันตรวจกับเทศบาล กับทางจังหวัด ไปถึงแถบวัดใหม่ สวนหลวง เคยมีข้อมูลว่ามีการปล่อยน้ำเสียจากแถบนั้น สังเกตว่าบางช่วงที่ฝนตกเยอะๆ โรงงานบางที่จะแอบลักไก่ปล่อยน้ำเสียลงคลอง ผ่านใต้ดินบ้าง หลังๆ ชาวบ้านรณรงค์กันก็เป็นหูเป็นตาให้ คลองสี่วาช่วงหนึ่งก็น้ำเสียมาก เน่าเลย จนชาวบ้านรณรงค์กันกันก็ดีขึ้น ซึ่งสมัยก่อนคลองพวกนี้น้ำใสหมดเลยนะ เพราะเขาทำไร่ ทำนา ทำสวน นอกจากนี้ก็เกิดจากชาวบ้านด้วย เช่น ไม่มีถังดักไขมันก่อนปล่อยลงคลอง รวมถึงการทิ้งขยะด้วย บางทีทิ้งไว้ไม่เรียบร้อยลมพัดปลิวลงคลอง คนทิ้งก็ไม่ค่อยใส่ใจก่อนทิ้ง เคยมีคนนอกพื้นที่ขับรถมาจอดทิ้งขยะหน้าบ้าน เป็นสิบถุง ส่งกลิ่นเหม็นเน่ามากเหมือนซากสัตว์ จนชาวบ้านแถวนี้บ่นกันหมด ตอนหลังเห็นว่า เอาซากไก่แร่มาทิ้งกว่าจะเช้ามีรถขยะมาเก็บก็เน่าทั้งถุงส่งกลิ่นรบกวนชาวบ้าน ป้าเลยลองสังเกต เมื่อเห็นอีกต่อหน้าก็บอกกล่าวและแจ้งข้อมูลทางเทศบาลไป หลังจากนั้นก็ไม่มีการนำมาทิ้งอีกเลย

คิดว่าคลองภาษีเจริญจะมีโอกาสกลับมาใสเหมือนเดิมได้ไหม
คาดหวังว่ามันจะต้องใส แต่ไม่รู้จะได้สักแค่ไหน มันสภาพดีขึ้นเป็นบางวัน น้ำใส น้ำดี เริ่มมีปลามาแล้ว เพราะจากน้ำขุ่นเป็นฟองฟอด บางทีก็เขียวเป็นน้ำเคมีมา ก็เริ่มมีปลาฮุบน้ำ แสดงว่าอ็อกซิเจนมีแล้ว ก็เป็นความหวังว่าสักวันคงดี อาจจะรุ่นป้าไม่มัน รุ่นหลังอาจจะทัน
ถ้าน้ำไม่เน่า เด็กๆ จะลงเล่นน้ำได้อยู่ ไม่งั้นถ้าเน่าคลองจะกลายเป็นแค่ทางระบายน้ำเสีย ผู้เขียนเคยไปสังเกตุการณ์แถววัดนิมมานรดี วัดปากน้ำภาษีเจริญ สภาพน้ำยังดีไม่เน่าแบบ นี้ คุณป้าบอกว่าเพราะน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ยังไม่เน่ามาจนถึงหนองแขม วัดหนองพะอง ใต้วัดหนองพะองลงมาถึงเริ่มเน่า เลยพอจะสันนิษฐานได้ว่าน้ำจะเริ่มเน่าบริเวณนั้น จากโรงงานแถบนั้น เพราะมีการไปตรวจจับโรงงานแถวนั้นพบว่ามีการต่อท่อจากโรงงานลงใต้ดินไปผุดกลางคลอง ทางอุตสาหกรรมจังหวัดก็สั่งปิดโรงงานไป แต่ไม่รู้จะมีการกลับมาทำผิดอีกไหม

อหิวาตกโรคระบาด
ช่วงที่เรียนอยู่ประถม 1 ประถม 2 โรคอหิวาห์ระบาดหนัก มีการมาตั้งเต็นท์ที่หน้าอำเภอ มีคนนอนรักษาเป็นร้อยคน แล้วพอเลิกเรียนต้องเดินผ่านแถวนั้น ก็เห็นน้ำที่นองพื้นจากเต็นท์ ทั้งกินอยู่อาศัย เช็ดตัวคนไข้  ไม่กล้าเดินเหยียบต้องหลบเพราะกลัวเชื้อโรค ตอนนั้นเหตุการณ์นี้ดังมาก ทางโรงเรียนมีการฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาห์ ป้าต้องวนหนีหลบหลังแถวตลอด สุดท้ายไม่พ้นโดนฉีดเช่นกัน แต่เพื่อนบางคนหนีไปได้เพราะกลัวฉีดยา

บรรยากาศเต๊นท์รักษาผู้ป่วย บริเวณหน้าสุขศาลากระทุ่มแบน ช่วงการเกิดโรคอหิวาห์
ภาพจากคุณสเมธ สุขสาคร

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ ห้องภาพชูศิลป์ ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่มแบน จากคำบอกเล่าของคุณป้าเช็ง ทายาทเจ้าของร้านที่ยังคงรับถ่ายรูปติดบัตรด้วยบริการจากใจ เหมือนคนในครอบครัว และคุณป้าก็น่าจะเป็นช่างภาพในกระทุ่มแบนที่มีอายุมากที่สุดที่ยังคงถ่ายภาพอยู่ในปัจจุบัน  

ตลอดหลายชั่วโมงที่ได้ฟังคุณป้าเช็งถ่ายทอดอดีตให้ได้ฟัง ผมสัมผัสได้ถึงความภาคภูมิใจและการบริการด้วยใจอย่างแท้จริง แม้เทคโนโลยีการถ่ายภาพจะเปลี่ยนไปสักเพียงไหน ผมยังคงรู้สึกเสมอว่า "ห้องภาพชูศิลป์" คือ ตำนานร้านถ่ายรูปของกระทุ่มแบนเสมอ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ
แอดมินเพจกระทุ่มแบนโฟโต้
12 กันยายน 2562

*หากพบเรื่องราวที่คลาดเคลื่อน การพิมพ์ผิดพลาด กรุณาแจ้งแอดมินเพื่อนปรับแก้ให้ถูกต้องด้วยครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชื่อ "กระทุ่มแบน" มาจากไหน

"บ้านน้องอยู่ที่ไหนนะ?" "กระทุ่มแบนครับ" "แล้ว กระทุ่มแบน เนี่ย ทำไมมันถึงชื่อนี้?" "อืม..ไม่แน่ใจ...ไม่ทราบเลยครับ" เชื่อได้ว่าคนกระทุ่มแบนหลายคนคงจะคุ้นเคยกับบทสนทนาประมาณข้างต้น ที่ตอบได้เพียงคำถามแรก แต่เมื่อถึงคำถามที่สอง เซลล์สมองอาจต้องวิ่งทำงานเหนื่อยกันเลยทีเดียว สุดท้ายบางคนตอบได้ บางคนเดาไป บางคนถามกลับว่า "อยากจะรู้ไปทำไม" สำหรับผมแล้ว... "กระทุ่มแบน...ทำไมมันถึงชื่อนี้" มันเป็นคำถามที่ค้างคาใจมาหลายปี จนกระทั่งวันที่พอจะมีกำลังและเวลา รวมถึงความพร้อมประกอบอื่นๆ ทำให้ได้ออกค้นหาคำตอบเสียที ภาพแผนที่ตัดเฉพาะส่วนจากกรมแผนที่ทหารบกสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2456 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

วัดนางสาวมีโบสถ์ มหาอุด หรือ มหาอุตม์ เขียนแบบไหน?

โบสถ์มหาอุด วัดนางสาว ถ่ายเมื่อ 1 ม.ค. 2562 คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อถ้าบอกว่าเป็นคนกระทุ่มแบนแต่ไม่รู้จักวัดนางสาว เพราะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในด้านการพัฒนา มีตำนานเรื่องเล่ามากมายหลากหลายเรื่อง รวมถึงโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์และพิเศษกว่าหลายๆ โบสถ์ของวัดในเมืองไทย ส่วนประวัติวัดนางสาว และเรื่องราวประกอบอื่นๆ ผมคงได้รวบรวมข้อมูล ประวัติต่างๆ เพื่อเขียนให้ได้อ่านกันในบทความถัดๆ ไป ในตอนนี้ขอกล่าวถึง โบสถ์หรืออุโบสถที่วัดนางสาว  อายุเก่าแก่กว่า 400 ปี ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีพาไลหรือพะไลยื่นออกมา 1 ห้อง (พาไลหรือพะไล แปลว่า เรือนหรือเพิงโถง ต่อจากเรือนเดิมหรืออยู่ในบริเวณของเรือนเดิม ใช้เป็นที่นั่งเล่นหรือประโยชน์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน)  มีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคาจำนวน 4 ต้น ช่อฟ้าใบระกาเป็นปูนปั้นประดับกระจก ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูเข้าออกด้านหน้าเพียงประตูเดียว ไม่มีหน้าต่าง ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมใหม่โดยปูหินอ่อนภายใน มีลายจิตรกรรมฝาผนัง ด้านผนังนอกมีการปรับเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาที่มี