ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

หลวงขาณุบุรินทร์โยธี (อ้น ทองเอกลาภ) คนท่าเสา กระทุ่มแบน

เจดีย์บรรจุอัฐิหลวงขาณุบุรินทร์โยธี (อ้น ทองเอกลาภ) ภรรญา และญาติ
เจดีย์บรรจุอัฐิหลวงขาณุบุรินทร์โยธี (อ้น ทองเอกลาภ) ภรรยา และญาติ

          ย้อนกลับไปเกือบ ๔ ปีก่อน เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๕ มิ.ย. ๒๕๖๐ ผมไปเดินหาข้อมูลเรื่องเก่าๆ ย่านวัดท่าเสา กระทุ่มแบน เดินไปเรื่อยเปื่อย ถ่ายรูปบริเวณในวัด เดินผ่านเจดีย์บรรจุอัฐิที่มีทั้งเก่าใหม่รูปร่างแปลกแตกต่างกันไป ระหว่างนั้นก็ได้ไล่อ่านชื่อตามฐานเจดีย์ควบคู่ไปด้วยบางชื่อ บางนามสกุล ไม่เคยทราบหรือคุ้นมาก่อนว่าเป็นคนในย่านกระทุ่มแบน เลยถ่ายภาพเผื่อมาหาข้อมูลเพิ่มเติม และใช้เป็นข้อมูลประกอบอื่นๆ ในอนาคต ผมสะดุดตากับชื่อหนึ่งซึ่งน่าสนใจ คือ หลวงขาณุบุรินทร์โยธี (อ้น ทองเอกลาภ) ด้วยความที่ผมอ่านหนังสือไม่เยอะมาก เบื้องต้นจึงค้นหาผ่านระบบออนไลน์พบข้อมูลที่สรุปจาก บันทึกความทรงจำชีวิตในต่างประเทศ ภาคต้น พระนิพนธ์ในพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงมยุรฉัตร โดยมีช่วงหนึ่งระบุไว้ว่า
"หลวงขาณุบุรินทร์โยธีปลัดกรมของกรมพระกำแพงฯ อีกคนหนึ่งที่มีโอกาสตามเสด็จต่างประเทศ เจ้านายทุกพระองค์รู้จักในนามว่า นายอ้น นายอ้นต้องสะพายกล้องถ่ายรูปถ่ายหนังหลายอันจนเต็มบ่าทั้งซ้ายขวา บางคราวมองเห็นแต่หมวกกับรองเท้าส่วนตรงกลางตัวบรรทุกสัมภาระมากมายมองดูนุงนังไปหมด นายอ้นถูกกริ้วบ่อยครั้งที่สุดแต่เขาเป็นคน หน้าตาย ถึงจะกริ้วหรือไม่กริ้วก็ไม่แสดงให้ทราบว่ามีความรู้สึกอย่างใด นี่ก็อีกคนที่สามารถไปเที่ยวได้ตามลำพัง แต่ครั้งแรกต้องมีผู้พาไปก่อน"
          ผมนึกในใจมาโดยตลอดว่าน่าไปค้นต่อจริงๆ ว่านายอ้น ท่านนี้มีประวัติเป็นมาอย่างไร ลูกหลานยังอยู่หรือไม่ เป็นคนกระทุ่มแบนหรือเปล่า แต่ก็ยังไม่พบข้อมูลใดๆ เพิ่มเติม จนกระทั่งเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ผมได้รับข้อความทางเฟซบุ๊กจาก "พี่เล็ก" พี่ที่เคารพนับถือท่านหนึ่งทางด้านประวัติศาสตร์ ได้ส่งรูปปกหนังสือที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ หลวงขาณุบุรินทร์โยธี (อ้น ทองเอกลาภ)  ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันพฤหัสที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๒๐ พร้อมรูปและหน้าประวัติมาให้ และช่วยแนะนำเรื่องที่น่าจะมีข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม แต่ผมยังหาบทความและหนังสือดังกล่าวไม่พบ ผมเปิดอ่านไฟล์รูปด้วยความตื่นเต้นและดีใจที่ได้ไขคำตอบ ชื่อใต้ฐานเจดีย์บรรจุอัฐิที่วัดท่าเสา เมื่อ ๔ ปีก่อน

          หลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ ผมได้พบพ่อค้าหนังสือเก่าลงขายหนังสือเล่มดังกล่าวในเฟซบุ๊ก จึงได้ติดต่อและซื้อมาเก็บไว้ในครอบครอง และพิมพ์คัดลอกในส่วนประวัติจากช่วงต้นหนังสือมาเผยแพร่เพื่อเป็นบันทึกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับคนกระทุ่มแบนไม่ให้สูญหายไป หากบุตร หลาน ญาติมิตรของหลวงขาณุบุรินทร์โยธี (อ้น ทองเอกลาภ) ได้มีโอกาสเปิดมาอ่านบทความนี้และอยากเพิ่มเติมข้อมูลอื่นใด รบกวนแจ้งมาทางเพจกระทุ่มแบนโฟโต้ได้เลยนะครับ 


ประวัติ

หลวงขาณุบรินทร์โยธี (อ้น ทองเอกลาภ) 




          นายอ้น ทองเอกลาภ เป็นบุตร นายทอง นางบุญเกิดเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๓ ณ ตำบลท่าเสา อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร มีพี่น้อง ๔ คนคือ:- 

๑. นายอ้น ทองเอกลาภ
๒. นายอั๋น ทองเอกลาภ (ถึงแก่กรรม)
๓. นางปุ้ย คำลออ (ถึงแก่กรรม)
๔. นางนวล (ถึงแก่กรรม) 

          นายอ้นอยู่กับภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากจนถึงสุดท้ายของชีวิต คือ นางวันดี ทองเอกลาภ มีบุตรและบุตรี รวม๔ คน คือ:-

๑. นางฉวี เทพหัสดิน ณ อยุธยา
๒. นายสุนทร ทองเอกลาภ
๓. นางมาลี บุนนาค 
๔. นางฉอ้อน ทองเอกลาภ 

         ในขณะที่ยังอยู่ในวัยเยาว์ นายอ้นได้ช่วยพ่อแม่ทำนาด้วยความขยันหมันเพียร โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากนายอันมีความระลึกและภูมิใจอยู่เสมอในอาชีพการทำนา แม้ชีวิตเกือบจะเข้าสู่วัยชรา นายอ้นยังคงสนับสนุนและส่งเสริมให้ลูกหลานทำนา นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาอย่างหาที่เปรียบมิได้ แม้ในระยะเวลาต่อมาจะได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว ก็จะต้องกลับไปเยี่ยมบิดามารดาทุกๆ เดือน โดยเดินเท้าจากกรุงเทพฯ ไปสมุทรสาคร (ขณะนั้นการคมนาคมไม่สะดวก) 

          นอกจากนั้น นายอ้นยังมีความรักอย่างยุติธรรมแก่น้องทั้งสาม จึงเป็นที่เคารพของน้องอย่างสูง นายอ้น ทองเอกลาภ ได้จากบ้านมาอยู่กับพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ตั้งแต่พระองค์ท่านดำรงพระอิศริยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ ครั้นเมื่อได้รับการสถาปนาเป็นกรมหมื่นกำแพงเพชรอัครโยธิน นายอันก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นหมื่นขาณุบุรินทร์โยธี ตำแหน่ง "ปลัดกรม" (ผมหาข้อมูลเพิ่มเติม *เมื่อปีมะเมีย อัฐศก จุลศักราช ๑๒๖๘ พ.ศ. ๒๔๔๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และในที่สุดก็ได้รับการแต่งตั้งเบ็น "หลวงขาณุบุรินทร์โยธี" (ผมหาข้อมูลเพิ่มเติม *เมื่อปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช ๑๒๙๑  พ.ศ. ๒๔๗๒ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)

         ในเวลาต่อมาในขณะที่กำลังรับราชการสนองพระเดชพระคุณในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินอยู่นั้น นายอ้นได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เด็ดเดี่ยว และกล้าหาญ ในขณะที่กรมพระกำแพงเพชรฯ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพานิชย์และคมนาคม นายอ้นได้ตามเสด็จไปประเทศต่างๆ ในยุโรปถึง ๒ ครั้ง และประเทศจีน ๑ ครั้ง ในฐานะมหาดเล็กคนสนิทของพระองค์ท่าน 

         ครั้นเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เสด็จในกรมพระกำแพงเพชรฯ เสด็จไปประทับยังประเทศสิงคโปร์ นายอ้นมิได้ตามไปด้วย แต่อยู่เฝ้าวังบ้านดอกไม้ (บัจจุบัน คือ องค์การน้ำตาล) ตราบจนกระทั่งเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรฯ สิ้นพระชนม์ จึงได้ย้ายไปอยู่กับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ณ วังนฤมล ราชวัตร นายอ้น ทองเอกลาภ กราบทูลลาออกมาใช้ชีวิตอยู่กับบรรดาลูก ๆ และหลานๆ เมื่อชีวิตเข้าวัยชรา 

          นายอ้นเป็นคนที่ดำเนินชีวิตอย่างมีระเบียบ และตรงเวลาทั้งการกิน การนอน ตลอดจนการศึกษาหาความรู้ จึงมีพลานามัยสมบูรณ์ เป็นผู้ที่ชอบสะสมบุญุกุศล เช่น การทอดกฐิน การสร้างเมรุเผาศพให้แก่วัดท่าเสา อำเภอกระทุ่มเบน เป็นเงินถึงสามแสนบาทเศษ เป็นตัน แต่ด้วยกฎแห่งธรรมชาติตามธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ว่า "ไม่มีผู้ใดจะหลีกเลี่ยงความแก่ ความเจ็บ และความตายไปได้" เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๐ นายอ้นก็ล้มเจ็บด้วยไข้หวัด ถึงแพทย์จะเยียวยาจนสุดความสามารถเพียงใด นายอ้น ทองเอกลาภ ก็ถึงแก่กรรมอย่างสงบ ในคืนวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๒๐ รวมสิริอายุได้ ๘๗ บี ซึ่งเบ็นที่เสียใจอย่างสุดซึ้งของภรรยาลูก หลาน ญาติ และมิตร.


คำไว้อาลัยจากลูก



คำไว้อาลัยจากหลาน












แหล่งอ้างอิง
  • บุตร ธิดา หลวงขาณุบุรินทร์โยธี. ๒๕๒๐. ที่ระลึก งานฌาปนกิจศพ หลวงขาณุบุรินทร์โยธี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์วิญญาณ
  • สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร. บันทึกเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://valuablebook2.tkpark.or.th/2015/5/document9.html.  (วันที่ค้นข้อมูล : ๙ มีนาคม ๒๕๖๔).

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชื่อ "กระทุ่มแบน" มาจากไหน

"บ้านน้องอยู่ที่ไหนนะ?" "กระทุ่มแบนครับ" "แล้ว กระทุ่มแบน เนี่ย ทำไมมันถึงชื่อนี้?" "อืม..ไม่แน่ใจ...ไม่ทราบเลยครับ" เชื่อได้ว่าคนกระทุ่มแบนหลายคนคงจะคุ้นเคยกับบทสนทนาประมาณข้างต้น ที่ตอบได้เพียงคำถามแรก แต่เมื่อถึงคำถามที่สอง เซลล์สมองอาจต้องวิ่งทำงานเหนื่อยกันเลยทีเดียว สุดท้ายบางคนตอบได้ บางคนเดาไป บางคนถามกลับว่า "อยากจะรู้ไปทำไม" สำหรับผมแล้ว... "กระทุ่มแบน...ทำไมมันถึงชื่อนี้" มันเป็นคำถามที่ค้างคาใจมาหลายปี จนกระทั่งวันที่พอจะมีกำลังและเวลา รวมถึงความพร้อมประกอบอื่นๆ ทำให้ได้ออกค้นหาคำตอบเสียที ภาพแผนที่ตัดเฉพาะส่วนจากกรมแผนที่ทหารบกสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2456 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เปิดตำนาน "ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่มแบน"

หากค้นรูปถ่ายติดบัตรขาวดำเก่าๆ ยุค 2500 ที่บ้านของคนกระทุ่มแบนขึ้นมาดู ผมเชื่อว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรูปถ่ายเหล่านั้น บนมุมซ้ายหรือขวาด้านล่างของรู ปจะต้องมีตราประทับแบบนูนของร้ านถ่ายรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านที่นิยมและได้รั บความไว้วางใจจากชาวกระทุ่ มแบนมาอย่างยาวนาน นั่นคือ "ห้องภาพชูศิลป์ : ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่ มแบน" หลังจากหาเวลานัดหมายกับห้องภาพชูศิลป์ ให้จังหวะลงตัวกับวันที่ ผมพอจะว่างจากทั้ งงานประจำและงานพิเศษในวันหยุ ดเสาร์-อาทิตย์เรียบร้อย ผมจึงได้มีโอกาสฟังเรื่องราวดีๆ จากทายาทผู้ก่อตั้ง "ห้องภาพชูศิลป์" ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2562 คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" ลูกสาวคนโตของเจ้าของห้องภาพชูศิลป์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2492 ได้บอกเล่าให้ผมได้ฟังด้วยรอยยิ้ มอารมณ์ดีถึงประวัติห้องภาพชูศิลป์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในรุ่นของคุ ณพ่อและคุณแม่  คุณพ่อมีลูก 5 คน คือ คุณป้าเป็นคนโต มีน้องชาย 3 คน และน้องสาวคนเล็กอีกคน   คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" จุดเริ่มต้นของอาชีพถ่ายภาพ คุณแม่ป้าเช็งชื่อ ...

กว่า ๙๐ ปี "ร้านกิมกี่" และเรื่องเล่าจากเจ้าของร้าน

ตลาดกระทุ่มแบนเป็นอีกหนึ่งชุมชนอันเป็นศูนย์กลางด้านการค้าที่สำคัญมาหลายร้อยปีในอำเภอกระทุ่มแบน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ตามแนวคลองภาษีเจริญในบริเวณตลาด ใกล้กับจุดที่คลองกระทุ่มแบนตัดผ่านกับคลองภาษีเจริญ หรือคนเก่าๆ ในพื้นที่เรียกกันว่า “ตลาดสี่แยก” หรือ “ตลาดสี่กั๊ก” อันเป็นตลาดน้ำที่คนรุ่นเกิดก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้บอกเล่ากันเป็นเสียงเดียวว่ามีความคึกคัก มีเรือแน่นเป็นร้อยลำทั้งเรือพ่อค้าแม่ค้า และเรือชาวบ้านที่มาจับจ่ายซื้อของในยามเช้า เรือนไม้ริมคลองบริเวณถนนเจริญสวัสดิ์นับตั้งแต่สามแยกโรงพิมพ์วิไลพาณิชย์ยาวเรื่อยไปจนถึงศาลหลวงตาทองก็จะเป็นห้องแถวไม้เก่าที่เป็นแถวแนวยาว บางส่วนมีการก่อสร้างขึ้นในยุค ๒๔๙๐ แต่บางส่วนก็มีการก่อสร้างมาก่อนหน้านั้น มีห้องแถวอยู่ช่วงหนึ่งฝั่งตลาดบริเวณเชิงสะพานแป๊ะกง หรือที่หลายคนเรียกกันอีกชื่อว่า “ตลาดบุญมี” ที่ยังคงสภาพความเป็นเรือนไม้เก่าที่ขนาบข้างด้วยอาคารคอนกรีตที่ปลุกขึ้นมาทดแทน ทำให้ผมได้มีโอกาสได้พอเห็นสภาพเดิมของห้องแถวรุ่นแรกๆ ของตลาดกระทุ่มแบนอยู่บ้าง แต่จะมีอยู่ร้านหนึ่งที่มีป้ายระบุอายุร้านชั...