เมื่อหลายวันก่อน คุณอาไพบูลย์ สำราญภูติ คนกระทุ่มแบนผู้มีชื่อเสียงด้านการตลาด ที่ผมได้มีโอกาสรู้จักกันมาหลายปี ได้คอมเมนต์สอบถามถึงเรื่องประวัติของสุสานสีบุญเรืองมาในเฟซบุ๊กส่วนตัวของผม
ประจวบกับความคิดดั้งเดิมที่เคยจะเขียนถึงเรื่องนี้อยู่เป็นทุนเดิมแล้ว แต่ข้อมูลอาจยังไม่ครบถ้วนในทุกด้าน ผมเลยได้แต่ผัดวันประกันพรุ่งออกไปก่อน แต่เมื่อลองไตร่ตรองให้ดีแล้วพบว่า ข้อมูลบางเรื่องไม่ต้องสมบูรณ์หมดจดก็ได้ ขอแค่เขียนออกมาให้ครบถ้วนถูกต้องเท่าทีมีก่อนเพราะถ้ามัวแต่รอก็ไม่ได้เขียนเสียที ที่สำคัญเมื่อเขียนเผยแพร่ออกมาแล้ว น่าจะมีผู้รู้หลายท่านมาช่วยกันเติมเต็มข้อมูลในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์กแบบทุกวันนี้ก็เป็นได้
หากกล่าวถึงสุสานสีบุญเรือง ในความทรงจำของผม คือ ภาพป้ายสุสานที่ตั้งอยู่ริมคลองภาษีเจริญ ซึ่งผมมองเห็นอยู่หลายครั้ง เมื่อคราวใช้บริการเรือหางยาวจากกระทุ่มแบนไปหนองแขม หรือหนองแขมมากระทุ่มแบน แต่ด้วยความเป็นเด็กจึงไม่ได้สนใจอะไรมากนัก เพียงแต่ทราบว่ามีความเกี่ยวพันกับตระกูลสีบุญเรืองเป็นแน่แท้
คนกระทุ่มแบนจำนวนไม่น้อย น่าจะรู้จักสกุลสีบุญเรือง จากเมื่อครั้งทายาทตระกูลสีบุญเรือง ได้จัดสร้างอาคารเรียนหลังใหม่แทนหลังเดิมของโรงเรียนประสานราษฎร์ (ก่อตั้งโดยขุนประสารสิริราษฎร์) เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่นายเซียวซองอ๊วน สีบุญเรือง คหบดีผู้เป็นที่รักใคร่และนับถือของประชาชนในตำบลตลาดกระทุ่มแบน เมื่อสร้างเสร็จได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "โรงเรียนศรีบุณยานุสสรณ" (ปัจจุบัน ชื่อ โรงเรียนเทศบาลศรีบุณยานุสสรณ์) ฉะนั้น เด็กโรงเรียนนี้จึงได้คุ้นชื่อนายเซียวซองอ๊วน สีบุญเรืองกันเกือบทุกคน นายเซียวซองอ๊วนเอง ในวัยเด็กช่วงหนึ่งเคยได้ศึกษาวิชาหนังสือไทยอยู่ในสำนักของท่านอาจารย์ดิส เจ้าอาวาสวัดดอนกะฎี จังหวัดนครไชยศรี (วัดดอนไก่ดี ในปัจจุบัน) ส่วนประวัติของนายเซียวซองอ๊วนขอยกยอดไว้เขียนในโอกาสถัดไป
กลับมาในส่วนของสุสานสีบุญเรืองกันต่อครับ...
ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณสุสานสีบุญเรืองและมูลนิธิสีบุญเรือง ริมคลองภาษีเจริญ กระทุ่มแบน
ภาพจาก Google Map เข้าถึงเมื่อ 13 ก.ย. 64
บริเวณที่ดินที่ขึ้นป้ายว่า "สุสานสีบุญเรือง" อยู่ริมคลองภาษีเจริญ ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เป็นที่ดินสมบัติของนางทองคำมาแต่เดิม โดยผมเองลองคำนวณกลับจากข้อมูลในหนังสืออนุสรณ์นายจำรัส สีบุญเรือง พอจะประมาณได้ว่าที่ดินผืนนี้น่าจะอยู่ในครอบครองของนางทองคำมาตั้งแต่ประมาณช่วงการขุดคลองภาษีเจริญในระยะแรกหรือเสร็จสิ้น นั่นก็ตรงกับราว พ.ศ. 2410-2415 หรืออาจหลังจากนั้นไม่นานนัก ที่ดินผืนนี้มีพื้นที่ประมาณร้อยไร่เศษ ต่อมานางทองคำได้สมรสกับนายเซียวฮุดติ้น มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 10 คน แต่ในหนังสืออนุสรณ์นายซองกุ่ย สีบุญเรือง ระบุว่ามีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน รวม 9 คน ได้แก่- นายซองหลิน (ผมไม่แน่ใจว่าคือท่านเดียวกับนายซองหลิมหรือไม่ ต้องรอตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง)
- นายซองเหลียน
- นายซองอ๊วน
- นายซองหิน
- นายซองแป๊ะ
- นางโสม
- นายซองกุ่ย
- นางเสริม
- นายเลียนบี (แต่นายเลียนบี ใช้นามสกุล แซ่ตัน ของนายตันเกงฮวยผู้เป็นลุง)
ทั้งนี้ ในหนังสืออนุสรณ์นายซองอ๊วน ยังได้ระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยังมีน้องหญิงต่างมารดาอีก 2 คน คือ นางสำริดกับนางเดิม ซึ่งมีเรือนไปแล้ว
ประมาณ พ.ศ. 2435 นายเซียวฮุดติ้น ได้ถึงแก่กรรมลง และจากนั้นประมาณ 30 วัน นางทองคำก็ได้ถึงแก่กรรม เมื่อทั้งสองท่านได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ที่ดินผืนดังกล่าวนี้ก็ตกทอดมาถึงทายาท ในที่สุดนายเซียวซองแป๊ะ สีบุญเรือง ผู้เป็นบุตรคนหนึ่งของท่านทั้งสองคนก็ได้เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้แต่ผู้เดียว ที่ดินผืนนี้ใช้ทำนา มีเรือนไม้สักหลังใหญ่สองชั้นพร้อมด้วยสุสานของนายเซียวฮุดติ้นและนางทองคำกับญาติผู้ใหญ่อีกบางท่าน ตั้งอยู่ทางด้านริมคลอง
ฮวงซุ้ย นายเซียวฮุดติ้น และนางทองคำ (ภรรยา) เจ้าของที่ดิน
ซึ่งอยู่อาศัยในสถานที่นี้ จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ภาพและข้อมูลจาก เพจสกุลสีบุญเรือง
ฮวงซุ้ยนายยี (ก๋งยี) ซึ่งเป็นทนายหน้าหอของเซียวฮุตติ้น
ในระหว่างที่นายเซียวซองแป๊ะ สีบุญเรือง ยังมีชีวิตอยู่ ก็ได้บำรุงรักษาที่ดินผืนนี้ไว้ให้คงอยู่ในสภาพเดิมด้วยโดยตลอดมา โดยมอบให้นายเซียวซองเปี๊ยะ (บิดาของนายจำรัส สีบุญเรือง) ผู้ที่เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์เก็บดอกผลมาบูรณะบ้านและสุสาน ตลอดจนบำเพ็ญกุศลทานเป็นประจำ ก่อนที่นายเซียวซองแป๊ะ สีบุญเรือง ถึงแก่กรรม ได้แสดงเจตจำนงไว้กับบรรดาญาติพี่น้องว่า ขออุทิศที่ดินผืนนี้ให้เป็นของกลางสำหรับผู้ร่วมสกุลสีบุญเรืองเพื่อดำเนินการต่อไป เป็นการส่งเสริมสกุลสีบุญเรืองให้มาร่วมชุมนุมกันเพื่อบำเพ็ญกุศลให้แก่บรรพบุรุษซึ่งจะก่อให้เกิดความสามัคคีเป็นปึกแผ่นแก่ตระกูลสีบุญเรือง โดยส่วนรวมสืบไป
นายเซียวซองแป๊ะ สีบุญเรือง
ภาพจากหนังสือสังคหวัตถุ นายเซียวซองแป๊ะ สีบุญเรือง
พิมพ์ชำร่วยเป็นที่ระลึกในการฉลองโรงเรียน "ศรีบุณยานุสสรณ" และสะพาน "เริงบุญ"
ครั้นเมื่อนายเซียวซองแป๊ะ สีบุญเรืองได้ล่วงลับไปแล้ว ทายาทผู้จัดการมรดกของนายเซียวซองแป๊ะ สีบุญเรือง ก็ได้ดำเนินการมอบที่ดินแปลงนี้ให้แก่บรรดาผู้ชายคนโตของพี่น้องร่วมบิดามารดาของนายเซียวซองแป๊ะ สี บุญเรือง เพื่อดำเนินการสืบไปตามที่นายเซียวซองแป๊ะได้แสดงเจตจำนงไว้ ผู้ที่ได้รับมอบที่ดินผืนนี้จากผู้จัดการมรดกของนายเซียวซองแป๊ะ สีบุญเรืองในขณะนั้นมี 6 คนด้วยกันคือ
- นายเอี่ยม สีบุญเรือง
- นายอุดม (หยู) สีบุญเรือง
- นายอรุณ สีบุญเรือง
- นายบุญช่วย สีบุญเรือง
- นายประสพ (โป้) สีบุญเรือง
- นายจำรัส สีบุญเรือง
บุคคลทั้งหกนายที่ได้กล่าวนามมาแล้วข้างต้นนี้ได้มอบให้นายจำรัส สีบุญเรือง เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์แทนนายเซียวซองเปี๊ยะ สีบุญเรือง ผู้บิดา ซึ่งได้ล่วงลับไปก่อนแล้ว อย่างไรก็ดีการดำเนินการดูแลผลประโยชน์ในระยะเริ่มแรกนี้ได้จัดทำในรูปคณะกรรมการ ซึ่งต่างก็มีสิทธิเท่าเทียมกัน นายจำรัส สีบุญเรือง เห็นว่าการดำเนินงานในรูปแบบนี้อาจจะประสบอุปสรรค และไม่มีหลักประกันในความมั่นคงถาวรในการต่อไป ที่ดินผืนนี้นับวันแต่จะมีราคาสูงขึ้น เพราะมีถนนเศรษฐกิจ 1 ตัดผ่านไปสู่จังหวัดสมุทรสาคร ผลประโยชน์ก็จะเพิ่มพูนขึ้นเป็นเงาตามตัว ประการสำคัญก็คือการดำเนินงานในรูปนี้ยังไม่บรรลุเจตจำนงของผู้บริจาคที่ดินผืนนี้อย่างสมบูรณ์ นายจำรัส สีบุญเรือง เห็นว่าการแก้ไขปัญหาเหล่านี้มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือ การก่อตั้งขึ้นในรูปมูลนิธิเป็นนิติบุคคลตามกฏหมาย โดยมีมูลนิธิเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งปวงแทนบุคคลที่ร่วมจัดการในขณะนั้นนายจำรัส สีบุญเรือง
ภาพจากหนังสือ จำรัสอนุสรณ์ พ.ศ. 2511
นายจำรัส สีบุญเรือง ได้พยายามชี้แจงและชักชวนบรรดาญาติให้ร่วมกันพิจารณาเพื่อจัดตั้งมูลนิธิขึ้นให้เป็นการถาวรต่อไป เมื่อส่วนมากเห็นพ้องด้วยนายจำรัส สีบุญเรือง จึงได้เปิดการประชุมบรรดาญาติและเชิญนายเซียวซองกุ่ย สีบุญเรือง ญาติผู้ใหญ่อาวุโสให้เป็นประธานดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิ “สีบุญเรืองมูลนิธิ” ขึ้น แต่การดำเนินงานในครั้งนี้ในเวลาต่อมาต้องสะดุดหยุดลง เพราะเกิดความเห็นแตกแยกกันเป็นหลายฝ่าย แม้ว่าการจัดตั้งมูลนิธิจะชะงักลง ในระหว่างนั้น นายจำรัส สีบุญเรือง ก็มีได้ท้อถอย ยังคงดูแลผลประโยชน์ ของที่ดินผืนนี้ด้วยความมานะบากบั่น และยังคงยึดมั่นในความคิดเดิมที่จะจัดตั้งมูลนิธิในโอกาสต่อไปให้จงได้ โดยได้พยายามชี้แจงเหตุผลแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องถึงผลได้ผลเสียอันจะพึงมีต่อประโยชน์ส่วนรวมของวงศ์สกุลสีบุญเรือง และลูกหลานรุ่นหลังต่อไป ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาดีพี่นายจำรัส สีบุญเรือง มีต่อวงศ์สกุลอย่างแจ่มชัด
ในที่สุดความพยายามของนายจำรัส สีบุญเรือง ก็เป็นผลสำเร็จ จึงได้ทำการจดทะเบียนตราสารมูลนิธิ “ฮุดติ้นและทองคำ สีบุญเรืองมูลนิธิ” ขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2506 มีวัตถุประสงค์ในการบำเพ็ญกุศลทานในทางพุทธศาสนา บำรุงการศึกษาและช่วยเหลือในการฌาปนกิจศพ ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายเซียวฮุดติ้นและนางทองคำ สีบุญเรือง ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติมูลนิธินี้มาแต่ดั้งเดิม โดยมีผู้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิเป็นคณะกรรมการชุดแรกรวม 7 คนดังนี้ คือ
- นายเอี่ยม สีบุญเรือง ประธานกรรมการ
- นายอั๋น สีบุญเรือง เหรัญญิก
- นายอุดม สีบุญเรือง เลขานุการ
- นายจำรัส สีบุญเรือง กรรมการผู้จัดการ (ถึงแก่กรรม)
- นายอรุณ สีบุญเรือง กรรมการ
- นายบุญช่วย สีบุญเรือง กรรมการ (ถึงแก่กรรม)
- นางเสริม สีบุญเรือง กรรมการ (ถึงแก่กรรม)
สำนักงานแรกเริ่มของมูลนิธินี้ตั้งอยู่ที่บ้านพักของนายจำรัส สีบุญเรือง เลขที่ 226 ถนนสีลม ตำบลสุริวงศ์ อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร นายจำรัส สีบุญเรือง ในฐานะกรรมการจัดการมูลนิธินี้ได้ใช้ความพยายามดำเนินงานนี้มาประมาณ 4 ปีเศษ ก็ถึงแก่กรรมลง ผลอันเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของนายจำรัส สีบุญเรือง ได้บังเกิดประโยชน์ส่วนรวมแก่ผู้ร่วมสกุลสีบุญเรือง เป็นอเนกประการ นอกจากนี้ผลพลอยได้อันเกิดจากการดำเนินงานของนายจำรัส สีบุญเรือง ก็คือ มีความสามัคคีเกิดขึ้นในหมู่ผู้ร่วมสกุลสีบุญเรือง ตลอดจนวงศาคณาญาติที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสกุลนี้ เนื่องจากได้มีการพบปะสังสรรค์กันในการชุมนุมร่วมกันเพื่อบำเพ็ญกุศลที่ดินผืนนี้ในวันสำคัญประจำปี คือวันที่ 6 เมษายนของทุกๆ ปีอีกประการหนึ่งด้วย
ต่อมาในภายหลัง (ผมไม่มีข้อมูลว่าเมื่อใด) "มูลนิธิสีบุญเรือง" ได้ย้ายมาตั้งในบริเวณพื้นที่แห่งนี้ ตามภาพหลักฐานที่ปรากฏในเพจสกลุสีบุญเรือง
อาคาร "มูลนิธิสีบุญเรือง" กระทุ่มแบน
เรือนไม้สักหลังใหญ่สองชั้นภายหลังได้รับการบูรณะ เมื่อ พ.ศ. 2557
ภาพจาก เพจสกุลสีบุญเรือง เรือนปั้นหยา และสระน้ำริมเรือน โดยคุณนิพนธ์ เพิ่มพูลบุญ อธิบายในเพจสกุลสีบุญเรืองไว้ว่า "..แม่ของผม นางประจวบ ลูกสาวเซียว ทรง โป๊ .. เล่าให้ฟังว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม่กับยาย (นางเสริม สีบุญเรือง) ได้อพยพมาอยู่ที่เรือนปั้นหยาหลังนี้ ในสมัยนั้นไม่มีน้ำประปา ก็ได้อาศัยน้ำในสระ ในการดำเนินชีวิต ซึ่งเดิมสระจะมีขนาดเล็กกว่าครับ"
กรอบรูปบรรพบุรุษและญาติสกุลสีบุญเรือง ภายในเรือนปั้นหยาสีบุญเรือง
ภาพจาก เพจสกุลสีบุญเรือง
นอกจากนี้ในเพจเฟซบุ๊กสกุลสีบุญเรือง (https://www.facebook.com/SbrFamily) ที่ดูแลโดย คุณนิพนธ์ เพิ่มพูลบุญ บุตรชายของเรืออากาศตรีอรุณ เพิ่มพูลบุญ และ นางประจวบ เพิ่มพูลบุญ (สีบุญเรือง) หลานชาย ของนายประสพ (เซียว ทรง โป๊) และนางเสริม สีบุญเรือง ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับที่ดินและบ้านสีบุญเรืองแห่งนี้ไว้ในส่วนเกี่ยวกับเพจไว้ว่า
"เราคือ ปลายกิ่ง รากฝอย ของสกุลใหญ่ ที่ปักต้น แทงหน่อ ฝังรากลึก ลงในแผ่นดินสยาม
สกุลสีบุญเรือง เป็นสกุลใหญ่ มีลูกหลานแผ่ขยายออกไปกว้างขวาง เรื่องราวของคนในสกุลมีมากมาย ไปตามจำนวนของสมาชิก เรื่องราวเหล่านั้น ได้ถูกถ่ายทอดจากรุ่น สู่รุ่น จากคำบอกเล่า รุ่นแล้ว รุ่นเล่า แล้วค่อยๆ จางหายไป ราวกับคลื่นที่กระทบฝั่ง วันเวลาที่ผ่านไป ร่องรอยแห่งคลื่นซัด ก็ไร้ร่องรอย ให้ประจักษ์ได้
ทุกๆ ปีที่ได้ไปเคารพ บรรพชน ณ สุสานกระทุ่มแบน ... แม่ ... ประจวบ เพิ่มพูลบุญ (สีบุญเรือง) ลูกสาวคนโต ของ นายประสพ (เซียว ทรง โป๊) และนางเสริม สีบุญเรือง ... จะเล่าขานให้ฟัง ถึงบรรพบุรุษ ที่ปรากฏในรูป ที่แขวนอยู่เหนือหิ้ง และรอบๆ ห้องแห่งนั้น
ทุกๆ ที่ในเรือนปั้นหยา ล้วนมีตำนาน ... ท่าน้ำ ริมคลอง ที่แม่และครอบครัว ขึ้นจากเรือเมื่อยามหนีภัยสงคราม เมื่อสงครามมหาเอเซียบูรพา บ่อน้ำริมเรือน ที่แม่ได้ใช้ ตำนานที่ชุมชนรอบๆ สุสานต่างโจษจันกันว่า เห็นปู่ย่า ตายาย มานั่งเล่น เหนือฮวงซุ้ย
บันไดทุกขั้น ลูกกรงระเบียงทุกลูก ล้วนมีประวัติศาสตร์ นั่นคือ หนึ่ง ในเรื่องราวที่ได้รับการเล่าขาน แต่ไม่ได้จารึกไว้ แล้ว ... ก็ค่อยๆ จางหายไป ตามกาลเวลา
บางเรื่อง การบันทึกก็เป็นทางการเสียจน เรายากที่จะเข้าไปสืบค้น เช่น เมื่อหลายปีก่อน ได้มีโอกาสได้อ่าน บทความในหน้าหนังสือพิมพ์ ที่ได้กล่าวถึงสกุลสีบุญเรือง กับวงการสื่อสิ่งพิมพ์ โดยอ้างอิง ถึงเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งแน่นอน ว่า เป็นการยากยิ่ง ที่ลูกหลาน อย่างเราๆ จะได้เข้าไปสืบค้นได้
หวังว่า ด้วย page เล็กๆ แห่งนี้ คงจะเป็นตัวเชื่อม ระหว่างผู้คนในสกุลใหญ่ ให้สมกับความตั้งใจเริ่มแรก ของคนเจ้าของ fb ก่อนที่จะขยายตัวไปยังเรื่องราวอื่นๆ เหนือความคาดหมาย
มาเป็นส่วนหนึ่งของเรา นะครับ"
ทั้งหมดนี้ คือเรืองราวของสุสานสีบุญเรือง ต่อเนื่องถึงที่มาที่ไปในการก่อตั้งมูลนิธิสีบุญเรืองที่ผมพยายามรวบรวมมาจากหลายแหล่งข้อมูลเท่าที่หาได้ หากมีชื่อบุคคล หรือข้อมูลอื่นใดที่ผิดพลาดบกพร่องไป ต้องขออภัยสกุลสีบุญเรืองด้วยนะครับ และขอน้อมรับคำชี้แนะเพื่อปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องต่อไปครับ และต้องขออภัยที่ถือวิสาสะนำภาพจากเพจสกุลสีบุญเรืองมาประกอบบทความนี้ด้วยครับ
กระทุ่มแบนบ้านเรายังมีเรื่องราวที่น่าค้นหาในอีกหลายแห่ง หลายสถานที่ หลายครอบครัว ท่านใดที่มีคนรู้จักหรืออยากทราบเรื่องใดเพิ่มเติมก็แจ้งทางผมเข้ามาได้ที่เพจกระทุ่มแบนโฟโต้นะครับ ผมจะพยายามสืบค้นข้อมูล และถามผู้ใหญ่ในพื้นที่เพื่อนำมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง ก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะสูญหายไปตามกาลเวลาครับ
รวบรวม คัดลอก เรียบเรียง
โดย แอดมินเพจกระทุ่มแบนโฟโต้
เมื่อ 13 กันยายน 2564
แหล่งอ้างอิง
- รวมใจความพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนจีน เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2470 กับคำแปลเปนภาษาจีน และภาษาอังกฤษ พิมพ์ในการปลงศพ นายเซียว ซองอ๊วน สีบุญเรือง ปีมะโรง พ.ศ. 2471
- สังคหวัตถุ นายเซียวซองแป๊ะ สีบุญเรือง พิมพ์ชำร่วยเป็นที่ระลึกในการฉลองโรงเรียน "ศรีบุณยานุสสรณ" และสะพาน "เริงบุญ" วันที่ 16 ตุลาคม 2475
- พระยาปายาสิ นายเหรียญ มีเดช ผู้แทนตำบลวัดแก้วฟ้าล่าง เรียบเรียง และพิมพ์ช่วยเจ้าภาพแจกในงานฌาปนกิจศพ นายเซียวซองหลิม สีบุญเรือง ณ เมรุวัดแก้วฟ้าล่าง วันที่ 5 ธนวาคม พ.ศ. 2480
- ที่ระลึกในการฌาปนกิจศพ นายซองกุ่ย สีบุญเรือง ณ วัดธาตุทอง วันที่ 27 ธันวาคม 2507
- จำรัสอนุสรณ์ เนื่องในงานฌาปนกิจศพ นายจำรัส สีบุญเรือง ณ เมรุวัดแก้วแจ่มฟ้า 24 มีนาคม 2511
- อนุสรณ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ นายอั๋น สีบุญเรือง ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 3 ตุลาคม 2553
- เพจเฟซบุ๊กสกุลสีบุญเรือง เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/SbrFamily