วันนี้ได้อ่านโพสต์ในเฟซบุ๊กของคุณอาปรีชา ฐินากร ที่ไปเก็บภาพข่าว พิธีเปิด "เอามื้อสามัคคี โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน" ย่านโต้ล้ง คุณอาปรีชา ได้บรรยายถึงพิธีเปิดพร้อมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับที่มาของ "บ้านโต้ล้ง" ไว้อย่างน่าสนใจ และเชื่อว่า เด็กรุ่นใหม่ๆ หลายคน หรือแม้แต่ตัวผมเองก็ยังไม่เคยได้ฟังข้อมูลนี้ จึงได้ติดต่อขออนุญาตคุณอาปรีชา เพื่อนำรูปและ ข้อมูลมาเผยแพร่ เป็นประโยชน์ต่อไป ดังนี้ครับ
พิธีเปิด "เอามื้อสามัคคี โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน"
3 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิด ณ บ้านโต้ล้ง หมู่ 2 ต.สวนหลวง มีนายบรรพต จันทรวงค์ นายอำเภอ, นายก้องเกียรติ มาลี กำนัน, นายเสริมศักดิ์ กุศลใบบุญ ผู้ใหญ่บ้าน และนายบรรจง เบี้ยวบังเกิด เจ้าของพื้นที่และภาคีเครือข่ายการพัฒนาชุมชน ร่วมพิธี
นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร |
ประธานพิธีเปิดกล่าวว่า เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวนี้เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน ในโครงการพัฒนาพืนที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." ที่แสดงให้เห็นถึงการร่วมแรงร่วมใจกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามวัฒนธรรมและวิถีชิวิตเดิมที่พบในทุกพื้นที่ เป็นกระบวนการทำงาน "ทำแบบคนจน" เพื่อขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ การใช้กิจกรรมเอามื้อสามัคคีมาขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในแต่ละแปลง จึงเป็นการรื้อฟื้นเอาวิถีชีวิตดั้งเดิม วัฒนธรรมอันดีของคนไทยย้อนกลับมาปฏิบัติให้เกิดการปฏิบัติตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ รวมทั้งสร้างความเป็นจิตอาสาพัฒนาชุมชนจนเกิดเครือข่ายที่มีพลังและความสามัคคี
นอกจากนี้ การเอามื้อสามัคคี เป็นการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง โดยมีการแบ่งหน้าที่วางแผนการเอามื้อสามัคคีเริ่มจากการสร้างความรู้ เตรียมความพร้อมกิจกรรม จากนั้นแบ่งหน้าที่ แบ่งคน แบ่งงานภายใต้แนวคิด "คึกคัก คล่องแคล่ว ครื้นเครง" และการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งกิจกรรมเอามื้อสามัคคีเป็นการเรียนรู้ 10 ขั้นตอนตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ อาทิ การร่วมกันเอามื้อห่มดิน ร่วมกันปลูกหญ้าแฝก การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง รวมทั้งการปลูกผักสวนครัวและพืชเศรษฐกิจ
"หมู่บ้านโต้ล้ง" เป็นชุมชนเก่าแก่นับร้อยปี ตั้งอยู่ริมคลองภาษีเจริญ หมู่ 2 ตำบลสวนหลวง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร มีเนื้อที่ 580 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 377 ไร่ ที่ดินเอกชน 203 ไร่ (0.928 ตารางกิโลเมตร)
ผู้สูงอายุในหมู่บ้านเล่าต่อกันมาว่า เดิมที่ดินเป็นของขุนนางชั้นพระยาคนหนึ่ง เมื่อท่านถึงแก่กรรมได้ถวายที่ดินให้พระมหากษัตริย์ซึ่งต่อมาอยู่ในการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เรียกว่า ที่ดินสวนผักหนองแขมกระทุ่มแบน
พื้นที่ทั้งหมู่บ้านเป็นสวนผัก สวนผลไม้และสวนอ้อย เมื่อกว่า 100 ปีมานี้ได้มีคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนเข้ามาทำการเกษตร เท่าที่ทราบจากข้อมูลเดิมว่าเริ่มแรกมี 6 ครอบครัว แล้วขยายไปเป็น 34 ครอบคร้ว และเพิ่มจำนวนครอบครัวมากขึ้นในกาลต่อมา
สมัยก่อน พืชผลทางการเกษตรจะขนส่งไปจำหน่ายภายนอกหมู่บ้านไปได้ทางเดียวคือ ทางเรือโดยอาศัยเส้นทางคลองวัดนางสาวและคลองภาษีเจริญ ทั้งนี้ ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างโรงเรือนขนาดใหญ่สำหรับพักรอสินค้าลงเรือ ชาวบ้านจึงเรียกโรงเรือนนี้ว่า "ตั้วล้ง" หรือ "ล้งผัก"
คลองวัดนางสาว ก็เลยถูกเรียกเป็น คลองตั้วล้ง ไปด้วย
"ตั้วล้ง" ภาษาจีน "ตั้ว" แปลว่าใหญ่, "ล้ง" แปลว่า "โรงเรือนหรือที่พักสินค้า ที่พักคนงาน" (มีความหมายเช่นเดียวกับล้งปลา ล้งกุ้ง ล้งหมึก ล้งเกลือ)
ทางเดินในหมู่บ้านเป็นทางเท้าเชื่อมติดต่อกันไปตามคันเดินสวน เมื่อชาวบ้านเดินไปที่โรงเรือนที่พักสินค้าผ่านเพื่อนบ้านก็จะบอกว่าไปตั้วล้ง หรือไปล้ง จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน
ประมาณ พ.ศ. 2527 ทางราชการมีนโยบายให้ทำป้ายชื่อหมู่บ้าน กำนันในสมัยนั้นได้ทำป้ายสนองนโยบายแต่ไปเขียนเป็น "บ้านโต้ล้ง" และใช้เป็นชื่อทางการมาถึงปัจจุบันนี้
ต่อมา พ.ศ. 2503 รัฐบาลได้ก่อสร้างถนนเศรษฐกิจ 1 ช่วงกระทุ่มแบน - อ้อมน้อยเสร็จและถนนได้ตัดผ่านหมู่บ้านด้านทิศตะวันตก การขนส่งสินค้าและการคมนาคมทางเรือจึงเปลี่ยนมาเป็นทางรถยนต์แทนจนถึงปัจจุบัน
โรงเจฮะน่ำตั้ว |
หมู่ที่ 2 บ้านโต้ล้ง ปัจจุบันมีครัวเรือน 730 ครัวเรือน มีประชากร 2,230 คน ซึ่งประกอบอาชีพหลากหลายประมาณ 9 อาชีพ มีสถานที่สำคัญคือ โรงเจฮะน่ำตั้ว, สถานธรรมก่วงเต๋อหยูเอวี้ยน (มูลนิธิเผยแพร่คุณธรรม), ศาลเจ้าปู่ตระกูลซิ้ม ส่วนประเพณีและวัฒนธรรมมีงานทำบุญหมู่บ้านในวันที่ 1 พฤษภาคม งานเทศกาลถือศีลกินเจ 10 วันช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ทุกปีตลอดมา
ผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
นายฮะสุ่น ไทยกิ่ง
นายบู้ แซ่ซิ้ม
นายแต๋ แซ่ซิ้ม
นายทงเหล็ง แซ่ซิ้ม (ณรงค์)
นายสมพงษ์ จันทร์นวล
นายชัยพร ศิริพงษ์เวคิน
นายสมบัติ ศิริพงษ์เวคิน
นายเสริมศักดิ์ กุศลใบบุญ ปัจจุบัน
คุณอาปรีชา ฐินากร |
จากข้อมูลที่คุณอาปรีชา ได้เล่าเพิ่มเติมประกอบข่าวในข้างต้นนั้น ทำให้ผมอยากไปติดตามหาข้อมูลต่อเลยว่า ขุนนางชั้นพระยา ในเรื่องเล่านั้นท่านคือใคร รวมถึงต้องลองไปค้นในแผนที่เก่าเพื่อดูบริเวณดังกล่าวเพิ่มเติม
น่าชื่นใจมากครับที่เห็นคนในชุมชนยังทราบเรื่องเล่าความเป็นมาของชุมชนตนเอง อาจไม่ต้องทราบทั้งอำเภอ ขอแค่ทราบในพื้นที่ที่ตนเกิด หรืออาศัยอยู่ คนละนิดคนละหน่อย ก็จะช่วยเติมเต็มข้อมูลกระทุ่มแบนในแต่ละพื้นที่ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นครับ
ขอขอบคุณภาพถ่ายและข้อมูลจาก คุณอาปรีชา ฐินากร เป็นอย่างสูงครับ