ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ต้องการภาพถ่ายเก่าโบสถ์หลังเก่าวัดหงอนไก่เพื่อเป็นข้อมูลในการบูรณะโบสถ์

ผมได้รับการติดต่อทางเพจกระทุ่มแบนโฟโต้มาจากท่านผู้ช่วย รองเจ้าอาวาสวัดหงอนไก่ พระธีรพงษ์ ฟองน้ำทิพย์ เรื่องภาพเก่าที่เห็นโบสถ์หลังเก่าของวัดหงอนไก่ เพื่อต้องการนำไปเป็นข้อมูลในการบูรณะโบสถ์เก่าหลังนี้ที่ชำรุดทรุดโทรมให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ดียิ่งขึ้น



สภาพโบสถ์หลังเก่า วัดหงอนไก่
ทั้งภายใน ภายนอก และบริเวณโดยรอบที่ชำรุดทรุดโทรม 
ผมถ่ายไว้เมื่อ 22 มิถุนายน 2556

ผมดีใจไม่รอช้า เพราะติดตามและลงพื้นที่มาหลายปีก่อน เห็นถึงสภาพความทรุดโทรมของโบสถ์เก่าสร้างครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีต้นไม้รกชัฏปกคลุมเต็มไปหมด ในบางช่วงเวลาที่ฝนตกก็มีน้ำท่วมขัง บริเวณทางเข้าโบถส์ถูกตีไม้ปิดกั้นไว้ด้วยคงเกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อสาธุชนหรือคนที่จะเข้าไปด้านใน ที่มีเสาไม้ล้มแตกหัก ฐานพระชำรุด หลังคารั่วซึมทะลุ


พระสงฆ์วัดหงอนไก่กำลังช่วยกันปรับสถานที่ทั้งภายในและภายนอกโบสถ์หลังเก่า
เพื่อเตรียมสถานที่เบื้องต้นในการบูรณะโบสถ์ จากกรมศิลปากร
เมื่อตุลาคม 2564 (ภาพจากพระธีรพงษ์ ฟองน้ำทิพย์)

พระธีรพงษ์ ผู้ช่วยรองเจ้าอาวาสวัดหงอนไก่ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โบสถ์หลังเก่านี้กำลังลังจะได้รับการบูรณะ จากทางกรมศิลปากร สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบพื้นที่นี้อยู่ โดยอยู่ในแผนปีงบประมาณปี 2567

โดยเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ลงพื้นที่สำรวจโบสถ์เก่า วัดหงอนไก่ เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ และตรวจสอบสภาพโบสถ์ในปัจจุบัน สำหรับการบูรณะ แต่ทั้งนี้ก็ต้องการภาพถ่ายเก่าที่เห็นถึงสภาพโบสถ์หลังเก่านี้จากภายนอกที่เห็นส่วนประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าบัน เสา ลวดลายต่างๆ รวมถึงรูปแบบภายใน องค์พระ ฐานชุกชี หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ ทุกส่วนประกอบของโบสถ์หลังเก่านี้ เพื่อจะได้นำไปเป็นข้อมูลสำหรับการบูรณะให้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ถูกต้องใกล้เคียงกับโบสถ์หลังเดิมมากที่สุด

คณะเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่๑ราชบุรีลงพื้นที่เก็บภาพและหาข้อมูลในการบูรณะอุโบสถหลังเก่า
คณะเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่ 1 ราชบุรี
ลงพื้นที่เก็บภาพและหาข้อมูลในการบูรณะอุโบสถหลังเก่า
เมื่อ ตุลาคม 2564
(ภาพจากพระธีรพงษ์ ฟองน้ำทิพย์)

ผมค้นภาพเก่าที่ได้รับการเอื้อเฟื้อให้สำเนาจากชาวกระทุ่มแบน ในส่วนที่พอจะเกี่ยวข้องกับโบสถ์หลังเก่าวัดหงอนไก่ แต่ก็พบเพียงเล็กน้องเท่านั้น จึงอยากขอประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ให้กับพี่น้องชาวกระทุ่มแบน ที่มีภาพถ่ายเก่าของโบสถ์หลังเดิม วัดหงอนไก่นี้ ในช่วงที่ยังมีการใช้งานกิจทางสงฆ์ ประกอบพิธีทางสงฆ์ต่างๆ ภายในโบสถ์ ไม่ว่าจะเป็นจากงานบุญ งานบวชต่างๆ หรือการถ่ายภาพเล่นทั่วไปของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นภาพถ่ายขาวดำยุคก่อน พ.ศ. 2510 หรือหากเป็นภาพก่อน พ.ศ. 2500 จะดีมากๆ ครับ หรือหากมีข้อมูลบอกเล่าจากรุ่นคุณปู่ย่าตายาย พ่อแม่ในพื้นที่ที่เกี่ยวกบโบสถ์นี้ ก็สามารถโพสต์ภาพไว้ได้ใต้คอมเมนต์โพสต์นี้เลยครับ หรือส่งมาทาง inbox เพจกระทุ่มแบนโฟโต้ หรือเฟซบุ๊กท่านผู้ช่วย รองเจ้าอาวาสวัดหงอนไก่ก็ได้เช่นกัน

ขอขอบคุณและอนุโมทนาบุญ สำหรับภาพเก่าที่ช่วยกันตามหาและจะส่งเข้ามาล่วงหน้าด้วยครับ ภาพของทุกท่านจะเป็นส่วนหนึ่งในการบูรณะโบสถ์เก่าแก่ วัดหงอนไก่ ศูนย์รวมใจอีกแห่งหนึ่งของชาวกระทุ่มแบนให้กลับมางดงาม เป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา และเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวของกระทุ่มแบนด้วยครับ

ตัวอย่างภาพที่ต้องการครับ
ตัวอย่างภาพที่ 1 มองเห็นโบสถ์จากภาพนอก มองเห็นหน้าบันโบสถ์


ภาพถ่ายผลงานคุณเตี๋ยงเพ้ง แซ่ปึง เจ้าของห้องภาพชูศิลป์ กระทุ่มแบน รูปหมู่คณะพระสงฆ์วัดหงอนไก่ หรือวัดราษฎร์บำรุง ถ่ายบริเวณหน้าพระอุโบสถหลังเก่า
(ขอบคุณเจ้าของภาพ ห้องภาพชูศิลป์ กระทุ่มแบน)

ตัวอย่างภาพที่ 2 มองพระประธานและฐานชุกชีภายในโบสถ์

หลวงพ่อไสวกับพระประธานในโบสถ์หลังเก่า (ภาพจากเพจวัดราษฎร์บำรุง หงอนไก่)

ตัวอย่างภาพที่ 3 มองเห็นด้านข้างโบสถ์

บรรยากาศการแห่นาคในงานบวชรอบโบสถ์หลังเก่า วัดหงอนไก่
(ขอบคุณภาพจาก พี่หนึ่ง ระนาดเสนาะ)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุโบสถหลังเก่าคัดลอกจาก 
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม จ.สมุทรสาคร กระทรวงวัฒนธรรม


พระอุโบสถหลังเก่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ปีใดไม่มีหลักฐานระบุ แต่มีพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตในปี พ.ศ. 2450

อุโบสถหลังเก่า เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดค่อนข้างเล็ก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องว่าว มีพาไล (เรือน หรือเพิงโถงต่อจากเรือนเดิม /แอดมิน) มุงสังกะสียื่นออกมาทั้งด้านหน้าและหลังด้านละ 1 ห้อง รองรับโครงหลังคาด้วยเสาไม้กลม ช่อฟ้าไม้ชำรุด ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ และรวยระกาไม้แบบมอญ หน้าบันปูนปั้นตกแต่งลวดลาย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้านบนเป็นรูปเทพพนม ถัดลงมาเป็นหงส์สองตัวหันหน้าเข้าหากัน มีลวดลายดอกไม้ประดับด้วยเครื่องถ้วยชามเคลือบสี และเครื่องลายครามแบบจีน ด้านล่างของหน้าบันเป็นรูปมังกรคู่หันหน้าชนกัน อิทธิพลศิลปะแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3

ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูทางเข้าด้านหน้าและหลังด้านละ 2 ประตู ซุ้มประตูและหน้าต่างปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษา ภายในอุโบสถมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป ปัจจุบันพระพุทธรูปถูกย้ายออก ไปเก็บรักษาไว้ภายในพระอุโบสถหลังใหม่ และศาลาการเปรียญจำนวนทั้งสิ้น 10 องค์ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในจำนวนนี้มีพระพุทธรูปที่ทำจากหินทรายแดงศิลปะอยุธยาตอนปลาย 2 องค์ และมีพระพุทธรูปสององค์มีจารึกที่ฐานระบุปี พ.ศ. 2475 พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง มีจารึกเป็นตัวอักษรคล้ายอักษรขอมและตัวเลข 2440 ปัจจุบันสภาพของพระอุโบสถชำรุด หลังคารั่ว ผนังอิฐแตกร้าว ปูนฉาบหลุดออก



โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชื่อ "กระทุ่มแบน" มาจากไหน

"บ้านน้องอยู่ที่ไหนนะ?" "กระทุ่มแบนครับ" "แล้ว กระทุ่มแบน เนี่ย ทำไมมันถึงชื่อนี้?" "อืม..ไม่แน่ใจ...ไม่ทราบเลยครับ" เชื่อได้ว่าคนกระทุ่มแบนหลายคนคงจะคุ้นเคยกับบทสนทนาประมาณข้างต้น ที่ตอบได้เพียงคำถามแรก แต่เมื่อถึงคำถามที่สอง เซลล์สมองอาจต้องวิ่งทำงานเหนื่อยกันเลยทีเดียว สุดท้ายบางคนตอบได้ บางคนเดาไป บางคนถามกลับว่า "อยากจะรู้ไปทำไม" สำหรับผมแล้ว... "กระทุ่มแบน...ทำไมมันถึงชื่อนี้" มันเป็นคำถามที่ค้างคาใจมาหลายปี จนกระทั่งวันที่พอจะมีกำลังและเวลา รวมถึงความพร้อมประกอบอื่นๆ ทำให้ได้ออกค้นหาคำตอบเสียที ภาพแผนที่ตัดเฉพาะส่วนจากกรมแผนที่ทหารบกสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2456 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เปิดตำนาน "ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่มแบน"

หากค้นรูปถ่ายติดบัตรขาวดำเก่าๆ ยุค 2500 ที่บ้านของคนกระทุ่มแบนขึ้นมาดู ผมเชื่อว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรูปถ่ายเหล่านั้น บนมุมซ้ายหรือขวาด้านล่างของรู ปจะต้องมีตราประทับแบบนูนของร้ านถ่ายรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านที่นิยมและได้รั บความไว้วางใจจากชาวกระทุ่ มแบนมาอย่างยาวนาน นั่นคือ "ห้องภาพชูศิลป์ : ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่ มแบน" หลังจากหาเวลานัดหมายกับห้องภาพชูศิลป์ ให้จังหวะลงตัวกับวันที่ ผมพอจะว่างจากทั้ งงานประจำและงานพิเศษในวันหยุ ดเสาร์-อาทิตย์เรียบร้อย ผมจึงได้มีโอกาสฟังเรื่องราวดีๆ จากทายาทผู้ก่อตั้ง "ห้องภาพชูศิลป์" ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2562 คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" ลูกสาวคนโตของเจ้าของห้องภาพชูศิลป์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2492 ได้บอกเล่าให้ผมได้ฟังด้วยรอยยิ้ มอารมณ์ดีถึงประวัติห้องภาพชูศิลป์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในรุ่นของคุ ณพ่อและคุณแม่  คุณพ่อมีลูก 5 คน คือ คุณป้าเป็นคนโต มีน้องชาย 3 คน และน้องสาวคนเล็กอีกคน   คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" จุดเริ่มต้นของอาชีพถ่ายภาพ คุณแม่ป้าเช็งชื่อ ...

กว่า ๙๐ ปี "ร้านกิมกี่" และเรื่องเล่าจากเจ้าของร้าน

ตลาดกระทุ่มแบนเป็นอีกหนึ่งชุมชนอันเป็นศูนย์กลางด้านการค้าที่สำคัญมาหลายร้อยปีในอำเภอกระทุ่มแบน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ตามแนวคลองภาษีเจริญในบริเวณตลาด ใกล้กับจุดที่คลองกระทุ่มแบนตัดผ่านกับคลองภาษีเจริญ หรือคนเก่าๆ ในพื้นที่เรียกกันว่า “ตลาดสี่แยก” หรือ “ตลาดสี่กั๊ก” อันเป็นตลาดน้ำที่คนรุ่นเกิดก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้บอกเล่ากันเป็นเสียงเดียวว่ามีความคึกคัก มีเรือแน่นเป็นร้อยลำทั้งเรือพ่อค้าแม่ค้า และเรือชาวบ้านที่มาจับจ่ายซื้อของในยามเช้า เรือนไม้ริมคลองบริเวณถนนเจริญสวัสดิ์นับตั้งแต่สามแยกโรงพิมพ์วิไลพาณิชย์ยาวเรื่อยไปจนถึงศาลหลวงตาทองก็จะเป็นห้องแถวไม้เก่าที่เป็นแถวแนวยาว บางส่วนมีการก่อสร้างขึ้นในยุค ๒๔๙๐ แต่บางส่วนก็มีการก่อสร้างมาก่อนหน้านั้น มีห้องแถวอยู่ช่วงหนึ่งฝั่งตลาดบริเวณเชิงสะพานแป๊ะกง หรือที่หลายคนเรียกกันอีกชื่อว่า “ตลาดบุญมี” ที่ยังคงสภาพความเป็นเรือนไม้เก่าที่ขนาบข้างด้วยอาคารคอนกรีตที่ปลุกขึ้นมาทดแทน ทำให้ผมได้มีโอกาสได้พอเห็นสภาพเดิมของห้องแถวรุ่นแรกๆ ของตลาดกระทุ่มแบนอยู่บ้าง แต่จะมีอยู่ร้านหนึ่งที่มีป้ายระบุอายุร้านชั...