ผมได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ลุงแดงมาตั้งแต่ 28 เมษายน พ.ศ. 2562 กลับมาถอดเทป เรียบเรียงอยู่นานแล้วก็ติดธุระนู่นนี่นั่น จึงไม่ได้มาทำต่อ เรื่องราวความรู้ที่คุณลุงแดงกรุณาถ่ายทอดให้ฟัง ก็จะมาเก็บดองอยู่ที่ผมเพียงคนเดียวไม่มีประโยชน์ และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ควรเร่งมือเพื่อเผยแพร่เป็นความรู้ต่อไปครับ
ลุงแดง แห่งคานเรือกระทุ่มแบน
ลุงแดง หรือ นายเทียนชัย บานแย้ม เป็นชาวกระทุ่มแบนโดยกำเนิด เกิดเมื่อ พ.ศ. 2495 อายุ 67 ปี (เมื่อ 2562) จบการศึกษา ป.7 จากโรงเรียนศรีบุณยานุสรณ์ ไปต่อมัธยมศึกษาที่โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ จบรุ่นที่ 2 แล้วก็ไปเรียนที่พระนครเหนือ หลังจากนั้นก็ไปเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ตอนที่เรียนที่กรุงเทพฯ ไปอาศัยพักกับ "พี่พงษ์" หรือพลโท สมพงษ์ ตุ้มสวัสดิ์ เป็นทหารชาวกระทุ่มแบน อยู่ที่ย่านสะพานมัฆวาน
กำเนิดคานเรือกระทุ่มแบนพาณิชย์
สมัยเตี่ยใช้ชื่อว่า “กระทุ่มแบนพาณิชย์” (ปัจจุบันเป็นชื่อร้านของพี่ชายลุงแดง) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “คานเรือกระทุ่มแบนพาณิชย์” และปัจจุบันใช้ชื่อว่า “คานเรือกระทุ่มแบน”
ตั้งแต่จำความได้ ก๋งของลุงแดงก็ทำงานเป็นช่างคานเรือแล้ว ก๋งไช่ฮวด บานแย้ม (พ่อของก๋งมาจากซัวเถา ก๋งถือเป็นรุ่นที่ 2 เกิดในเมืองไทย สมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ. 2440-2450 เคยเป็นทหารเรือ)
สมัยก่อนคลองภาษีเจริญมีเรือแท็กซี่ รับคนจากประตูน้ำอ่างทอง ไปประตูน้ำภาษีเจริญในกรุงเทพฯ ก๋งไช่ฮวดสมัยหนุ่มเป็นเอ็นจิเนียร์ เป็นลูกจ้างในเรือก่อน โดยเรือสมัยก่อนจะเป็นเครื่องเผาหัว เครื่องเซมิดีเซล นอกจากนี้ ก๋งยังเป็นเป็นช่างน้ำมัน ช่างลงสี ค่อยเรียนรู้เก็บประสบการณ์ แล้วขึ้นไปทำอู่ต่อเรือย่านคลองบางหลวง กรุงเทพฯ และแถวสุพรรณซึ่งถือเป็นดงต่อเรือเลยก็ว่าได้
ก๋งไช่ฮวดยังเคยเล่าให้ลุงแดงฟังว่า เมื่อตอนก่อสร้างสะพานเริงบุญ คนจีนมาเทสะพานกันทั้งวันทั้งคืนเลย
ต่อมาก๋งไช่ฮวดก็ผันตัวมาทำคานเรือ โดยมาเช่าที่ตรงข้างปัจจุบัน (มองจากฝั่งโรงเรียนศรีฯ ไป อยู่ฝั่งตรงข้าม ขวามือของเชิงสะพานเริงบุญ ถัดไปทางขวาด้านหนองแขมประมาณ 500 เมตร) หลังจากเช่าอยู่ราว 4-5 ปี แล้วจึงมาซื้อที่ตรงนี้ทำกิจการ ณ ที่ปัจจุบัน (ใกล้เชิงสะพานเริงบุญฝั่งตรงข้ามโรงเรียนศรีบุณยานุสรณ์) เมื่อปี พ.ศ. 2500
จนกระทั่งมาถึงรุ่นเตี่ยของลุงแดง ชื่อ เตี่ยบุญส่ง บานแย้ม ( เตี่ยเกิด พ.ศ. 2466 เป็นเพื่อนรุ่นราวใกล้เคียงกันกับคุณชลอ ศรีสุกใส โรงพิมพ์ศรีการช่าง กระทุ่มแบน)
ลุงแดง นับเป็นรุ่นที่ 3 เติบโตมากับคานเรือเลย ตอนอายุ 7-8 ขวบก็ซ่อมเครื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้หมด แล้วก็โชคดีได้ไปเรียนช่างกล จบ ปวส. เทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จบรุ่นปี 18
ในช่วง พ.ศ. 2526-2528 เรือในคลองบ้านเราจะหมดแล้ว เพราะไปขนถ่ายทางรถกันแทน กิจการเรือของลุงแดงซบเซามากแทบจะเลิกกิจการ โดยช่วง พ.ศ. 2534-2535 ต้องไปเป็น Port Engineer เรือเดินน้ำมันต่างประเทศอยู่ 7-8 ปี กระทั่ง พ.ศ. 2540 เตี่ยลุงแดงก็ไม่ค่อยไหวแล้ว ลุงแดงจึงตัดสินใจกลับมาอู่รับช่วงต่อจากคุณพ่อ เพราะไม่มีใครทำ แล้วก็ดำเนินกิจการมาเรื่อย ตั้งแต่ พ.ศ. 2545-2546 ก็เริ่มดีขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันงานก็มีไม่ขาดเพราะคู่แข่งน้อย เช่น ในกรุงเทพฯ แทบไม่มีคานเรือเลย แต่สมัยก่อนดาวคะนองยังพอมีคานเรือเล็กๆ น้อยๆ
คานเรือ จะมีการแบ่งขนาดเล็กใหญ่จากจำนวนเรือใหญ่ อย่างเช่นของลุงแดง ถือเป็นคานเรือขนาดเล็ก ถ้าคานใหญ่ต้องแถวอยุธยา เช่น คานเรือศรีเจริญ เพราะเขาอยู่ในแม่น้ำใหญ่ อย่างของลุงแดงเป็นคานเล็กเพราะอยู่ในเส้นคลองเล็ก ความกว้างเรือไม่เกิน 6 เมตร เพราะถ้าเกินจะเข้าประตูน้ำไม่ได้ ดังนั้น คานเรือที่นี่จึงขึ้นได้เฉพาะเรือที่เข้าคลองภาษีเจริญได้เท่านั้น
งานด้านคานเรือในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้พูดง่ายๆ เหลือลุงแดงทำอยู่เจ้าเดียว แต่ก็น่าจะทำไปได้อีก เพราะฝรั่งชอบนั่งเรือไม้ อยากมานั่งเรือไม้ ลุงแดงก็ต้องซ่อมไปเรื่อยๆ ปัจจุบันลุงแดงมีลูกน้องราวๆ 5 คน ส่วนลูกชายคนโตก็ทำธุรกิจช่วยพ่อตาทำด้านก่อสร้าง น้ำพริกเผา แต่เห็นว่าอยากกลับมาทำเรือ ซึ่งธุรกิจก็น่าจะมีลูกๆ มาสานต่อ
ปัจจุบันเรือส่วนใหญ่ที่ลุงแดงซ่อมและทำแทบไม่มีเรือบ้านเราเลย แต่จะเป็นเรือฝรั่งหรือเรือนำเที่ยวตลาดน้ำ
เรือที่มาให้ทำก็ไม่ได้มีเรือที่หรูมา เป็นเรือทั่วๆ ไป เรือเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ทางสวนสามพรานก็เคยมาให้ลุงทำ แล้วก็มีเรืออายุกว่า 100 ปี หลายที่ก็มาให้ทำ
ตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าจากกรุงเทพฯ จากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น เรือแท็กซี่ เรือนำเที่ยว ส่วนเรือหางยาวก็มีมาบ้าง แต่ไม่ค่อยได้ทำ เพราะทำไม่ทันแล้ว กว่าจะฝึกลูกน้องแต่ละคนได้ต้องใช้ฝีมือและเวลานาน ยกเว้นพรรคพวกกันจริงๆ ก็มีทำให้บ้างตามโอกาส
งานที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นงานไม้ คือบางลำทั้งลำผุหมดเลยต้องสร้าง ขยายใหม่ ค่าซ่อมก็ตก 5-6 แสนต่อลำ เพราะเดี๋ยวนี้ไม้มันแพง ไม้ที่ใช้ก็เป็นไม้ตะเคียนทอง ในส่วนของการหาไม้ลุงแดงจะเป็นคนหาเอง ลูกค้าไม่มีทางหาได้ เพราะต้องรู้แหล่ง รู้จักกับโรงเลื่อยที่ทำกันมานาน อยากได้แบบไหนก็สั่งเขา เดี๋ยวนี้เขาจะไม่เลื่อยทิ้งไว้ก่อนเพราะไม้แพง อีกอย่างไม้บ้าน กับไม้เรือก็คนละอย่างกัน ไม้บ้านจะเป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ไม้เรือต้องเป็นทั้งเนื้อแข็ง เนื้อดีมีน้ำหนักและทนน้ำด้วย เช่น ไม้ตะเคียนทอง ไม้สัก ประดู่ แต่ส่วนใหญ่ใช้ตะเคียนมากกว่าเพราะอยู่ในน้ำดี ไม้ประดู่จะเป็นรองลงมาหน่อย
ทำคานเรือ มีงานประเภทไหนบ้าง
ลุงแดงตอบว่า ต้องแยกคนละอย่าง ถ้างานสร้างเรือก็ต้อง ช่างไม้อย่างเดียว แต่ถ้าวางเครื่องยนต์ก็ต้องมีงานช่างเครื่องกล โดยงานที่ลุงแดงรับทำก็รับทำทั้งสองส่วน เรียกได้ว่าครบวงจรเลย
การยาชัน คือ การยาไม่ให้น้ำซึมเข้า โดยต้องมีการหมันก่อน
หมัน ก็คือ ปอ จะนำเส้นปอไปใส่ตรงร่องไม้ ต้องตอกแนวอัดแนวให้แน่น แล้วถึงใช้ชันยา จะใช้ยาชันอย่างเดียวเลยโดยไม่ใช้หมันไม่ได้เพราะจะอุดไม่อยู่ ถ้าชันแตกก็รั่วง่าย เนื่องจากไม้เป็นร่อง
ไม้เรือที่โค้งของเรือจะใช้การดัด โดยลุงเป็นคนดัดเอง โดยขึ้นรูปทรงมา ส่วนไม้จะยังงอไม่ได้ ต้องใช้ไฟลนดัด สมัยก่อนโบราณจะใช้ถ่าน เอาฟืนใส่ จะบิดตรงไหนก็เอาไม้ถ่วง เอาไฟลน ถ้าสมัยนี้ใช้หัวแก๊สพ่น ต้องใช้แรงถ่วงธรรมชาติในการดัด
ไม้ที่ใช้ก็มีเช่น หน้าแปด หน้าสิบ หน้าสิบสี่ ไม้ก็มีอายุเยอะหน่อย มาเป็นซุงเลย ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เสร็จแล้วขนมาลงบ่อแช่ไว้ ถ้าจะใช้ก็ดึงขึ้นมาเลื่อย แล้วส่งมาให้ลุง
สมัยก่อนในคลองล่องซุงมา ในกระทุ่มแบนราวปี 2507-2508 ก็มีโรงเลื่อย เช่น โรงไม้ตาตึ๊ง ที่เรือดับเพลิงจอดหน้าอำเภอ (ปัจจุบันร้านค้าไม้ย้ายไปเป็นร้านศรีไทยของลูกชายลุงตึ๊ง) มีอีกที่เลยแยกหลวงตาทองซ้ายมือแถวๆ ร้านขายโลงศพ ตรงแถวนี้มี 2 ที่เดิมทีเป็นโรงเรื่อยและก็ต่อเรือสำปั้นเล็กๆ ของคนไหหลำใช้คนเย่อเลื่อย แล้วก็มีร้านย่งหมงตรงตีนสะพานหลวงตาทองปัจจุบันเป็นร้านกาแฟ
เรือมีอายุเฉลี่ยราวๆ 2 ปี ก็ต้องมาต่อหมันยาชัน อย่างเรือนำเที่ยวฝรั่งที่มาทำต้องเนี้ยบหน่อย ต้องสวยงาม ดังนั้นพอ 2 ปี ก็ต้องมาซ่อมบำรุง ถ้าเกินกว่านั้นไม้อาจจะผุ ต้องนำเรือมาฉีดน้ำมันยาง ต่อหมัน ยาชัน ทาสี เพื่ออนุรักษ์เนื้อไม้ให้มีอายุใช้งานได้นาน ดังนั้น จึงมีลูกค้าเก่าราว 50-60 ลำวนกันไป แค่นี้ก็ทำแทบไม่ทัน ลุงแดงจะพอว่างราวมกราคม กุมภาพันธ์ เพราะช่วงนั้นเรือเขาต้องใช้งานรับนักท่องเที่ยวเยอะ พอมีนาคม เมษายน นักท่องเที่ยวน้อยลงเรือก็มีเวลามาซ่อมบำรุง งานก็จะแน่นเลย
คานเรือต่างๆ ในกระทุ่มแบน
สมัยก่อนกระทุ่มแบนมีคานเรือหลายแห่ง เช่น คานลุงเล็ก อยู่เลยประตูน้ำอ่างทอง ออกไปหน่อย อยู่ใกล้ๆ กับคานตาหยอดอีกคาน คานนี้เปิดไล่ๆ กับลุงแดง ตอนหลังมีชาวไต้หวันมาเช่าทำไฟเบอร์ เดี๋ยวนี้ไม่แน่ใจเลิกเช่าไปหรือยัง
คานตาเพ้ง จ่าเอกณรงค์ เป็นจ่าทหารเรือ อยู่เลยวัดดอนไก่ดีไปหน่อย แถวๆ แยกบางพระ ก่อนถึงประตูน้ำอ่างทองราวๆ 200 เมตร อยู่ซ้ายมือ คานนี้เปิดหลังคานลุงแดงตั้งนาน เปิดไม่กี่ปีแล้วก็เลิก
แต่ถ้านับคานเรือที่แรกในกระทุ่มแบน คือ คานกระทุ่มแบน ของลุงแดง และตอนนี้ก็เหลือที่เดียว นอกจากนี้ก็มีเป็นบ้านแถววัดใหม่หนองพะอง ชื่อพี่วินัย มีรอกแก็บดึงเรือหางยาวขึ้นมา ส่วนเรือใหญ่ไม่ได้ทำ
ส่วนที่กรุงเทพฯ คานเรือแบบนี้ไม่ค่อยมีแล้ว เพราะที่ดินเขาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ดีกว่า จึงยุบไปหมด
ลุงแดงสืบต่อกิจการเพราะคลุกคลี ใจรัก หรือต้องการสืบทอดเฉยๆ
เรื่องของเรื่อง ลุงแดงเองก็เกือบเลิกและขายกิจการเหมือนกัน แต่พองานมันมีขึ้นมาก็ต้องดำเนินการต่อ เพราะมีคานสร้างมาอยู่แล้ว ที่ทำงานนี้เพราะความคุ้นเคย จะว่าใจรักก็ได้ เพราะลุงเองจะไปทำอาชีพอื่นก็ได้ ตอนเรียนจบมาใหม่ๆ ปี 18-19 เพื่อนชวนไปสอบรับราชการก็ไม่ไป เพราะได้แค่ 1,700-1,800 บาท แต่ลุงไปวางเครื่องโรงสีสมัยนั้นก็ได้เป็นหมื่น สมัยนั้นเอาเครื่องอังกฤษ ยี่ห้อการ์ดเนอร์เดิมเป็นเครื่องยนต์มาแปลง ฉุดโรงสีได้ประมาณ 100 เกวียน 24 ชั่วโมง ใช้นำมันดีเซล ลิตรละ 2 บาทกว่า เครื่องนี้มีดีที่รอบสม่ำเสมอกว่า เครื่องสตรีมไอน้ำแบบเดิม ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีจุดเสียที่รอบไม่สม่ำเสมอ
ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเรือ
ทำไมต้องทาสีหัวเรือเป็นรูปลูกตา?
ลุงแดงเล่าว่าน่าจะเป็นความเชื่อของคนโบราณว่าให้มองเห็นจะได้หากินคล่อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องทาเป็นตาก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เขาจะทำกัน
ความเชื่อเกี่ยวกับเรือ เรื่องแม่ย่านาง
เขาจะไหว้บวงสรวงกัน จะขึ้นมาบนคานหรือลงคานต้องบอกกล่าวไหว้ตลอด ก๋งทำมาก็สอนลุงมาตลอดว่าก่อนจะรื้อ จะทำอะไร ต้องบอกต้องขอนุญาตจุดธูป จุดเทียน หรือตั้งจิตอธิษฐาน ท่านว่าจะทำให้สวยงาม บางครั้งเจ้าของเรือเขาเซ่นไหว้ประจำ เคยมีลูกน้องลุงแดงไม่ได้บอกก่อนก็มีอาการจุกก็มี
บรรยากาศคลองภาษีเจริญ ย่านกระทุ่มแบนสมัยก่อน
ด้วยความที่ลุงแดงเกิดที่นี่ โตที่นี่ ลุงแดงบอกว่าบรรยากาศริมคลองตอนนั้น แทบจะคุยกันไม่ได้เลย เพราะเรือจะวิ่งกันไม่ขาดระยะ
ในช่วง พ.ศ. 2510-2512 เรือยังมี เรือโยงยังแน่นคลอง พอราว พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา เรือเริ่มน้อยลงมาเรื่อย
สมัยก่อนประตูน้ำอ่างทอง ไปขอดูภาพเก่าๆ เขาได้เลยเพราะมีเรือยนต์เข้าออกไม่ขาด ในคลองก็เสียงดังไม่ขาดคุยกันแทบไม่ได้เลย เหมือนเป็นถนนสายหนึ่งก็ว่าได้
หินทรายสมัยก่อนจะลำเลียงมาจากราชบุรี ซึ่งดูดทรายมาจากแม่น้ำราชบุรี แต่เดี๋ยวนี้เขาห้ามดูดแล้วเพราะตลิ่งพัง แล้วไปขึ้นแถววัดเวฬุราชิณ ถ้ามาจากถนนเพชรเกษม ก่อนถึงวงเวียนใหญ่ ลงจากสะพานเนาวจำเนียรที่ข้ามคลองบางกอกใหญ่ ใกล้โรงไฟฟ้าเก่า แล้วเลี้ยวขวาไปหน่อย แถวนั้นเป็นท่าขึ้นหินทรายสมัยอดีตเลย
เรือที่ลุงเห็นมาตลอดในคลองภาษีเจริญกระทุ่มแบน ส่วนใหญ่จะเป็นเรือลากจูง เรือบรรทุกทรายเสียส่วนใหญ่ เป็นเรือไม้ไม่เกิน 80 คิว (ถ้าเทียบก็คือบรรทุกกระสอบข้าวสาวราวๆ 80 ลูก) เพราะถ้าเกินก็เข้าประตูน้ำไม่ได้
นอกจากนี้ ก็มีเรือแท็กซี่ เรือหางยาว เรือสำปั้นจ้าง เช่น ย่านสี่แยกกระทุ่มแบน ช่วงเช้าตีห้าจนแปดโมงเช้า เรือแทบผ่านไม่ได้เพราะเรือสำปั้นมาพายขายกันแน่นไปหมด และตรงย่านนี้ หมดสงัดจะมีเพิงให้เรือแม่ค้ามาจอดพักค้างคืน ตอนนั้นคึกคักมาก ช่วง พ.ศ. 2510 ยังพอมีอยู่ แต่ตรงนั้นจริงๆ มีมานานมาแต่อดีตแล้ว
ตรงคลองตลาดสี่แยกกระทุ่มแบน ย่านแป๊ะกงจะมีล็อกให้เรือสำปั้นข้าม เข้าก่อนถึงแป๊ะกงซีกหนึ่ง จะมีล็อกเหนือกับล็อกใต้ 2 ล็อกให้เรือสำปั้นข้ามเข้าออกจาก แม่น้ำท่าจีนมาในคลองกระทุ่มแบน ถ้าไม่ข้ามตรงนี้ก็ต้องไปที่ประตูน้ำอ่างทอง ที่ล็อกแป๊ะกงยุคแรกๆ เป็นคันดิน ภายหลังจึงเป็นสาลี่ดึง
เรือชาวบ้าน เรือพาย มีมาให้ลุงแดงซ่อม ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยซ่อมเพราะงานยุ่ง และอีกอย่างชาวบ้านเขาซ่อมกันเองได้อยู่แล้ว เขาเคยยาชัน เคยเรียนรู้มาจากพ่อแม่มาอยู่แล้ว
สมัยก่อนลุงแดงเป็นลูกศิษย์วัดดอน หลวงตาทิ้งก็จะพายเรือมาบิณฑบาต มาถึงแถวนี้ โดยเรือที่พระใช้จะเป็นเรือหัวเข็ม ลำเล็กๆ พายยากหน่อย แต่จะแล่นเร็วกว่าพวกเรือบด
เรือที่ชาวบ้านใช้ส่วนใหญ่จะเป็นเรือสำปั้นอย่างในกล่องไม้ขีดไฟ เรือจ้าง เรือมาด สมัยก่อนชาวสวนจะใช้เรือพวกนี้กันเยอะ พายมาขายผลหมากรากไม้ มีส้ม ละมุด สมัยก่อนเด็กๆ ยายลุงยังไปขายแลกเปลี่ยนกัน ตรงสี่แยกค้าขายเรือเกยกันเลย คิดว่ากว่า 100 ลำ เต็มแยก สมัยนั้นช่วงตลาดห้ามเรือพวงเรือโยง เรือลากเลย ต้องให้คนถ่อเรือแทนเพราะเข้าเขตชุมชน ต้องถ่อกันมาตั้งแต่ศาลหลวงตาทอง ถ่อกันมาจนเลยอู่เรือลุงแดงไปหน่อยถึงจะวิ่งได้
ลูกค้าสมัยก่อนยังเป็นชาวบ้าน เพราะมีการอยู่กินกันทางเรือ มีครอบครัว พ่อแม่อยู่ในเรือ สมัยก่อนเรือก็คือบ้านนั่นแหละ จึงมีโรงเรียนสงเคราะห์ชาวเรือ ที่ปทุมธานี แต่ปัจจุบันเลิกไปแล้ว
เรือรับจ้างในกระทุ่มแบนเท่าที่จำได้ ช่วง 2500 ต้นๆ ยังมีอยู่ เป็นเรือสายยาวจะวิ่งจากประตูน้ำภาษีเจริญ วัดปากน้ำ ไปยังประตูน้ำบางนกแขวก วิ่งเส้นเดียวกัน มี 3 เจ้า
เรือปล่องเหลือง โดยมีคุณกังวาล วีรานนท์ ซึ่งคนบางนกแขวกรู้จักกันดีเป็นเจ้าของ เรือจะชื่อเทียนทองเกือบทั้งนั้น เช่น เทียนทองพาณิชย์ 1 ไล่ไปถึง 5
เรือปล่องเขียว มีบริษัทเอกชนรวมกัน ถ้าจำไม่ผิดจะมีนายบุญล้อม ศรีสุวรรณ สนับสนุนอยู่ ตอนหลังๆ มีเรือปล่องขาว วิ่งเส้นเดียวกัน มาทีหลังสุด เป็นคนที่เคยทำเรือปล่องเหลืองปล่องเขียวแยกออกมาทำ สมัยนั้นจะมีพ่นข้างเรือว่า ณรงค์ชัย กิตติขจร (ไม่แน่ใจว่าลุงแดงจำคลาดเคลื่อนจาก ณรงค์หรือไม่)
เรือเหล่านี้พอจะผ่านประตูน้ำอ่างทองเข้าคลองภาษีเจริญ ก็ต้องไปจอดรอกัน พอมาเจอกันก็มีเขม่นกันบ้าง แย่งลูกค้ากันบ้าง
ส่วนถ้าออกไปทางท่าจีน จะมีเรือวิ่งจากสุพรรณบุรี ไปที่มหาชัย แถวนี้สมัยก่อนเรียกเรือแดง ถ้าจะไปก็เอาผ้าโบก เป็นเรือ 2 ชั้น ตั้งชื่อตามวรรณคดีขุนช้าง ขุนแผน ใครที่จะเข้ากระทุ่มแบนก็มาลงประตูน้ำอ่างทอง แล้วจะขึ้นเรือปล่องเหลือง ปล่องเขียว ปล่องขาว หรือเรือจ้างก็แล้วแต่ ส่วนใหญ่เรือจ้างจะเป็นคนแจวมาส่งตลาด
เรือโยงก็ยังมีเรือสายสั้นอีก วิ่งระหว่างประตูน้ำอ่างทอง กับ ประตูน้ำภาษีเจริญ คอยลากเรือสินค้าที่ผ่านเข้ามาไปส่ง ค่าลากจูงไม่กี่บาท ตอนนั้นน้ำมันโซล่าลิตรละ 80 สตางค์
ปั๊มน้ำมันสมัยก่อนตรงโรงพักจะมีปั๊มตราดาว ของลุงธร ร้านทวีสิน
ปั๊มเอสโซ่ ตรงสุรินทร์พาณิชย์ ตรงร้านประเทืองพาณิชย์ (ลูกคุณสุรินทร์)
ปั๊มเชล ตรงย่านศาลหลวงตาทอง ของลุงศิริ เติมประยูร
ถ้าบนบกไกลคลองออกมาหน่อย จะมีปั๊มสามทหาร ของลุงทับ เทียนทอง ปัจจุบัน (2562) คือปั๊ม PT แล้วก็มีเอสโซ่อีกแห่งของคุณสุรินทร์ ตรงปั๊ม PT แถวๆ ท่ารถตู้
สมัยก่อนการเดินทางโดยเรือ คนไม่พลุกพล่าน แต่เรือเยอะเพราะไปไหนมาไหนต้องใช้เรือ ตอนนั้นกระทุ่มแบนคนน้อย ส่วนใหญ่จะรู้จักกันหมด
ส่วนเรื่องน้ำในคลองตอนลุงแดงเด็ก ยังใส สามารถตักน้ำมาแกว่งสารส้มใช้ได้ ตอนมีเรือยังดีหน่อย แต่พอเรือหยุดคลองก็ตื้นเขิน น้ำเสียไม่มีออกซิเย่น สมัยก่อนใช้กรมชลประทานใช้เรือขุด มีทั้งหัวแบบกระพ้อ และแบบหัวเจาะหัวดูด ไม่ได้ใช้แม็คโครตักแบบสมัยนี้ ตอนนั้นขุดลึกเป็น 10 เมตร เพราะถ่อเรือไม้เกือบมิดด้าม
ลุงแดงยังเล่าเพิ่มอีกว่า เรือดับเพลิงที่เคยจอดอยู่ในคลองหน้าที่ว่าการอำเภอ เป็นเรือมาจากญี่ปุ่น ของเดิมเครื่องทองเหลือง บางส่วนทำมาจากไม้ฉำฉาหุ้มทองแดงครึ่งลำที่อยู่ใต้น้ำ ด้านในมีห้องกันไฟด้วย
ความเปลี่ยนแปลงของกระทุ่มแบนจากวันวานถึงวันนี้เป็นอย่างไร
ความเป็นอยู่เราได้อย่างเสียอย่าง เราได้ความเจริญ แต่คุณภาพชีวิตตกต่ำ สมัยก่อนสุขสบาย อากาศดีกว่า น้ำท่าดีกว่า เพราะคนน้อย ขยะไม่เยอะ มลภาวะไม่เยอะ
สมัยก่อนคนในตลาดรู้จักกันหมด พืชผักปลาเยอะแยะ ส่วนคลองก็เริ่มมาเน่าเสีย บางวันบางทีบางโรงงานปล่อยน้ำดำไหลมาเป็นทางเลยก็มี สมัยก่อนเรือเยอะยังช่วยเติมออกซิเย่นในน้ำได้ เดี่ยวนี้ไม่มีแล้ว บางวันน้ำในอู่ลุงแดงฟองขึ้นส่งกลิ่นเหม็นก็มี
ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวลุงแดงและคานเรือแห่งแรกและสุดท้ายของกระทุ่มแบน ที่ผ่านร้อนผ่านฝนมาหลายปี ผมขอเอาใจช่วยให้กิจการคานเรือของลุงแดงอยู่คู่กับกระทุ่มแบนไปอีกนานแสนนานนะครับ
ขอบคุณลุงแดงที่สละเวลาถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ให้ผมและชาวกระทุ่มแบนได้ทราบกันครับ ^_^
ปิดท้ายด้วยคลิปวิดีโอลุงแดงพาเดินชมบริเวณคานเรือ พร้อมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรือครับ