ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ประวัตินายไล่ชุ้น-นางลูกอินทร์ เปาทอง และเรื่องโรงพิมพ์กิมหลีหงวน

          นับตั้งแต่ผมสะสมหนังสือเก่าที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับกระทุ่มแบนมาระยะเวลาพอสมควร พบว่าหนังสืออนุสรณ์งานศพ หรือหนังสือที่มีความเกี่ยวข้องกับคนกระทุ่มแบน ก่อนปี พ.ศ. 2500 ลงไป ส่วนใหญ่จะพิมพ์ที่โรงพิมพ์นอกพื้นที่กระทุ่มแบน เช่น โรงพิมพ์ศรีหงส์ โรงพิมพ์มหาดไทย โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ โรงพิมพ์ศึกษาธรรมดา (สี่แยกสะพานดำ ถนนวรจักร) โรงพิมพ์พระจันทร์ (ท่าพระจันทร์ จังหวัดพระนคร) โรงพิมพ์สยามราษฎร์ (ถนนอัศฎางค์) โรงพิมพ์กิมหลีหงวน เป็นต้น

หนังสืออนุสรณ์นายไล่ชุ้น เปาทอง
หนังสืออนุสรณ์งานศพนายไล่ชุ้น เปาทอง พ.ศ. 2482

หนังสืออนุสรณ์งานศพนางลูกอินทร์ เปาทอง
หนังสืออนุสรณ์งานศพนางลูกอินทร์ เปาทอง พ.ศ. 2497

          วันหนึ่งผมได้หนังสืออนุสรณ์งานศพที่เกี่ยวกับคนกระทุ่มแบน ยุค 2470-2490 มาอ่านข้อมูล เมื่อพลิกดูพบว่ามีประวัติผู้วายชนม์คนกระทุ่มแบน 2 ท่าน คือ นายไล่ชุ้น เปาทอง และ นางลูกอินทร์ เปาทอง มีลูกสาวชื่อนางกิมกี แซ่ลิ้ม หรือ นางกิมกี สุวรรณสุขโรจน์ ไปทำธุรกิจโรงพิมพ์อยู่ที่กรุงเทพฯ ชื่อ โรงพิมพ์กิมหลีหงวน

          ก่อนอื่นใดขอให้ข้อมูลผู้วายชนม์ 2 ท่าน จากหนังสือ 2 ชุดนี้กันก่อนนะครับ

นายไล่ชุ้น เปาทอง

นายไล่ชุ้น เปาทอง 

          เกิด ณ วันศุกร์ เดือน 6 ขึ้น 1 ค่ำ ปีระกา ตรงกับวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2404 ณ ที่บ้านดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรเฒ่าแก่เป๋า นางบาง เปาทอง เมื่อเยาว์ได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยและจีนตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น สำเร็จจากการศึกษาแล้วได้ช่วยเหลือบิดามารดาทำการค้าขายตลอดมา พออายุครบ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดนางสาว อำเภอกระทุ่มแบน 1 พรรษา จึงได้ลาสิกขาบท

          ต่อมาได้ทําการสมรสกับนางอินทร์ บุตรนายเม้า นางนวน (อีกฉบับใช้ว่า นวล /แอดมิน) คนบ้านตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม แล้วได้เริ่มทำการค้าเรือส่ง ตั้งโรงครามย้อมผ้า และเมื่อได้เลิกทำการค้าเรือส่ง และโรงคราม จึงได้จัดตั้งรงสีโรงหนึ่งที่ตลาดกระทุ่มแบน และในที่สุดได้ตั้งโรงช่างทองขึ้นอีกโรงหนึ่งในตำบลเดียวกัน

          นายไล่ชุ้น เปาทอง เป็นคนที่มีอัธยาศัยใจคอโอบอ้อมอารีย์ ประกอบด้วยเมตตากรุณา กระทำตนให้เป็นที่พึ่งพำนักแก่ญาติมิตรทั่วไป ทั้งเป็นผู้เลื่อมใสในการบุญกุศลอยู่เนืองนิตย์ จึงปรากฏเป็นที่รักใคร่ เคารพนับถือของบรรดาญาติมิตรทั้งหลาย

          นายไล่ชุ้น เปาทอง มีบุตรธิดา ซึ่งเกิดแต่นางอินทร์ เปาทอง รวมด้วยกัน 7 คน คือ

1. นางกิมเหรียญ

2. นางกิมเตียง

3. นางกิมกี แซ่ลิ้ม (เจ้าของ ร.พ. กิมหลีหงวน)

4. นางนฤยุตสัณหภาพ (กิมชิว)

5. นายเฮงหลี เปาทอง

6. นายเอื้อม เปาทอง

7. นายเฮงหยู เปาทอง

          ครั้นวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 นายไล่ชุ้นได้ถึงแก่กรรมลงด้วยอาการอันสงบ ในท่ามกลางความโศรกเศร้าของบุตรธิดาทั้งหลาย คำนวณอายุได้ 77 ปี

นางลูกอินทร์ เปาทอง
นางลูกอินทร์ เปาทอง 

          เป็นบุตร นายเม้า นางนวล เกิดเมื่อเดือนห้า ปีชวด พ.ศ. 2406 ณ ตำบลอ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม ครั้นมีวัยวัฒนาการได้ช่วย บิดามารดาประกอบการค้าขาย เมื่อมีอายุพอสมควรแล้ว ได้ทำการสมรสกับ นายชุ้น เปาทอง และได้ทำการค้าขายตลอดมา มีบุตรธิดาเกิดกับ นายชุ้น เปาทอง รวม 6 คน ด้วยกัน คือ :-

1.  นางกิมเตียง  ทองมี

2.  นางกิมกี สุวรรณสุขโรจน์

3. นางกิมชิว นาควิเชฏฐ์

4. นายหลี เปาทอง

5. นายเอื้อม เปาทอง

6. นายหยู เปาทอง (ถึงแก่กรรม)

          ต่อมานางลูกอินทร์ เปาทอง ได้ประกอบการค้าขายทองคำรูปพรรณเป็นอาชีพเป็นหลักฐาน อยู่ที่ประตูน้ำอ่างทอง อ.กระทุ่มแบน  จ. สมุทรสาคร 

          ท่านเป็นผู้มีอัธยาศรัยโอบอ้อมอารี เป็นที่ชอบพอรักใคร่นับถือของญาติมิตรและบรรดาลูกค้าทั่วไป  ทั้งเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในศีลธรรมประกอบแต่สัมมาอาชีพ เป็นผู้ยึดมั่นในพระบวรพุทธศาสนา อาทิได้บำเพ็ญทานการกุศล บริจาคทรัพยร่วมในการสร้างปฏิสังขรณ์ ซึ่งมีผู้มาขอร่วมมือเนืองนิตย์

          กาลเมื่อท่านชราภาพมากแล้ว ท่านได้มาอยู่กับนายหลี เปาทอง ณ บ้านปากคลองตลาดคลองห้า เมื่อ พ.ศ. 2480 

          ใน พ.ศ. 2494 ท่านได้ป่วยลงด้วยโรคชรา บุตรธิดาได้ช่วยกันรักษาพยาบาลจนเต็มความสามารถ แต่โรคนั้นก็มีแต่ทรงและทรุดลงโดยลำดับ ครั้นถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2494 ท่านก็ถึงแก่มรณกรรมด้วยอาการอันสงบในท่ามกลางความวิปโยคของบุตรธิดา และวงศาคณาญาติทั้งหลาย คำนวณอายุได้ 88 ปี


คำโฆษณาบริษัทกิมหลีหงวน จำกัด ที่ปกหลังหนังสืออนุสรณ์งานศพนายไล่ชุ้น พ.ศ. 2482

          จากข้อมูลข้างต้น รวมถึงคำโฆษณาโรงพิมพ์กิมหลีหงวนที่ปกหลังหนังสืออนุสรณ์ ทำให้ผมได้ทราบว่าบุตรคนที่ 2 ของนายไล่ชุ้นและนางลูกอินทร์ นั่นคือ นางกิมกี แซ่ลี้ หรือ นางประณีต สุวรรณสุขโรจน์ ซึ่งผมสันนิษฐานจากชื่อผู้พิมพ์โฆษณาที่ปกหลังหนังสือเล่มหนึ่งในยุคเดียวกันว่า นางกิมกีน่าจะได้สมรสกับนายปราโมทย์ สุวรรณสุขโรจน์ และทำการค้าขายในชื่อ "บริษัท กิมหลีหงวน  จำกัด" แต่ไม่ทราบข้อมูลว่าก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ก่อน พ.ศ. 2482 แน่นอนเมื่อเทียบกับปีที่พิมพ์หนังสือของนายไล่ชุ้น

              บริษัทกิมหลีหงวน จำกัด ตั้งอยู่ที่ตึกเลขที่ 151-153-155 หน้าวัดสุทัศน์ เสาชิงช้า พระนคร โดยในปกหลังหนังสืออนุสรณ์งานศพนายไล่ชุ้น ปี 2482 แสดงให้เห็นว่าเดิมทีมีเพียงธุรกิจเดียวคือโรงพิมพ์กิมหลีหงวน (เปงเฮง) แต่ในในช่วงปีดังกล่าวมีการโฆษณาประกาศแจ้งว่า เปิดแผนกจำหน่ายเครื่องรับวิทยุขึ้นอีกแผนกหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า "กิมหลีหงวนราดิโอ" (แผนกจำหน่ายเครื่องวิทยุ) มีเครื่องประกอบในการใช้วิทยุ จำหน่ายพร้อม เช่น หลอดวิทยุยี่ห้อเรเตออน ทรีแอ๊ต อาร์.ซี.เอ. ทุกนัมเบอร์ แร่มากชนิดด้วยกัน. ลำโพงไดนามิ๊กบอลวินน์ ไลท์ ช้าปไดท์. เนชั่นแนล. นิวว๊อค และอื่นๆ. แบตเตอร์รี่ไฟสูง ไฟต่ำ หูฟังหลายยี่ห้อ. สายอากาศอย่างดี สวิทช์กันฟ้า ฯลฯ เครื่องประกอบในการใช้วิทยุทุกชนิด / รับสร้างเครื่องขยายไฟตรงไฟสลับ ประกอบตั้งแต่ 1 หลอดขึ้นไป ต่างจังหวัดรับรองว่าได้ผลดี ราคารับรองว่าจะจำหน่ายให้ย่อมเยามากที่สุด / มีนายช่างรับตรวจแก้เครื่อง ช่วยรับแก้ไขความขัดข้องของเครื่อง รับปรึกษาและให้คำแนะนำในเรื่องเกี่ยวแก่วิทยุอยู่ประจำเสมอ / หัวเมืองโปรดจดหมายติดต่อผู้จัดการ

ปกหลัง กิมหลีหงวน 2491
คำโฆษณาบริษัทกิมหลีหงวน จำกัด ที่ปกหลังหนังสืองานบำเพ็ญกุศลฉลองประทวนสมณศักดิ์และวันบรรจบครบอายุ 61 ปีบริบูรณ์ของพระครูเล็ก ธมฺมโชติ วัดราษฎร์บำรุง (หงอนไก่) เมื่อปี พ.ศ. 2491

          ส่วนในโฆษณาปกหลังหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ชื่อ วิสาสกถา ซึ่งพิมพ์แจกในงานบำเพ็ญกุศลฉลองประทวนสมณศักดิ์และวันบรรจบครบอายุ 61 ปีบริบูรณ์ของพระครูเล็ก ธมฺมโชติ วัดราษฎร์บำรุง (หงอนไก่) เมื่อ ปี พ.ศ. 2491 มีการบอกกล่าวไว้ทั้ง 2 ธุรกิจอย่างชัดเจนคือ 

          1. แผนกพิมพ์ 

          "รับทำการพิมพ์ทุกชนิด และจำหน่ายแบบเรียนตั้งแต่ชั้นประถมกับมัธยมศึกษา  และแบบเรียนนักธรรมบาลี โท เอก กลอนลำภาคอีสาน เครื่องเขียนทุกชนิด"

          2. แผนกวิทยุ

          "จำหน่าย ซ่อม สร้าง เครื่องรับวิทยุและมีเครื่องขยายเสียง ภาพยนต์ เครื่องทำไฟให้เช่าโดยราคาย่อมเยา"

          มีการใช้ชื่อว่า "โรงพิมพ์กิมหลีหงวน (เปงเฮง)" เรื่อยมาอีกหลายปีไม่ทราบว่าเมื่อใดจึงมีการเปลี่ยนชื่อโรงพิมพ์เป็น "โรงพิมพ์สมัยนิยม" (บริษัท กิมหลีหงวน จำกัด) ซึ่งปรากฏข้อมูลนี้บนปกหลังหนังสืออนุสรณ์งานศพนางลูกอินทร์ เปาทอง พ.ศ. 2497 และแสดงให้เห็นว่ามีการขายเครื่องสังฆภัณฑ์เพิ่มขึ้นมาด้วย ดังคำโฆษณาที่ปรากฏ

          "จำหน่ายเครื่องเขียน แบบเรียน ภาษาไทย ภาษาบาลี เทศนาทั้งเล่มและใบลาน
ตำรา สารคดี วรรณคดี สัญญาต่าง ๆ 
รับทำการพิมพ์หนังสือยก ใบเสร็จ ฎีกา ถุงและตั๋ว
จำหน่ายวิทยุ รับซ่อ มีเครื่องขยายเสียงให้เช่า
เครื่องอัฐบริขาร คือ เครื่องไตรจีวร
บวชนาค ทอดกฐิน มีให้เลือกทุกชนิด
มีหนังสือต่างๆ ให้ท่านเลือกแจกในงานต่างๆ โดยราคาย่อมเยา"

          หากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงคราม โรงสี  หรือโรงพิมพ์กิมหลีหงวน / โรงพิมพ์สมัยนิยม ก็สามารถแจ้งแอดมินได้เลยนะครับ

          ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านครับ

ปกหลังหนังสืออนุสรณ์งานศพนางลูกอินทร์ เปาทอง 2497
ปกหลังหนังสืออนุสรณ์งานศพนางลูกอินทร์ เปาทอง  พ.ศ. 2497

----
ข้อมูลและภาพจาก

  1. หนังสืออนุสรณ์งานศพนายไล่ชุ้น เปาทอง พ.ศ. 2482
  2. หนังสืออนุสรณ์นายไล่ชุ้น เปาทอง พ.ศ. 2497
  3. หนังสืองานบำเพ็ญกุศลฉลองประทวนสมณศักดิ์และวันบรรจบครบอายุ 61 ปีบริบูรณ์ของพระครูเล็ก ธมฺมโชติ วัดราษฎร์บำรุง (หงอนไก่) เมื่อปี พ.ศ. 2491

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชื่อ "กระทุ่มแบน" มาจากไหน

"บ้านน้องอยู่ที่ไหนนะ?" "กระทุ่มแบนครับ" "แล้ว กระทุ่มแบน เนี่ย ทำไมมันถึงชื่อนี้?" "อืม..ไม่แน่ใจ...ไม่ทราบเลยครับ" เชื่อได้ว่าคนกระทุ่มแบนหลายคนคงจะคุ้นเคยกับบทสนทนาประมาณข้างต้น ที่ตอบได้เพียงคำถามแรก แต่เมื่อถึงคำถามที่สอง เซลล์สมองอาจต้องวิ่งทำงานเหนื่อยกันเลยทีเดียว สุดท้ายบางคนตอบได้ บางคนเดาไป บางคนถามกลับว่า "อยากจะรู้ไปทำไม" สำหรับผมแล้ว... "กระทุ่มแบน...ทำไมมันถึงชื่อนี้" มันเป็นคำถามที่ค้างคาใจมาหลายปี จนกระทั่งวันที่พอจะมีกำลังและเวลา รวมถึงความพร้อมประกอบอื่นๆ ทำให้ได้ออกค้นหาคำตอบเสียที ภาพแผนที่ตัดเฉพาะส่วนจากกรมแผนที่ทหารบกสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2456 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

วัดนางสาวมีโบสถ์ มหาอุด หรือ มหาอุตม์ เขียนแบบไหน?

โบสถ์มหาอุด วัดนางสาว ถ่ายเมื่อ 1 ม.ค. 2562 คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อถ้าบอกว่าเป็นคนกระทุ่มแบนแต่ไม่รู้จักวัดนางสาว เพราะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในด้านการพัฒนา มีตำนานเรื่องเล่ามากมายหลากหลายเรื่อง รวมถึงโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์และพิเศษกว่าหลายๆ โบสถ์ของวัดในเมืองไทย ส่วนประวัติวัดนางสาว และเรื่องราวประกอบอื่นๆ ผมคงได้รวบรวมข้อมูล ประวัติต่างๆ เพื่อเขียนให้ได้อ่านกันในบทความถัดๆ ไป ในตอนนี้ขอกล่าวถึง โบสถ์หรืออุโบสถที่วัดนางสาว  อายุเก่าแก่กว่า 400 ปี ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีพาไลหรือพะไลยื่นออกมา 1 ห้อง (พาไลหรือพะไล แปลว่า เรือนหรือเพิงโถง ต่อจากเรือนเดิมหรืออยู่ในบริเวณของเรือนเดิม ใช้เป็นที่นั่งเล่นหรือประโยชน์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน)  มีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคาจำนวน 4 ต้น ช่อฟ้าใบระกาเป็นปูนปั้นประดับกระจก ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูเข้าออกด้านหน้าเพียงประตูเดียว ไม่มีหน้าต่าง ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมใหม่โดยปูหินอ่อนภายใน มีลายจิตรกรรมฝาผนัง ด้านผนังนอกมีการปรับเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาที่มี

เปิดตำนาน "ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่มแบน"

หากค้นรูปถ่ายติดบัตรขาวดำเก่าๆ ยุค 2500 ที่บ้านของคนกระทุ่มแบนขึ้นมาดู ผมเชื่อว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรูปถ่ายเหล่านั้น บนมุมซ้ายหรือขวาด้านล่างของรู ปจะต้องมีตราประทับแบบนูนของร้ านถ่ายรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านที่นิยมและได้รั บความไว้วางใจจากชาวกระทุ่ มแบนมาอย่างยาวนาน นั่นคือ "ห้องภาพชูศิลป์ : ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่ มแบน" หลังจากหาเวลานัดหมายกับห้องภาพชูศิลป์ ให้จังหวะลงตัวกับวันที่ ผมพอจะว่างจากทั้ งงานประจำและงานพิเศษในวันหยุ ดเสาร์-อาทิตย์เรียบร้อย ผมจึงได้มีโอกาสฟังเรื่องราวดีๆ จากทายาทผู้ก่อตั้ง "ห้องภาพชูศิลป์" ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2562 คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" ลูกสาวคนโตของเจ้าของห้องภาพชูศิลป์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2492 ได้บอกเล่าให้ผมได้ฟังด้วยรอยยิ้ มอารมณ์ดีถึงประวัติห้องภาพชูศิลป์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในรุ่นของคุ ณพ่อและคุณแม่  คุณพ่อมีลูก 5 คน คือ คุณป้าเป็นคนโต มีน้องชาย 3 คน และน้องสาวคนเล็กอีกคน   คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" จุดเริ่มต้นของอาชีพถ่ายภาพ คุณแม่ป้าเช็งชื่อ &quo