ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ทำความรู้จัก ประตูน้ำกระทุ่มแบน (ประตูน้ำอ่างทอง)

ทำความรู้จักประตูน้ำกระทุ่มแบน

           ย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีก่อนที่ผมเริ่มค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับกระทุ่มแบนทั้งภาพถ่ายเก่า ประวัติต่างๆ ทั้งจากหนังสือและคำบอกเล่าของคนในชุมชนเอง หนึ่งในภาพและเรื่องราวที่น่าสนใจในการออกตามหาครานั้นก็คือ ภาพประตูน้ำอ่างทอง หรือประตูน้ำกระทุ่มแบนนั่นเอง

           ขอเล่าความเดิมเกี่ยวกับคลองภาษีเจริญสักเล็กน้อยคร่าวๆ ครับ

           เมื่อราว พ.ศ. 2393 - 2410  ช่วงที่การค้าน้ำตาลและผลผลิตจากน้ำตาลรุ่งเรือง สังเกตได้จากจำนวนโรงงานน้ำตาลริมแม่น้ำนครชัยศรี (แม่น้ำท่าจีนในช่วงที่ไหลผ่านสมุทรสาคร) ซึ่งมีมากถึง 23 แห่ง ในปี พ.ศ. 2408 และพื้นที่ปลูกอ้อยที่มีมากที่สุดในช่วงนั้นก็คือ ย่านนครชัยศรี ซึ่งแสดงให้เห็นว่านครชัยศรีเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลที่สำคัญ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าน้ำตาลและอำนวยความสะดวกในการขนส่งน้ำตาลจากแหล่งผลิตมาสู่ตลาดและกรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวก จึงมีการขุดคลองเจดีย์บูชา คลองภาษีเจริญและคลองดำเนินสะดวก เพื่อให้สามารถลำเลียง

แผนที่กระทุ่มแบน 2460
ภาพคร้อปส่วนแผนที่ จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

           หลังจากการเริ่มต้นขุดคลองภาษีเจริญ สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พศ. 2409 (บางตำราระบุเป็น พ.ศ. 2410) เริ่มต้นที่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่และคลองบางขุนศรีมาบรรจบกัน ไปเชื่อมแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลดอนไก่ดี (ดอนกะดี หรือ ดอนกะฎี) จังหวัดสมุทรสาคร รวมความยาว 28 กิโลเมตร (คลองมีความยาว 620 เส้น กว้าง 7 วา ลึก 5 ศอก) โดยพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) เจ้าภาษีฝิ่นเป็นแม่กองขุด ใช้เงินภาษีฝิ่นพระราชทานเป็นเงิน 112,000 บาท  และพระราชทานนามว่า “คลองภาษีเจริญ” การขุดคลองมาแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จพระราชดำเนินเปิดคลองในปี พ.ศ. 2415

           ครั้น พ.ศ. 2445 ทางการได้ว่าจ้าง นายเย โฮมัน วันเดอร์ ไฮเด วิศวกรชลประทานชาวฮอลันดา มาดำเนินงานชลประทานในประเทศไทย และแต่งตั้งให้ นายเย โฮมัน วันเดอร์ ไฮเด เข้ารับราชการ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2445 พร้อมทั้งรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "กรมคลอง" และทรงแต่งตั้ง นาย เย โฮมัน วันเดอร์ ไฮเด เป็นเจ้ากรมคลองคนแรก เพื่อทำหน้าที่ดูแลทำนุบำรุงคลองต่างๆ ไม่ให้ตื้นเขิน

Homan van der Heide
นายเย โฮมัน วันเดอร์ ไฮเด
เจ้ากรมคลองคนแรก

           แม้จะมีการขุดลอกคลองอยู่เสมอ แต่ในเวลาน้ำลงถ้าไม่ใช่ฤดูน้ำ เรือที่กินน้ำลึกก็ต้องจอดรอน้ำขึ้นก่อนจึงจะผ่านไปได้ ประกอบกับเรือที่เดินในคลองภาษีเจริญมีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ดังจะเห็นได้จากจดหมายเหตุประพาสต้น (ร.ศ. 123) พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงบันทึกว่ากระบวนเรือของรัชกาลที่ 5 มาติดในคลองภาษีเจริญช่วงน้ำลงที่บริเวณวัดหนองแขม รวมถึงผมเคยอ่านเจอประกาศเก่าๆ สมัยไปเปิดดูจากไมโครฟิล์มที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ประมาณว่ามีการใช้วัวควายรับจ้างในการลากจูงเรือที่ติดน้ำตื้นเขินในช่วงน้ำลงด้วยก็มี

           ดังนั้น กรมคลองจึงได้สร้างประตูระบายน้ำ และประตูเรือสัญจรที่ปากคลองทั้งสองข้าง เพื่อเก็บกักน้ำในคลองให้เรือเดินได้ตลอดเวลา ประตูน้ำด้านคลองบางกอกใหญ่อยู่ที่เขตภาษีเจริญใกล้วัดนวลนรดิศ ประตูน้ำด้านนครชัยศรีอยู่ที่กระทุ่มแบน โดยได้เริ่มสร้างประตูเรือสัญจรช่วงกว้าง 6 เมตร ในปลายปี พ.ศ.2449 และเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2451  ส่วนประตูระบายเริ่มสร้างเมื่อปลายปี พ.ศ.2451 และเสร็จเมื่อ พ.ศ.2452 เป็นเงิน 149,000 บาท กับทั้งได้เริ่มขุดลอกคลองภาษีเจริญด้วยเรือขุดในปี พ.ศ.2449 ด้วย (อดุล  อิ่มโอชา, 2525, หน้า 109-111, กรมศิลปากร, 2525, หน้า 618)

ภาพการก่อสร้างประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอก

ภาพการก่อสร้างประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอก

ภาพการก่อสร้างประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอก

ภาพการก่อสร้างประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอก

ภาพการก่อสร้างประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอก
ภาพการก่อสร้างประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอก

           การก่อสร้างประตูน้ำในเส้นคลองภาษีเจริญนี้ มี 2 แห่งด้วยกัน โดยกั้นช่วงต้นคลองและปลายคลอง นั่นคือ ประตูน้ำภาษีเจริญตอนใน ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2450 และประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอก ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2452

           จากหนังสือ King of the Waters: Homan van der Heide and the Origin of Modern Irrigation in Siam ได้มีการกล่าวถึงการก่อสร้างประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอกที่กระทุ่มแบนในสมัยนั้นมีการใช้กุลี หรือแรงงานคนจีนในการก่อสร้าง มีนายฮวดหรือเถ้าแก่ฮวดเป็นคนสำคัญในการดูแลการก่อสร้างประตูน้ำที่กระทุ่มแบนแห่งนี้ 

           การก่อสร้างที่ประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอก (กระทุ่มแบน) เริ่มด้วยการปรับพื้นที่ในการเตรียมลงอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ในการก่อสร้าง การติดตั้งบานประตูเหล็กแบบสวิงที่กั้นน้ำเข้าออก โดยจะมี 2 ด่านด้วยกัน บริเวณตรงกลางก็จะเป็นลักษณะอ่างกักน้ำไว้ เวลาเรือจะเข้าออกก็เปิดครั้งละหนึ่งบานให้เรือเข้ามาคอยในอ่าง เมื่อเรือเข้าเสร็จเรียบร้อยก็จะปิดประตูน้ำบานแรก แล้วเปิดอีกบานให้เรือออกสู่แม่น้ำท่าจีน หรือตรงกันข้าม ก็เพื่อเข้าคลองภาษีเจริญต่อไป

           ผมเคยไปสัมภาษณ์คุณลุงท่านหนึ่งจำชื่อไม่ได้ที่ย่านประตูน้ำกระทุ่มแบน รวมถึงได้รับการบอกเล่าจาก พี่ตรี - มนตรี พลังจุนันท์ คนพื้นที่ย่านประตูน้ำกระทุ่มแบน ที่ตรงกันว่าสมัยก่อนย่านประตูน้ำแห่งนี้ก็มีความคึกคัก เพราะมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของกันพอสมควรตั้งแต่เช้ามืด เมื่อพิจารณาดูแล้วก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะว่ามีแม่ค้าจากทั้งดำเนิน อัมพวา แม่กลองที่ล่องเรือเอาสินค้าต่างๆ เข้ามาขาย ไล่มาจากคลองดำเนินสะดวก ผ่านประตูน้ำบางยาง ผ่านแม่น้ำท่าจีน เข้าประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอกแห่งนี้ (ประตูน้ำกระทุ่มแบน) ระหว่างรอประตูเปิด ก็คงมีการซื้อขายกันเป็นธรรมดา

           ขอย้อนมาเล่าถึงเรื่องชื่อประตูน้ำที่กั้นคลองภาษีเจริญแห่งนี้กันอีกสักนิดหนึ่งครับ

           อย่างที่ทราบกันตั้งแต่แรกว่าประตูน้ำที่กั้น 2 แห่งในคลองภาษีเจริญแห่งนี้มี 2 จุดคือ ในกรุงเทพฯ คือ ประตูน้ำภาษีเจริญตอนใน ส่วนที่กระทุ่มแบน คือประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอก

ประตูน้ำภาษีเจริญตอนใน
ประตูน้ำภาษีเจริญตอนใน (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

           ครั้งหนึ่งผมเองก็เข้าใจผิดด้วยเห็นภาพและหนังสือเล่มหนึ่งตีพิมพ์ว่า ภาพที่ประตูน้ำที่มีป้ายระบุว่า ประตูน้ำภาษีเจริญตอนใน เป็นประตูน้ำที่กระทุ่มแบน เลยเกิดความสับสน จนวันหนึ่งเคยได้เรียนปรึกษาอาจารย์เอนก นาวิกมูล ท่านว่าไม่น่าใช่ อาจเป็นการเข้าใจผิดกัน ตอนในน่าจะเป็นในเมือง หรือกรุงเทพฯ มากกว่า ประกอบกับได้อ่านบันทึกจากหนังสืออนุสรณ์เก่าหลายเล่ม ที่เล่าเรื่องการเดินทางของในหลวง หรือข้าราชการผู้ใหญ่หลายท่านว่าผ่านประตูน้ำบางยาง มาเข้าประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอก หรือออกจากประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอก ไปเข้าประตูน้ำบางยาง อาทิ

           ในพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรีในปีระกา ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) พิมพ์ครั้งที่ 2 โดยในฉบับที่ 1 ลงวันที่ 31 สิงหาคม ร.ศ. 128 ได้ทรงบันทึกไว้ว่า

           ออกเดินทางจากวัดราชาธิวาส เข้าคลองบางกอกใหญ่ เข้าประตูน้ำภาษีเจริญประตูแรก มีโรงแถวและตลาดของพระอรรถการ (เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล)) ดูคึกครื้นจนจำไม่ได้ว่าเป็นปากคลองภาษีเจริญ ประตูเปิดปิดไม่ช้า เพราะระดับน้ำไม่ต่างกันมาก แต่ด้วยไม่ชำนาญเลย ไม่เห็นที่ผูกเรือที่ปักไว้หลังเขื่อน ถูกสายน้ำปัดเปะปะไป และอาจเพราะไปรอใกล้ประตูเกินไป นอกจากนี้พระองค์ทรงบันทึกอีกว่าในลำคลองมีบ้านเรือนแน่นหนาขึ้นมากกว่า 5 ปีที่แล้วที่ได้มาเห็น (ผมเข้าใจว่าน่าจะหมายถึงนับจากคราวคราวพระองค์เสด็จประพาสต้น ร.ศ. 123) แต่น่าเสียดายมากที่คลองนี้ได้เล็กเกินไป

           อีกช่วงหนึ่งพระองค์ทรงบันทึกว่า เรือสุพรรณหงส์ เดินในคลองภาษีเจริญ ขยักขย่อน เพราะต้องเดินเบา กินเวลา 4 ชั่วโมงเศษนิดหน่อย ที่ประตูน้ำตะวันตก น้ำผิดกับน้ำแม่น้ำประมาณสองศอกเศษ เพราะฉะนั้นการที่จะออกประตูน้ำจึงได้ช้า

           ตรงจุดนี้ทำให้ผมได้ทราบว่า นอกจากเรียกประตูน้ำภาษีเจริญตอนใน และนอกแล้ว ยังมีการเรียกตามตำแหน่งทิศด้วย นั่นคือ ประตูน้ำภาษีเจริญตอนใน คือ ประตูน้ำฝั่งตะวันออก ส่วนตอนนอกคือฝั่งตะวันตก

           หนังสืออีกเล่มที่มีการบันทึกและกล่าวเกี่ยวกับประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอกไว้ก็คือ "เรื่องเที่ยวไทรโยค คราวสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เสด็จประพาส เมื่อ พ.ศ. 2464"  มีตอนหนึ่งท้ายเล่มได้จดบันทึกไว้ ช่วงเสด็จกลับกรุงเทพฯ ว่า ช่วงถึงประตูน้ำบางนกแขวกมีพระยาสมุทรสาครคณาภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในขณะนั้นมารับเสด็จ มีการนำส้มโอและปลาของพระยามหินทรเดชานุวัตรมาถวาย และมาจอดเรือพระที่นั่งที่หน้าวัดบางยาง มีกรมการอำเภอมารับเสด็จ พระสงฆ์ที่วัดบางยางสวดชยันโตถวาย มีผู้ใหญ่บ้านและนายอำเภอนำของสดมาถวาย และในวันรุ่งขึ้นนายอำเภอกระทุ่มแบน (ผมเทียบระยะเวลาจากทำเนียบนายอำเภอกระทุ่มแบน พบว่าท่านคือ หลวงประสานสิริราษฎร์ (พร กฤษณมิตร) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีบุณยานุสสรณ ตั้งแต่แรกเริ่มนั่นเองครับ)

           เรือพระที่นั่งออกจากวัดบางยางโดยเรือจูง ออกจากปากคลองบางยางเข้าแม่น้ำท่าจีน
เวลา 8.25 น. และมาเข้าคลองภาษีเจริญนอก มีผู้นำของสดและมะพร้าวมาถวาย และโปรดเกล้าฯ ประทานของแจก
เวลา 8.55 น. ออกจากประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอก
เวลา 9.13 น. ถึงหลัก 6
เวลา 9.22 น. ถึงคลองกระทุ่มแบน
เวลา 9.26 น. ถึงที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบนอยู่ทางขวา
เวลา 9.46 น. ถึงหลัก 5
เวลา 10.20 น. ถึงหลัก 4
เวลา 10.29 น. ถึงบ้านหนองแขม ขังหวัดธนบุรี
เวลา 10.30 น. จอดเรือที่หนองแขมด้านขวามือ เพื่อให้คนไปดูงานพระพุทธบาทที่วัดหนองแขม
เวลา 11.21 น. ออกเรือเดินทางต่อไป
เวลา 11.32 น. ถึงที่ว่าการอำเภอหนองแขม
เวลา 12.40 น. ถึงเขตรอยต่ออำเภอหนองแขมกับอำเภอภาษีเจริญ
เวลา 12.45 น. ถึงหลัก 1
เวลา 12.49 น. ถึงที่ว่าการอำเภอภาษีเจริญ
เวลา 13.13 น. ถึงประตูน้ำภาษีเจริญตอนใน

           ครั้งหนึ่งผมได้รับความช่วยเหลือในการค้นราชกิจจานุเบกษาจากพี่วุฒิพงศ์ ท้าวฬา กัลยาณมิตรของผม ถึงเรื่องการเปลี่ยนชื่อประตูน้ำภาษีเจริญ ซึ่งระบุไว้ชัดเจน รวมถึงกล่าวถึงเหตุในกาารเปลี่ยนชื่อประตูน้ำด้วยว่า แม้จะมีคำว่าตอนใน หรือตอนนอก ต่อท้ายคำว่าภาษีเจริญ แต่ชาวบ้านหลายคนก็เกิดความสับสน ด้วยผมเข้าใจว่าชื่อเต็มๆ คงจะยาว ก็เลยนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่าประตูน้ำภาษีเจริญ คราวนี้หลายคนก็เลยสับสนว่าหมายถึงประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอก หรือ ตอนในกันแน่ เชื่อได้ว่าคงมีการนัดหมายหรือบอกกล่าวกันสับสนพอสมควร ประหนึ่งเทียบกับปัจจุบันว่าเจอกันที่เซเว่นอีเลฟเว่นในซอย ซึ่งไม่รู้ว่าอยู่ต้นซอย หรือท้ายซอย ประมาณนั้นครับ

ประกาศกระทรวงเกษตรตราธิการ เรื่องเปลี่ยนนามประตูน้ำภาษีเจริญตอนในและตอนนอก
ประกาศกระทรงเกษตราธิการ เรื่องเปลี่ยนนามประตูน้ำภาษีเจริญตอนในและภาษีเจริญตอนนอก

           ในประกาศกระทรงเกษตราธิการ จึงมีการประกาศเปลี่ยนนามประตูน้ำภาษีเจริญตอนในและภาษีเจริญตอนนอก โดยประตูน้ำภาษีเจริญตอนในที่อยู่ที่ปากคลองให้ตัดคำว่าตอนในออกเหลือเพียง "ประตูน้ำภาษีเจริญ" ส่วนประตูน้ำภาษีเจริญตอนนอก ที่ปลายคลอง ที่กระทุ่มแบน ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "ประตูน้ำกระทุ่มแบน" ตั้งแต่ 19 มิถุนายน 2485 เป็นต้นไป

           หลังจากนั้นมาประตูน้ำที่กระทุ่มแบนจึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ประตูน้ำกระทุ่มแบน" แต่กระนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ก็คงคิดว่าชื่อเต็มๆ เรียกยาก และคุ้นเคยกับชื่อในท้องถิ่นมากกว่า เลยเรียกกันเสมือนเป็นชื่อเล่นว่า "ประตูน้ำอ่างทอง" ตามพื้นที่ตั้งที่ประตูน้ำแห่งนี้อยู่ใกล้กับวัดอ่างทอง เพียงแค่เปิดประตูน้ำออกสู่แม่น้ำท่าจีน ห่างออกไปไม่ไกลก็จะถึงวัดอ่างทองแล้วครับ  โดยส่วนตัวผมเอง และคนกระทุ่มแบนหลายคนจึงชินและติดปากกับชื่อ "ประตูน้ำอ่างทอง" กันเสียมากกว่า แต่ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเรียกกันมาตั้งแต่สมัยไหน ก่อนการเปลี่ยนชื่อประตูน้ำหรือเปล่า

           หลังจากนี้ผมขอเรียกประตูน้ำกระทุ่มแบนว่า ประตูน้ำอ่างทอง จากความคุ้นเคยที่เรียกติดปากมาโดยตลอดแต่เด็กนะครับ

           อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ณ ประตูน้ำอ่างทองแห่งนี้ ที่จะอดกล่าวถึงไม่ได้ก็คือ เหตุการณ์ประตูน้ำอ่างทองถูกทิ้งระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ส่งฝูงบิน No. 356 (Liberator) Squadron RAF มาทิ้ง ระเบิดที่ประตูน้ำกระทุ่มแบน เพื่อตัดเส้นทางในการลำเลียงเสบียงและยุทโธปกรณ์ของญี่ปุ่นก่อนจะมุ่งหน้าเข้าคลองดำเนินสะดวกออกไปยังแม่น้ำแม่กลอง กาญจนบุรี และไปยังประเทศพม่า

ประตูน้ำอ่างทองถูกทิ้งระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ประตูน้ำอ่างทองถูกทิ้งระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ประตูน้ำอ่างทองถูกทิ้งระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ประตูน้ำอ่างทองถูกทิ้งระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ประตูน้ำอ่างทองถูกทิ้งระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

           คุณลุงท่านหนึ่งย่านประตูน้ำอ่างทอง (จำชื่อท่านไม่ได้ต้องขออภัยครับ) อายุราว 70-80 ปี บ้านอยู่ข้างประตูน้ำอ่างทอง ได้เล่าว่า มีเครื่องบินบางลำมันคงกะระยะผิดบนิต่ำเกินไป พอทิ้งระเบิดโดยลูกหลงจากแรงระเบิดดันน้ำมาโดนจนเครื่องบินตกเลย มีคนเสียชีวิตด้วย ระเบิดบางลูกก็ทิ้งลงมาด้านไม่ระเบิด จนตอนหลังต้องมีการลากจูงไปทิ้งและทำลายไว้กลางทุ่ง ไกลๆ ผู้คน

           ครูสุเทพ แก้วท่าไม้ อดีตข้าราชการครูโรงเรียนวัดบางยาง ท่านเคยเล่าให้ผมฟังว่า ก่อนเครื่องบินมันจะทิ้งระเบิดมีการโปรยใบปลิวก่อน รวมถึงก่อนทิ้งระเบิดเล็กน้อยก็มีการยิงปืนจากเครื่องบินมาบริเวณประตูน้ำก่อนทิ้งระเบิดด้วย  ปอกกระสุนบางส่วนที่ตกหล่นตามพื้นหลังเหตุการณ์สงบชาวบ้านยังเก็บเอามาทำเป็นปอกด้ามมีดใช้กันเลย

           อีกหนึ่งเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับประตูน้ำอ่างทองก็คือ

           หนังสือผ่านประตูน้ำกระทุ่มแบน ผมค้นเจอภาพจากการลงประมูลในเว็บไซต์เอื้อเสรี ทั้ง 2 ใบนี้เป็นเอกสารการนำเรือของกองทัพญี่ปุ่น ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านประตูน้ำกระทุ่มแบนเพื่อเดินทางออกสู่แม่น้ำท่าจีนไปยัง นครชัยศรี

หนังสือผ่านประตูน้ำกระทุ่มแบน 2488
หนังสือผ่านประตูน้ำกระทุ่มแบน 2488

           เอกสารใบแรก (สีเหลืองเข้มด้านบน) เป็นเอกสารที่ออกโดยทางกองทัพญี่ปุ่น มีทั้งภาษาไทยและญี่ปุ่น ระบุชื่อประตูน้ำกระทุ่มแบน
บรรทัดที่สอง ระบุชื่อเจ้าหน้าที่ประตูน้ำ แต่ผมอ่านไม่ออก น่าจะเป็น จ......หงษ์
บรรทัดถัดมาระบุวันที่ 3 ส.ค. 88
บรรทัดถัดมาเห็นไม่ชัด น่าจะเป็นชนิดเรือ หมายเลขเรือ และจำนวนเรือครับ
ด้านล่างมุมขวา ประทับตาภาษาญี่ปุ่นสีแดง

           เอกสารใบที่สอง (สีครีมอ่อนด้านล่าง) เป็นเอกสารที่ออกโดยทางการไทย ระบุว่าเนื้อความใกล้เคียงกับเอกสารแผ่นแรก แต่ใบนี้ภาพข้อมูลชัดกว่า มีเรือชื่อพงประเสริฐ และเรือลำอื่นๆ พร้อมขนาดเรือ ค่าธรรมเนียมแต่ละลำ และลงชื่อท้ายด้วยชื่อภาษาญี่ปุ่น อ่านคำไทยจากในรูปได้ประมาณหนึ่งว่า .....จุงโยโตเบะ (ทาดายาสุโอ๊ะ) และลงชื่อเจ้าหน้าที่ประตูน้ำท่านเดียวกับใบแรกครับ

           อีกหนึ่งเรื่องราวที่มีการบันทึกไว้เกี่ยวกับประตูน้ำอ่างทอง ก็คือ "หนังสืออัตชีวประวัติ กำพล วัชรพล จอมพลของคนหนังสือพิมพ์ เขียนโดย สัญญลักษณ์ เทียนถนอม" ตอนหนึ่งในเล่มที่กล่าวถึงนี้ ผมคำนวณจากวันเกิดคุณกำพล และเหตุการณ์ในเล่ม เข้าใจว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นช่วงเหตุการณ์ราว พ.ศ. 2479-2480 โดยประมาณ โดยได้ระบุว่า

           "คนบางไก่เตี้ย วัดดอนไก่ดี หรือกระทั่งกระทุ่มแบน ต้องอาศัยสินค้าที่มาจากบางกอก ซึ่งมีทางเดียวที่มาได้ก็คือทางเรือ ซึ่งต้องลงเรือที่ประตูน้ำภาษีเจริญ

ส่วนคนทางนี้ ครั้นจะไปบางกอก ไม่ว่าจะไปซื้อข้าวของเยี่ยมลูกหลานพี่น้อง ก็มีทางเดียวอีกเหมือนกันคือเรือ และต้องมาลงเรือที่ประตูน้ำอ่างทอง อันเป็นต้นทาง โดยมีปลายทางอยู่ที่ประตูน้ำภาษีเจริญ

นี่แหละที่การสัญจรไปมาทางน้ำ ระหว่างประตูน้ำอ่างทองถึงประตูน้ำภาษีเจริญ จึงคึกคักอยู่ทุกวัน และเรือแท็กวี่เผาหัวจึงมีความจำเป็นของคนที่นี่ เดี๋ยวบ้านโน้นทำบุญบ้าน เดี๋ยวบ้านนี้บวชลูก อ้าวบ้านโน้นมีคนตาย ต้องไปซื้อดอกไม้จันทน์ เป็นอย่างนี้สารพัด จิปาถะที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน และเรือแท็กซี่เผาหัว จึงได้วิ่งรับส่งคนจากประตูน้ำอ่างทองไปประตูน้ำภาษีเจริญได้เช่นทุกวันนี้ เฉพาะของขุนวิไลรักษา  ก็มี 7 ลำ ของครูตั้วเข้าไปอีก 5 ลำ ของพวกคนจีนอีก 2-3 ลำ"

ประตูน้ำอ่างทอง ราว พ.ศ. 2504
ประตูน้ำอ่างทอง ราว พ.ศ. 2504 ภาพจากคุณ Nasis Pilunthanasat

ที่ทำการประตูน้ำกระทุ่มแบน 2503
ราว พ.ศ. 2502-2503 นายอำเภอนิยม เอี่ยมใจกล้า (คนหน้าสุด) และบุคลากรที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแลความเรียบร้อยการฉีดวัคชีนป้องกันอหิวาตกโรค บริเวณที่ทำการประตูน้ำกระทุ่มแบน

           สำหรับคนกระทุ่มแบน ประตูน้ำอ่างทองก็เป็นคล้ายๆ อีกหมุดหมายที่รู้จักกันดี บางคนก็ไปนั่งพักผ่อนบริเวณประตูน้ำในยามเย็น ด้วยอยู่ทางทิศตะวันตก บรรยากาศพระอาทิตย์ตกคงจะสวยงาม บางคนก็อาศัยเป็นเส้นทางข้ามคลองภาษีเจริญไปยังฝั่งตรงข้าม โดยข้ามผ่านบานประตูที่มีไม้พาดเล็กๆ ไม่กว้างนักพอให้ข้ามกันได้ บางคนไม่ชำนาญรถจักรยาน มอเตอร์ไซค์พลัดตกลงในคลองก็มีให้ได้ยินกันอยู่

ทางข้ามประตูน้ำบางยาง
ประตูน้ำบางยาง นำมาแสดงให้เห็นถึงลักษณะทางข้ามระหว่าง 2 ฝั่งของบานประตูที่มีไม้พาดเล็กๆ พอเดิน หรือรถจักรยานหรือมอร์เตอร์ไซค์ผ่านได้

           วันเวลาเปลี่ยนไปก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของประตูน้ำ จากเดิมที่เป็นเหล็กกั้นแบบบานสวิง ไม่มีข้อจำกัดเรื่องความสูงของเรือที่แล่นผ่าน มาเป็นแบบยกบานประตูขึ้นลงในแนวตั้งคล้ายกิโยติน อาจเป็นด้วยเหตุผลของประสิทธิภาพในการกั้นน้ำได้ดีกว่าบานแบบสวิง โดยต้องมีข้อจำกัดเรื่องความสูงของเรือที่สัญญจรผ่าน
แต่ด้วยปริมาณการใช้เรือในหลายปีก่อนจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนลดลงและไม่ค่อยมีเรือใหญ่นัก อีกทั้งประตูก็มีความสูงอยู่มากพอสมควรให้เรือผ่านได้ 

ประตูน้ำกระทุ่มแบน ราว 2529
 ประตูน้ำอ่างทอง ราว 2529 เป็นแบบบานยกขึ้นลง ภาพจากหนังสือ 84 ปี ชลประทาน

           ใน พ.ศ. 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ประตูน้ำอ่างทอง หรือประตูน้ำกระทุ่มแบน ก็เป็นอีกหนึ่งประตูที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยระบายผันน้ำจากกรุงเทพฯ ลงสู่แม่น้ำท่าจีนออกสู่อ่าวไทย มีการติตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหฐ่จำนวนหลายเครื่อง ผมเองยังได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์ในคราวนั้นด้วย มีปลาสวายหลุดจากฟาร์มย่านนครปฐมมาหลายตัว จนชาวบ้านไปนั่งตกปลาริมคลองกันเป็นระยะตลอดแนวคลองภาษีเจริญ

ประตูน้ำอ่างทอง 2554 ระบายน้ำท่วม
ประตูน้ำอ่างทอง 2554 เมื่อคราวเร่งระบายน้ำท่วม

           ส่วนปัญหาสำคัญที่มักพบเจอที่บริเวณประตูน้ำอ่างทอง และเชื่อว่าคงเป็นกับประตูน้ำหลายๆ แห่ง นั่นก็คือ ผักตบชวา และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่ลอยมาตามคลองภาษีเจริญ หรือคลองสาขา มาติดตะแกรงที่คัดกรองขยะจำนวนมาก จนเจ้าหน้าที่ต้องทำงานกันหนักขึ้น เพราะหากขยะเหล่านี้หลุดเข้าไปอาจส่งผลเสียหายต่อระบบต่างๆ ของประตูน้ำได้ ขยะชิ้นใหญ่สุดที่ผมเคยเห็นกับตาก็คือ ฟูกที่นอนเลยทีเดียว

           ล่าสุดเมื่อราว 3-4 ปีก่อนมีการปิดปรับปรุงประตูน้ำอ่างทอง แต่ด้วยหลายเหตุปัจจัย รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ทำให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าหากประตูน้ำแห่งนี้เสร็จเรียบร้อย กลับมาใช้งานอีกครั้ง และได้รับการส่งเสริมจากทั้งภาครัฐและประชาชนให้ดี อาจจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนอีกแห่งหนึ่งของคนกระทุ่มแบนและพื้นที่ใกล้เคียงก็เป็นได้ครับ

กระทุ่มแบนโฟโต้
20 พ.ค. 65

ภาพการซ่อมประตูน้ำอ่างทอง เมื่อ พ.ศ. 2563

ภาพการซ่อมประตูน้ำอ่างทอง เมื่อ พ.ศ. 2563
ภาพการซ่อมประตูน้ำอ่างทองมุมสูง เมื่อ พ.ศ. 2563

---
แหล่งข้อมูล

  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, 2396-2453. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี ในปีระกา ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452). พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2474.
  • สุนาวินวิวัฒน์ (เหลียง), หลวง. เรื่องเที่ยวไทรโยค คราวสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เสด็จประพาส เมื่อ พ.ศ. 2464. โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2497.
  • Han ten Brummelhuis, King of the Waters: Homan van der Heide and the Origin of Modern Irrigation in Siam. Chigng Mai : Silkworm Books, 2007
  • สัญญลักษณ์ เทียนถนอม. อัตชีวประวัติ กำพล วัชรพล จอมพลของคนหนังสือพิมพ์, พิมพลักษณ์ กรุงเทพฯ : พันโพยม, 2537.
  • นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ,  สาครบุรี จากวิถีชาวบ้าน : การเปลี่ยนแปลงผ่านวิถีชีวิตท้องถิ่นในลุ่มน้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2561.
  • บัณฑิต จุลาสัย และ รัชดา โชติพานิช. เขตคลองภาษีเจริญ [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2565. จาก. https://www.matichon.co.th/columnists/news_1628205
  • ความทรงจำจากการสัมภาษณ์บุคคลในพื้นที่กระทุ่มแบน


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชื่อ "กระทุ่มแบน" มาจากไหน

"บ้านน้องอยู่ที่ไหนนะ?" "กระทุ่มแบนครับ" "แล้ว กระทุ่มแบน เนี่ย ทำไมมันถึงชื่อนี้?" "อืม..ไม่แน่ใจ...ไม่ทราบเลยครับ" เชื่อได้ว่าคนกระทุ่มแบนหลายคนคงจะคุ้นเคยกับบทสนทนาประมาณข้างต้น ที่ตอบได้เพียงคำถามแรก แต่เมื่อถึงคำถามที่สอง เซลล์สมองอาจต้องวิ่งทำงานเหนื่อยกันเลยทีเดียว สุดท้ายบางคนตอบได้ บางคนเดาไป บางคนถามกลับว่า "อยากจะรู้ไปทำไม" สำหรับผมแล้ว... "กระทุ่มแบน...ทำไมมันถึงชื่อนี้" มันเป็นคำถามที่ค้างคาใจมาหลายปี จนกระทั่งวันที่พอจะมีกำลังและเวลา รวมถึงความพร้อมประกอบอื่นๆ ทำให้ได้ออกค้นหาคำตอบเสียที ภาพแผนที่ตัดเฉพาะส่วนจากกรมแผนที่ทหารบกสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2456 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

วัดนางสาวมีโบสถ์ มหาอุด หรือ มหาอุตม์ เขียนแบบไหน?

โบสถ์มหาอุด วัดนางสาว ถ่ายเมื่อ 1 ม.ค. 2562 คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อถ้าบอกว่าเป็นคนกระทุ่มแบนแต่ไม่รู้จักวัดนางสาว เพราะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในด้านการพัฒนา มีตำนานเรื่องเล่ามากมายหลากหลายเรื่อง รวมถึงโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์และพิเศษกว่าหลายๆ โบสถ์ของวัดในเมืองไทย ส่วนประวัติวัดนางสาว และเรื่องราวประกอบอื่นๆ ผมคงได้รวบรวมข้อมูล ประวัติต่างๆ เพื่อเขียนให้ได้อ่านกันในบทความถัดๆ ไป ในตอนนี้ขอกล่าวถึง โบสถ์หรืออุโบสถที่วัดนางสาว  อายุเก่าแก่กว่า 400 ปี ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีพาไลหรือพะไลยื่นออกมา 1 ห้อง (พาไลหรือพะไล แปลว่า เรือนหรือเพิงโถง ต่อจากเรือนเดิมหรืออยู่ในบริเวณของเรือนเดิม ใช้เป็นที่นั่งเล่นหรือประโยชน์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน)  มีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคาจำนวน 4 ต้น ช่อฟ้าใบระกาเป็นปูนปั้นประดับกระจก ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูเข้าออกด้านหน้าเพียงประตูเดียว ไม่มีหน้าต่าง ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมใหม่โดยปูหินอ่อนภายใน มีลายจิตรกรรมฝาผนัง ด้านผนังนอกมีการปรับเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาที่มี

เปิดตำนาน "ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่มแบน"

หากค้นรูปถ่ายติดบัตรขาวดำเก่าๆ ยุค 2500 ที่บ้านของคนกระทุ่มแบนขึ้นมาดู ผมเชื่อว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรูปถ่ายเหล่านั้น บนมุมซ้ายหรือขวาด้านล่างของรู ปจะต้องมีตราประทับแบบนูนของร้ านถ่ายรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านที่นิยมและได้รั บความไว้วางใจจากชาวกระทุ่ มแบนมาอย่างยาวนาน นั่นคือ "ห้องภาพชูศิลป์ : ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่ มแบน" หลังจากหาเวลานัดหมายกับห้องภาพชูศิลป์ ให้จังหวะลงตัวกับวันที่ ผมพอจะว่างจากทั้ งงานประจำและงานพิเศษในวันหยุ ดเสาร์-อาทิตย์เรียบร้อย ผมจึงได้มีโอกาสฟังเรื่องราวดีๆ จากทายาทผู้ก่อตั้ง "ห้องภาพชูศิลป์" ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2562 คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" ลูกสาวคนโตของเจ้าของห้องภาพชูศิลป์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2492 ได้บอกเล่าให้ผมได้ฟังด้วยรอยยิ้ มอารมณ์ดีถึงประวัติห้องภาพชูศิลป์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในรุ่นของคุ ณพ่อและคุณแม่  คุณพ่อมีลูก 5 คน คือ คุณป้าเป็นคนโต มีน้องชาย 3 คน และน้องสาวคนเล็กอีกคน   คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" จุดเริ่มต้นของอาชีพถ่ายภาพ คุณแม่ป้าเช็งชื่อ &quo