ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ส้มโอนครชัยศรีในอดีต มีดีอยู่ที่อ้อมใหญ่และอ้อมน้อย



            แต่ไหนแต่ไรมา หากกล่าวถึงส้มโอที่โด่งดังมีชื่อเสียงรสชาติดีขึ้นชื่อ ใครๆ ก็มักจะนึกถึง "ส้มโอนครชัยศรี" แน่นอนว่าหลายคนคงคิดว่าพื้นที่ปลูกส้มโอนครชัยศรีดั้งเดิม ก็คงจะต้องอยู่ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เท่านั้น จนวันหนึ่งผมได้พลิกมาเจอข้อมูลที่ทำให้ได้รู้ว่าในอดีต ส้มโอนครชัยศรีไม่ได้ดีไปทั่วทั้งเมืองนครชัยศรี แต่มีดีอยู่ย่านอ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม และย่านอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน ของเรานี่เองครับ

             จากข้อมูลในบทความเรื่อง "ส้มโอสยาม กับเทศกาลไหว้พระจันทร์" ที่เขียนโดยคุณพจน์ สัจจะ ในนิตยสาร "ครัว" ฉบับที่ 39 กันยายน 2540 ได้กล่าวว่า

            ส้มโอเป็นผลไม้ในตระกูลเดียวกับส้มและมะนาว เดิมทีเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดแถวจีนตอนใต้ แต่ปัจจุบันมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ส้มโอในจีนก็รับมากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกันว่าในภูมิภาคนี้ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย น่าจะเป็นแหล่งดั้งเดิมของส้มโอ แต่หากคำนึงถึงสายพันธุ์ส้มโอที่มีอยู่มากที่สุดเป็นหลัก ถิ่นแรกของส้มโอก็เป็นสยามบ้านเรานี่เอง

            หลักฐานทางเอกสาร [ในบทความไม่ได้กล่าวถึงว่าเอกสารใด]  มีการระบุว่า ส้มโอเป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญมาไม่น้อยกว่าร้อยปีมาแล้ว "ส้มโอสยาม มีจำหน่ายในเมืองใหญ่ๆ ตามชายฝั่งของประเทศจีน ตามเมืองในมลายู โดยส้มโอดังกล่าวจำหน่ายกันในนาม ส้มโอสยาม หรือ ส้มโอบางกอก"

            นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงแหล่งปลูกส้มโอในสยามสมัยก่อนว่ามีที่สำคัญ 2 แหล่ง นั่นก็คือ นครชัยศรี และบางปะกอก

            นครชัยศรี เป็นแหล่งกำเนิดของ ส้มโอขาวแป้น มีการปลูกพันธุ์ขาวแป้นเป็นส่วนมาก ขาวพวงเป็นส่วนน้อย พื้นที่บางปะกอกเขตธนบุรีต่างหาก ที่เคยเป็นแดนส้มโอขาวพวงที่โด่งดัง โดยส้มโอทั้ง 2 พันธุ์นี้มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน แต่ปัจจุบัน บางปะกอกหมดสิ้นฐานะการเป็นสวนส้มโอไปแล้ว จนอาจเรียกได้ว่า ขาวพวงได้กลายเป็นพันธุ์โบราณไปแล้ว ส่วนขาวแป้น แม้จะยังมีอยู่แต่คนไทยก็ไม่ค่อยนิยมเหมือนพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ทั้งตลาดภายในและนอกประเทศ ทั้งทองดีและขาวน้ำผึ้งของนครชัยศรี ขาวใหญ่ที่สมุทรสงคราม ขาวแตงกวาที่ชัยนาท และล่าสุด ทับทิมสยามที่นครศรีธรรมราช ซึ่งเน้นไปที่รสหวานน้ำฉ่ำกันมากกว่า

พันธุ์ส้มโอ
ส้มโอพันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวแป้น พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และพันธ์ขาวพวง

            เอกสารเก่าสุดที่ผมอ่านพบเกี่ยวกับย่านปลูกส้มโอนครชัยศรี ก็คือ พระราชนิพนธ์เสด็จประพาสไทรโยค ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ จุลศักราช 1239 หรือ พ.ศ. 2420 โดยทรงพระนิพนธ์ตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องไว้ว่า

"วันที่ ๓ วันอังคาร แรม ๑ ค่ำ เดือน ๒ ตื่นนอนถึงสามโมงเกือบสี่โมง ต้องโกรกหัว เมื่อคืนนี้ขี้มูกไหลนักไม่สบายแสบคอ กว่าจะอาบน้ำเสร็จได้กินข้าวเช้า ๕ โมงเศษ แต่งตัวออกไปนั่งหน้าพลับพลาพอย่ำเที่ยง มีพระยาโชฎึก พระศิริ นำจีนโป๊ ขุนสุพรรณภาษี จีนไส้ กับพระยาอนุรักษ์ นำจีนข้าหลวงเดิมอีก ๔ คนมาหา เอาของกำนันมาให้ พระยานครไชยศรี พระยาสมุทสาครานุรักษ์มาหา ก็มีของมาให้เหมือนกัน ในของเหล่านี้ มีส้มโอเมืองนครไชยศรี ที่ขึ้นชื่อกันอยู่ด้วย ไม่มีส้มโอที่ไหนจะดีกว่าที่นี้ แต่ถึงกระนั้น ไม่ดีไปทั่วทั้งเมืองนครไชยศรี ดีแต่ที่อ้อมใหญ่ อ้อมน้อยสองแห่ง ได้ถามถึงโรงหีบ ว่ามีทำการอยู่ ๔ โรงเท่านั้น ......."

            นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงเรื่องส้มโอนครชัยศรีในปาฐกถาเรื่อง "การเป็นอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร" โดย ขุนสุคนธวิทศึกษากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร บรรยายทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 ตีพิมพ์ในหนังสือ ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่องสภาพของจังหวัดต่างๆ เมื่อ พ.ศ. 2478 โดยตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

".....การทำสวนผลไม้ มีสวนส้ม หมาก ละมุด ทับทิม อ้อย น้อยหน่า เป็นต้น ส่วนมากปลูกในเขตต์อำเภอกระทุ่มแบน ส้มโอในตำบลท่าไม้ บางยาง และอ้อมน้อย จัดว่าเป็นส้มโอที่มีชื่อเสียง เป็นสินค้าจำหน่าย เป็นที่นิยมของประชาชน ที่เรียกว่า ส้มโอนครชัยศรี ส้มตราและส้มเกลี้ยงก็เป็นส้มที่มีรสอร่อยชวนกิน แต่ยังมีการปลูกน้อย ถ้าได้หาทางส่งเสริมการจำหน่ายให้ดีขึ้นแล้ว เชื่อว่าราษฎรจะนิยมปลูกมากขึ้น... "

            เอกสารทางราชการที่การบันทึกไว้อีกแห่ง ผมพบใน "รายงานสรุปข้อราชการจังหวัดสมุทรสาคร พ.ศ. ๒๕๑๗"  ตีพิมพ์ในวารสารสมุทรสาคร ฉบับพิเศษ ประจำปี พ.ศ. 2517 โดยมีส่วนหนึ่งกล่าวถึงอำเภอกระทุ่มแบนไว้

" ๒. อำเภอกระทุ่มแบน สภาพของอำเภอกระทุ่มแบน ริมแม่น้ำราษฎรทำสวนผลไม้ เช่น ส้มโอ หมาก ละมุด สวนผัก องุ่น ตามท้องทุ่งเหมาะแก่การทำนาข้าวเป็นส่วนมาก

ก. การทำนาข้าว มีการทำนาข้าวเป็นส่วนมาก ซึ่งมีเนื้อที่การทำนาข้าว ๔๒,๕๙๒ ไร่

ข. การทำสวนผลไม้ มีการทำสวนผลไม้ คือ ส้มโอ เป็นส่วนมาก เพราะพื้นที่เหมาะแก่การปลูกส้มโอ ส้มโอนครไชยศรีที่มีชื่อของจังหวัดนครปฐม ที่แท้ก็คือส้มโอในตำบลท่าไม้ ตำบลบางยาง และตำบลอ้อมน้อย ส่วนผลไม้อื่นๆ มีส้มเขียวหวาน พุดทรา ละมุด องุ่น ซึ่งรวมแล้ว ในอำเภอนี้มีการทำสวนผลไม้ ๔,๘๙๕ ไร่"

            สำหรับข้อมูลเรื่องส้มโอในส่วนของชาวบ้าน ผมได้รับทราบจากคุณเสาวนีย์ วนสุนทรเมธี ทายาทของคุณศิริ เติมประยูร  (21 ก.พ. 2463 - 25 พ.ค. 2565) ชาวกระทุ่มแบนโดยกำเนิด ได้จดเรื่องราวตนเองและเรื่องเกี่ยวกับกระทุ่มแบนหลายเรื่องลงในบันทึกส่วนตัวไว้ โดยตอนหนึ่งได้บันทึกว่า

"...ส้มโอนครชัยศรีเป็นส้มโอที่ดังที่สุดในสมุทรสาคร ความจริงไม่ได้ปลูกที่นครชัยศรี แต่อยู่ที่สวน ผู้ใหญ่สุ้ย เจริญชาศรี หน้าวัดนางสาวนี่เอง ท่านเป็นเจ้าของสวนส้มที่ใหญ่ที่สุดในตำบลท่าไม้ ท่านเป็นปู่ของ พลตำรวจตรีอนันต์ เจริญชาศรี อดีต ผบก.ภูธร จ.สมุทรสาคร และเป็นปู่ของ ท่านอาจารย์ชัย  [พระอาจารย์ธงชัย ชวนปัญโญ สมณศักดิ์พระครูธรรมรัต เจ้าอาวาสวัดนางสาวในปัจจุบัน พ.ศ. 2565] เป็นพ่อท่าน กำนันสมุย เจริญชาศรี เพราะบ้านของท่านอยู่ตรงรอยต่อของแม่น้ำที่มาผสมกับน้ำที่มาจากจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นน้ำจืดส่วนที่มาจากแม่น้ำท่าจีน เป็นน้ำเค็ม พอมาผสมกันจึงกลายเป็นน้ำกร่อย ทำให้สวนส้มตรงนั้นมีรสอร่อย จึงมีชื่อไปทั่วประเทศ แต่คนไม่รู้จักกระทุ่มแบน รู้จักแต่นครชัยศรี..."

แผนที่คร้อปส่วนมณฑลนครไชยศรีสมัย ร.6

            ส่วนเหตุผลว่าแต่เดิมทำไมถึงเรียกว่า "ส้มโอนครชัยศรี" พันธุ์ขาวแป้นที่มีรสเปรี้ยวอมหวานตามแบบส้มโอโบราณ ทั้งที่ย่านปลูกขึ้นชื่อหลายพื้นที่อยู่ในกระทุ่มแบนนั้น ผมอนุมานว่า ในสมัยอดีตที่ส้มโอมีชื่อเสียงตอนนั้นสมุทรสาครก็เป็นส่วนหนึ่งในการปกครองของมณฑลนครชัยศรี ผู้คนเลยน่าจะเรียกกันตามชื่อของมณฑลซึ่งน่าจะเป็นที่รู้จักกันดีมากกว่าชื่อตำบล หรืออำเภอเล็กๆ อย่างอ้อมน้อย หรือกระทุ่มแบน ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับข้อสันนิษฐานของ คุณทิม ไทยทวี เจ้าของสวนส้มโอไทยทวี ที่สะสมประสบการณ์ในการปลูกส้มโอมาเกือบ 50 ปี (ณ ปี 2561) ที่ระบุว่า 

"น่าจะเกิดจากตอนที่ส้มโอเริ่มขยายมาปลูกในเขตนครชัยศรี ตอนนั้นยังเป็นมณฑลนครชัยศรี ส้มโอ จึงถูกเรียกตามชื่อมณฑล จึงกลายเป็นส้มโอมณฑลนครชัยศรีแต่นั้นมา เรียกกันจนเหลือแค่ ส้มโอนครชัยศรี ซึ่งในภายหลังได้มีการก่อตั้งเป็นจังหวัดนครปฐม มณฑลนครชัยศรีจึงกลายเป็นอำเภอไป"

            คุณธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ จากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม ได้กล่าวในบทความ "ส้มโอสยามกับเทศกาลไหว้พระจัทร์" ในนิตยสารครัว (2539) ไว้ว่า 

"ทุกวันนี้จะหาส้มโอนครชัยศรีแท้กินก็ไม่ง่ายนัก ใครที่ซื้อส้มโอที่แผงข้างถนนเพชรเกษมแถวหน้าทางแยกไปอำเภอนครชัยศรี หรือบนถนนปิ่นเกล้าพุทธมณฑล ช่วงศาลายา หรือหน้าพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง โดยคิดว่าได้ซื้อส้มโอนครชัยศรี ก็ถูกหลอกแล้ว เพราะส้มโอเหล่านี้มาจากกาญจนบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม กันทั้งนั้น ส้มโอนครชัยศรีแท้ ไม่หลงเหลือพอที่จะมาขายตามแผงบนถนนใหญ่ เพราะส่งออกเกือบหมด"

ส่วนใครที่อยากลิ้มชิมรสส้มโอนครชัยศรีแท้ๆ คุณธีระศักดิ์แนะนำให้เข้าไปซื้อในตัวอำเภอนครชัยศรี ที่แนะนำพิเศษคือ ร้านสีฟ้า ตั้งอยู่ริมท่าน้ำ ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอ ร้านนี้เขามีสวนส้มโอของตัวเอง และยังรวบรวมมาจากสวนอื่นๆ นอกจากนั้น บนทางหลวงจังหวัดเชื่อมตัวอำเภอกับศาลายา ก็มีแผงส้มโอนครชัยศรีอยู่ประปรายเหมือนกัน ที่ตลาดตำบลห้วยพลู ซึ่งอยู่เลยตัวอำเภอไปก็หาซื้อได้"

            แต่จากข้อมูลข้างต้นที่คุณธีระศักดิ์ได้กล่าวไว้เมื่อปี 2539 ผมไม่แน่ใจว่าปัจจุบัน พ.ศ. 2565 ตำแหน่งร้านค้าและการขายส้มโอจะยังเหมือนเดิมหรือไม่ ต้องลองตรวจสอบกันอีกครั้งนะครับ

            สำหรับ ส้มโอนครชัยศรีดั้งเดิมแบบโบราณนั้น จะเป็นพันธุ์ขาวแป้นที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่หวานโดด มีแหล่งปลูกขึ้นชื่ออยู่ย่านอ้อมใหญ่และอ้อมน้อย (ตามข้อมูลพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสไทรโยค รัชกาลที่ 5) 

            หากจะมองตามนิยามของส้มโอนครชัยศรี ในยุคปัจจุบัน ก็จะเป็นคนละพันธุ์กับแบบดั้งเดิม ซึ่งทางหอการค้าจังหวัดนครปฐม ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปเมื่อ พ.ศ. 2547 โดยให้คำนิยาม "ส้มโอนครชัยศรี" (Nakonchaisri pomelo) ว่าหมายถึง  ส้มโอพันธุ์ทองดี และพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ซึ่งปลูกในอำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพรานและอำเภอพุทธมณฑลของจังหวัดนครปฐม

ประกาศสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ส้มโอนครชัยศรี

ส้มโอนครชัยศรีในทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

            อย่างไรก็ดี สำหรับคนกระทุ่มแบนเอง ก็น่าไปติดตามดูว่าในพื้นที่ท่าไม้ บางยาง และอ้อมน้อย ยังคงมีส้มโอนครชัยศรีแบบดั้งเดิม พันธุ์ขาวแป้นที่ขึ้นชื่อในอดีตจนได้ปรากฏในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 นั้น ยังมีการปลูกหลงเหลืออยู่หรือไม่ หรือชาวบ้านหันไปปลูกพันธุ์อื่นที่ได้ราคาดีกว่า นิยมกว่าในปัจจุบันไปหมดแล้ว หรืออาจจะได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางน้ำที่เสียมากกว่าอดีตจนไม่ได้ผลผลิตที่รสชาติดีเช่นเดิมแล้ว

            หากท่านใดมีข้อมูลเรื่องการปลูกส้มโอในพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบนก็สามารถแจ้งมาเพื่อเป็นความรู้ต่อไปได้นะครับ

---
รวบรวม-คัดลอก-เรียบเรียง 
แอดมินกระทุ่มแบนโฟโต้
7 ก.ค. 65

------------

แหล่งอ้างอิง






โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชื่อ "กระทุ่มแบน" มาจากไหน

"บ้านน้องอยู่ที่ไหนนะ?" "กระทุ่มแบนครับ" "แล้ว กระทุ่มแบน เนี่ย ทำไมมันถึงชื่อนี้?" "อืม..ไม่แน่ใจ...ไม่ทราบเลยครับ" เชื่อได้ว่าคนกระทุ่มแบนหลายคนคงจะคุ้นเคยกับบทสนทนาประมาณข้างต้น ที่ตอบได้เพียงคำถามแรก แต่เมื่อถึงคำถามที่สอง เซลล์สมองอาจต้องวิ่งทำงานเหนื่อยกันเลยทีเดียว สุดท้ายบางคนตอบได้ บางคนเดาไป บางคนถามกลับว่า "อยากจะรู้ไปทำไม" สำหรับผมแล้ว... "กระทุ่มแบน...ทำไมมันถึงชื่อนี้" มันเป็นคำถามที่ค้างคาใจมาหลายปี จนกระทั่งวันที่พอจะมีกำลังและเวลา รวมถึงความพร้อมประกอบอื่นๆ ทำให้ได้ออกค้นหาคำตอบเสียที ภาพแผนที่ตัดเฉพาะส่วนจากกรมแผนที่ทหารบกสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2456 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

วัดนางสาวมีโบสถ์ มหาอุด หรือ มหาอุตม์ เขียนแบบไหน?

โบสถ์มหาอุด วัดนางสาว ถ่ายเมื่อ 1 ม.ค. 2562 คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อถ้าบอกว่าเป็นคนกระทุ่มแบนแต่ไม่รู้จักวัดนางสาว เพราะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในด้านการพัฒนา มีตำนานเรื่องเล่ามากมายหลากหลายเรื่อง รวมถึงโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์และพิเศษกว่าหลายๆ โบสถ์ของวัดในเมืองไทย ส่วนประวัติวัดนางสาว และเรื่องราวประกอบอื่นๆ ผมคงได้รวบรวมข้อมูล ประวัติต่างๆ เพื่อเขียนให้ได้อ่านกันในบทความถัดๆ ไป ในตอนนี้ขอกล่าวถึง โบสถ์หรืออุโบสถที่วัดนางสาว  อายุเก่าแก่กว่า 400 ปี ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีพาไลหรือพะไลยื่นออกมา 1 ห้อง (พาไลหรือพะไล แปลว่า เรือนหรือเพิงโถง ต่อจากเรือนเดิมหรืออยู่ในบริเวณของเรือนเดิม ใช้เป็นที่นั่งเล่นหรือประโยชน์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน)  มีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคาจำนวน 4 ต้น ช่อฟ้าใบระกาเป็นปูนปั้นประดับกระจก ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูเข้าออกด้านหน้าเพียงประตูเดียว ไม่มีหน้าต่าง ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมใหม่โดยปูหินอ่อนภายใน มีลายจิตรกรรมฝาผนัง ด้านผนังนอกมีการปรับเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาที่มี

เปิดตำนาน "ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่มแบน"

หากค้นรูปถ่ายติดบัตรขาวดำเก่าๆ ยุค 2500 ที่บ้านของคนกระทุ่มแบนขึ้นมาดู ผมเชื่อว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรูปถ่ายเหล่านั้น บนมุมซ้ายหรือขวาด้านล่างของรู ปจะต้องมีตราประทับแบบนูนของร้ านถ่ายรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านที่นิยมและได้รั บความไว้วางใจจากชาวกระทุ่ มแบนมาอย่างยาวนาน นั่นคือ "ห้องภาพชูศิลป์ : ร้านถ่ายรูปแห่งแรกของกระทุ่ มแบน" หลังจากหาเวลานัดหมายกับห้องภาพชูศิลป์ ให้จังหวะลงตัวกับวันที่ ผมพอจะว่างจากทั้ งงานประจำและงานพิเศษในวันหยุ ดเสาร์-อาทิตย์เรียบร้อย ผมจึงได้มีโอกาสฟังเรื่องราวดีๆ จากทายาทผู้ก่อตั้ง "ห้องภาพชูศิลป์" ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2562 คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" ลูกสาวคนโตของเจ้าของห้องภาพชูศิลป์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2492 ได้บอกเล่าให้ผมได้ฟังด้วยรอยยิ้ มอารมณ์ดีถึงประวัติห้องภาพชูศิลป์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในรุ่นของคุ ณพ่อและคุณแม่  คุณพ่อมีลูก 5 คน คือ คุณป้าเป็นคนโต มีน้องชาย 3 คน และน้องสาวคนเล็กอีกคน   คุณพวงเพ็ญ โภคฐิติยุกต์ หรือ "ป้าเช็ง" จุดเริ่มต้นของอาชีพถ่ายภาพ คุณแม่ป้าเช็งชื่อ &quo