ครูสำราญ ควรประดิษฐ์ เกิดที่ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2457 เป็นบุตรคนที่ 4 ของคุณปู่ควรและคุณย่าเทียบ ควรประดิษฐ์ ซึ่งมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 6 คน คือ
1. นายชาย โมเลี้ยง2. นายเชย ควรประดิษฐ์
3. นางเชื้อ แจ่มถนอม
4. นายสำราญ ควรประดิษฐ์
5. นายเบี้ยว โมเลี้ยง
6. นายบุญส่ง ควรประดิษฐ์
เมื่อครูสำราญ ยังเยาว์ ท่านเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง และเฉลียวฉลาด คุณปู่จึงได้ส่งคุณพ่อไปศึกษา
ครั้งแรก พ.ศ. 2466 - โรงเรียนประชาบาล ต.สามพราน สอบไล่ได้ ป.2
พ.ศ. 2468 - โรงเรียนประถมวัดทองนพคุณ สอบไล่ได้ ป.3
พ.ศ. 2469 - โรงเรียนมัธยมสุขุมาลัย สอบไล่ได้ ม.3
พ.ศ. 2472 - โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สอบไล่ได้มัธยมปีที่ 7
ชีวิตราชการ
คุณสำราญรับราชการครั้งแรกเป็นครูใหญ่ ที่โรงเรียนวัดโคกพระเจดีย์ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ในอัตราเงินเดือนเพียงเดือนละ 20 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2478 ท่านได้เรียนด้วยตัวเอง สมัครสอบสนามสอบ จ.นครปฐม ก็สอบได้ประโยคครูพิเศษ มูล พ. ท่านรับราชการที่โรงเรียนได้เพียง 6 ปี เท่านั้น ท่านจึงได้ลาออกจากตำแหน่งครูใหญ่ที่นั่น มาเข้ารับราชการต่อที่จังหวัดสมุทรสาคร
ปี พ.ศ. 2484 ท่านก็ได้เข้ารับราชการอีกในตำแหน่งครูใหญ่ที่โรงเรียนประชาบาลอ้อมน้อย 3 คือ โรงเรียนบ้านคลองแคเดี๋ยวนี้ ในอัตราเงินเดือนเพียงเดือนละ 20 บาท จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2506 ท่านก็ได้ตำแหน่งครูใหญ่ตรีตลอดมา
ได้รับพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2511 ได้รับพระราชทานเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ได้รับพระราชทานเบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.)
ชีวิตครอบครัว
คุณสำราญ ควรประดิษฐ์ ได้สมรสกับ นางสาวเตียง ชาติเชยแดง ที่บ้าน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่อปี พ.ศ. 2481 มีบุตรธิดา คือ
1. นางสาวศิริ ควรประดิษฐ์2. นางรัตนา อุปพัทธวาณิชย์
3. นายหิรัญ ควรประดิษฐ์
4. นางสาวจินดา ควรประดิษฐ์
5. นางสาวสุรีย์ ควรประดิษฐ์
6. นายจาตุรนต์ ควรประดิษฐ์
7. เด็กหญิงกนกพร ควรประดิษฐ์
เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ครอบครัวเปรียบเสมือนธงชัย ท่านอยู่กับลูก ๆ หลาน ๆ อย่างมีความสุข ได้ให้ความอุปถัมภ์ค้ำจุนแก่ลูกหลานตามความสามารถ ได้พยายามอบรม ลูก ๆ ให้ประพฤติในสิ่งที่ดีงาม และประกอบแต่สิ่งที่สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
เมื่ออายุ 56 ปี คุณพ่อป่วยด้วยโรคเบาหวาน ลูกหลานได้ช่วยกันให้การรักษาพยาบาลด้วยดีตลอดมา แต่อาการนั้นก็มีแต่ทรง จะไปไหนมาไหนก็ไม่ค่อยจะแข็งแรงเหมือนแต่ก่อน ลูก ๆ หลาน ๆ ก็ได้แต่เฝ้าวิงวอน ขอให้บุญกุศลที่คุณพ่อได้กระทำไว้ จงส่งผลสะท้อนกลับมาให้คุณพ่อหายจากโรคร้ายนี้
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2517 ท่านก็คงนอนอยู่อย่างนั้น ซึ่งห้อมล้อมไปด้วยลูกหลานที่คอยเฝ้าอาการด้วยความเป็นห่วง ลูกหลานทุกคนก็คิดกันว่า ถ้าคนใด คนหนึ่งไปนอนแทนคุณพ่อในลักษณะอาการที่คุณพ่อกำลังเป็นอยู่เช่นนั้น เราก็พร้อมที่จะอุทิศร่างกายเพื่อคุณพ่ออันเป็นที่รักเคารพยิ่งของลูกหลานทุกคน จนกระทั่งถึงเวลาที่ทุกคน ไม่อยากให้มาถึง เมื่อเวลา 14.23 น. ท่านก็ได้จากพวกเราลูกหลานไปอย่างช่วยไม่ได้เลย จึงนำเอาแต่ความโศกเศร้ามาให้แก่พวกลูกหลานทุกคน
นอกจากนี้ภายในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของครูสำราญ ควรประดิษฐ์ ยังมีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับประวัติท่านที่ถูกกล่าวถึงในคำไว้อาลัยจากท่านต่างๆ ซึ่งผมขอตัด คัดลอกมาบางส่วน ดังนี้
"ครูสำราญ ควรประดิษฐ์ เป็นเพื่อนสนิทของข้าพเจ้าผู้หนึ่งเป็นผู้ที่รู้จักรักใคร่ชอบพอกันมาแต่ครั้งยังเป็นลูกศิษย์พระวัดทองนพคุณ ปากคลองสาน กรุงเทพมหานคร ประมาณปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เคยคลุกคลีในด้านการเรียน การกีฬา การปฏิบัติภารกิจประจำวัน ตลอดจนการปฏิบัติธุรกิจด้านอื่นๆ ร่วมกันตลอดมาจนจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย ครูสำราญเป็นคนที่มีอารมณ์ร่าเริง สนุกสนาน ไม่มองคนในแง่ร้าย มีใจโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนทุกคน ไม่ถือตัว เป็นที่รักใคร่ชอบพอของผู้ที่ได้รู้จักทั่วไป แม้ว่าจะรู้จักกันในครั้งแรกก็ตาม เป็นกันเองกับทุก ๆ คนตลอดเวลา เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 แล้ว เราก็ต่างแยกย้ายกันไปรับการศึกษาต่อ เพื่อหาเลี้ยงชีพต่อไปในวิชาที่ชอบ แต่การติดต่อและความเป็นเพื่อนยังคงมีต่อกันตลอดมา"
- พลตรี ศิริ ถิรพัธน์ -
"คุณครูสำราญ ควรประดิษฐ์ เริ่มเข้ารับราชการเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนประชาบาล ตำบลอ้อมน้อย 3 (บ้านคลองแค) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2484 ขณะที่มีอายุ 27 ปีเศษ รับอัตราเงินเดือนในสมัยนั้นเพียง 20 บาท และได้รับราชการในตำแหน่งนี้ตลอดมาโดยมิได้ย้ายไปที่อื่นเลย จวบจนถึงมรณกรรมก่อนที่จะเกษียณอายุเพียงไม่กี่เดือน รวมอายุ ราชการถึง 33 ปีเศษ ในขณะที่กำลังดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านคลองแค ซึ่งกำลังจะก้าวหน้าต่อไปอีก ทั้งนี้ก็เพราะคุณครูสำราญ ควรประดิษฐ์ ได้เป็นผู้วางรากฐานไว้แต่แรก และได้ริเริ่มขอเปิดชั้นประถมศึกษาตอนปลายขึ้น ซึ่งทางจังหวัดก็อนุญาตให้โรงเรียนเปิดสอนชั้นประถมปีที่ 5 ขึ้นในปีการศึกษา 2517 นี้เอง คล้ายกับว่างานนี้เป็นงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตราชการ ตลอดอายุราชการเท่าที่ได้ทราบในตอนแรก และได้ร่วมงานกันในตอนหลังเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดแจ้งว่า คุณครูสำราญ ควรประดิษฐ์ เป็นผู้ที่มีความตั้งใจ ในการทำงาน มุ่งมั่นขวนขวายที่จะประกอบภารกิจในหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี เพื่อวางรากฐานการศึกษาของท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่น ไม่หวั่นไหวย่อท้อต่อความยาก ลำบาก ในด้านอัธยาศัยส่วนตัวก็เป็นผู้ที่ญาติมิตรรักใคร่ ทั้งนี้เพราะเป็นผู้ที่ไม่เอารัดเอาเปรียบ พูดแต่ในสิ่งที่ควรพูด ไม่ให้เป็นที่ระคายหูแก่ผู้ใด สำหรับบุคคลทั่วไปตลอดจน ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ปรากฏว่าเป็นที่รักใคร่นับถือทั่วกัน"
- ยอด ยุระยง -
"...คุณครูสำราญเป็นบุคคลที่เพื่อนครูใหญ่รุ่นน้อง ๆ ตลอดจนครูหลายท่านพากันเรียกว่า "ครูใจพระ" เพราะเป็นคนเยือกเย็น สุขุม ยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคน ไม่เคยแสดงความโกรธเคือง หรือมีอารมณ์ร้อนรุนแรงออกมาเลย ถึงแม้จะมีใครแสดงตนให้เป็นที่ไม่พอใจอย่างไร ก็มักเก็บความรู้สึกอันนี้ไว้เงียบ ๆ ด้วยคุณสมบัติพิเศษเปรียบเสมือนคาถามหาเสน่ห์นี้เอง จึงทำให้เพื่อนครูใหญ่ทุกคน ครู อาจารย์และประชาชนที่รู้จักคุ้นเคย มีความเคารพรักนับถือท่าน
คุณครูสำราญ เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนบ้านคลองแค โดยเริ่มจากอาคารเรียนชั่วคราวหลังคามุงจาก ฝาไม้รวกขัดแตะไม่มีฝา ใช้แผ่นกระดานพาดตอกติดกับหัวเสา ซึ่งตอกเป็นตอแทนขาโต๊ะ เบ็นม้านั่งและโต๊ะรองเขียน ตั้งอยู่ท่ามกลางละเมาะไม้อันร่มเย็นริมคลองแค ในสมัยนั้น ถนน รถ โรงงานอุตสาหกรรมยังไม่มี บ้านเรือนก็ยังมีน้อยหลัง ตั้งอยู่ห่างไกลกัน ไม่หนาแน่นใกล้ชิดเหมือนบัจจุบัน
เสียงเด็กเล็ก ๆ บุตรหลานชาวละแวกบ้านคลองแคนั่งอยู่ในห้องเรียนที่โล่งไม่มีฝากั้น ส่งเสียงอ่านท่องหนังลือระเบ็งเซ็งแซ่ลอยลมมาเข้าหูพ่อแม่ของเด็ก ๆ ที่อยู่ที่บ้านหรือที่กำลังปฏิบัติการงานอาชีพอยู่ไม่ว่างเว้น ทุกคนต่างยิ้มสบายใจหมดห่วง เพราะได้มอบหมายให้ครูสำราญ เป็นเสมือนบิดาคนที่สองคอยขัดเกลาอุปนิสัย สร้างเสริมสติบัญญาให้เฉลียวฉลาด มีความประพฤติดี จะได้เป็นลูกแก้ว อันเป็นดวงใจของพ่อแม่สืบไป
คุณครูสำราญ มีความรักลูกศิษย์ทุกคนอย่างลูกหลาน ไม่เคยรังเกียจว่า ลูกคนดี คนชั่ว จะมีหรือจนไม่สำคัญ มีความห่วงใยรักใคร่เอ็นดู ปลูกผังวิชาความรู้ ความประพฤติทั่วหน้าด้วยความบริสุทธิ์ใจ ยังผลให้เด็กท้องนาที่เต็มไปด้วยกลิ่นโคลนสาบควายในสมัยนั้นได้กลายเป็นบัณฑิตไปก็มี หรืออย่างน้อยก็เป็นความรู้ขั้นมูลฐาน ในการดำรงชีพได้เป็นอย่างดี
คุณครูสำราญ มิได้หยุดยั้งที่จะปรับปรุงสภาพของโรงเรียนนี้ได้ อุตสาหะพากเพียร เปลี่ยนแปลงโรงเรียนนี้ ให้วิวัฒนาการมาโดยตลอด จนกระทั่งกลายมาเป็นอาคารเรียนไม้ถาวร มีเครื่องอุปกรณ์การศึกษาเกือบทุกอย่างทัดเทียมกับโรงเรียนอื่น ๆ ในปัจจุบัน ในปีการศึกษา 2516 ได้ริเริ่มขอขยายการศึกษาถึงประถมศึกษาตอนปลาย นับว่าครูสำราญได้เป็นผู้วางรากฐานการศึกษาของโรงเรียนบ้านคลองแค เอาไว้ดีอย่างน่าสรรเสริญ..."
- ครูใหญ่รุ่นน้อง -
"ก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าจะได้มีโอกาสมาดำรงตำแหน่งแทนท่านนั้น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบปะและสนทนากับท่านเพียงครั้งเดียวเท่านั้น รู้สึกว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถืออย่างยิ่ง แม้ท่านจะเป็นคนพูดน้อยในสายตาของใครต่อใครก็ตาม แต่อุดมคติและหลักการของท่านนั้นสูงส่งเหลือเกิน
และก่อนหน้าที่ท่านจะจากเราไป ผลงานของท่านยังความสำเร็จมาให้กุลบุตร กุลธิดารุ่นหลัง ๆ ถือเป็นแบบฉบับอย่างดีเยี่ยม ท่านเปรียบเสมือนปูชนียบุคคลที่ควรเคารพ มีใครบ้างที่จะคัดค้าน มีใครบ้างที่กล้าปฏิเสธ ผลงานอันดีเด่นของท่าน ท่านผลิตผลงาน ออกมามากทั้งทางกำลังทรัพย์ กำลังกาย และกำลังสติปัญญา ทุกสิ่งทุกอย่างยังจารึกอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้าและทุก ๆ คน ตลอดมา..."
- เชาว์ กล้วยแดง : ครูใหญ่โรงเรียนบ้านคลองแค -
"เมื่อทราบข่าวการสูญเสียชีวิตของ คุณครูสำราญ ควรประดิษฐ์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านคลองแค ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านผู้นี้เป็นญาติของข้าพเจ้า และเป็นเพื่อนครูที่เคยร่วมงานกันมานาน เป็นใยสัมพันธ์กันอย่างไม่รู้ลืม ในสมัยที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งครูใหญ่อยู่ที่โรงเรียนวัดอ้อมน้อย (มิตรครูราษฎร์รังสรรค์) ท่านปฏิบัติงานในหน้าที่ครูใหญ่ ผู้บังคับบัญชาครูและนักเรียน ท่านเพียบพร้อมไปด้วย พรหมวิหารธรรม คือมี เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็นที่เคารพของผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาทั่วไป เวลานอกราชการก็กระทำตนเป็นมิตรที่ดีต่อเพื่อนฝูง ไม่ถือตัวว่าเป็นครูใหญ่ กระทำตนกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเพื่อนฝูงเป็นอย่างดี รู้สึกว่า คุณครูสำราญ ควรประดิษฐ์ เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยเยือกเย็น และละมุนละม่อม เหมาะสมที่เป็นครูบาอาจารย์และเป็นที่เคารพรักของลูกศิษย์ทุกรุ่น ท่านเป็นผู้มีใจหนักแน่นอดทน รักเพื่อนฝูง สงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่เคยนำความเดือดร้อนมาให้หมู่คณะเลย มีแต่ให้ความช่วยเหลือบรรดามิตรสหายทั้งการงานและส่วนตัวเป็นอย่างดี ใจคอกว้างขวาง มีเพื่อนฝูงมาก มีลูกศิษย์มาก มีแต่ยกย่องสรรเสริญทั่วไป การคบเพื่อนก็ไม่เคยเอาเปรียบเพื่อน
คุณครูสำราญ ควรประดิษฐ์ เป็นครูที่ดีของศิษย์ เป็นมิตรที่ดีของเพื่อน เป็นพ่อ เรือนที่ดีของภรรยา เป็นบิดาที่ดีของบุตร เป็นข้าราชการที่ดีของชาติ"
- นายเติม ศิลปสมบูรณ์ -
"ผมรู้จักกับอาจารย์สำราญ ควรประดิษฐ์ ตอนที่ผมมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอกระทุ่มแบน เมื่อปลายปี 2515 ขณะนั้นอาจารย์สำราญ ควรประดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ร.ร. บ้านคลองแค ได้ร่วมรับราชการมาจนถึงวันที่ท่านต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ตลอดระยะเวลาที่ได้มีโอกาสร่วมรับราชการกันมา ผมมีความรู้สึกว่าอาจารย์สำราญ ควรประดิษฐ์ เป็นบุคคลที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ มีความตั้งใจและรับผิดชอบในงานสูง มีความเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือตามฐานะ ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทางส่วนตัวและครอบครัวอาจารย์สำราญ ควรประดิษฐ์ ก็เป็นแบบอย่างที่ดี มองเห็นกาลไกล ส่งเสียบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียน จนมีฐานะและอาชีพที่มั่นคงทุกคน สรุปแล้วผมเห็นว่าอาจารย์สำราญ ควรประดิษฐ์ ควรได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตัวอย่างในทางที่ดีท่านหนึ่ง"
- ร.ต. เมธา รัตนจันทร์ : นายอำเภอกระทุ่มแบน -
ตัด/คัดลอก จากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสำราญ ควรประดิษฐ์ บม.บช. ณ ฌาปนสถานวัดอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2518